สมาคมสินแร่และวัสดุก่อสร้างร่วมกับ ม.เกษตรฯ จัดสัมมนาเกี่ยวกับหัวข้อ ที่ดินของรัฐบริหารจัดการใหม่พลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย โดยในวงเสวนามีการฉายภาพรวมปัญหาที่ดินในประเทศไทย พร้อมเสนอแนะหนทางใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในมิติเศรษฐกิจ
เมื่อวันที่ 21 พ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ห้องสุธรรม อารีกุล อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กรุงเทพฯ สมาคมสินแร่และวัสดุก่อสร้าง นำโดย ดร.วิจักษ์ พงษ์เภตรา นายกสมาคมฯ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดการสัมมนาเรื่อง "ที่ดินของรัฐ : บริหารจัดการใหม่พลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย" มีนายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "ที่ดินของรัฐกับข้อจำกัดและโอกาสการพัฒนาในมุมของกฎหมาย" ใจความตอนหนึ่งว่า ประเทศไทยมีที่ดินรวม 320 ล้านไร่ แต่ถ้ารวมทุกโฉนดพบว่า มีที่ดินเกิน 320 ล้านไร่ เพราะมีปัญหาการทับซ้อนข้อมูลของแต่ละหน่วยงานไม่ตรงกัน งานยากของรัฐบาล คือ การลดความเหลื่อมล้ำการใช้ที่ดิน เช่น นำดินจากกองทัพ ซึ่งไม่ได้ใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจโอนให้กรมธนารักษ์ แล้วกรมธนารักษ์ให้คนยากจนเช่าทำกินราคาถูก
นายสมคิด กล่าวต่อว่า การพัฒนาที่ดินของรัฐต้องคำนึงถึงการอนุรักษ์ ต้องรักษา ป่าไม้ ต้องอนุรักษ์ต้องดูแลรักษาไว้ การพัฒนาไม่ใช่โค่นป่าต้องมีการจัดการที่ดี การเพิ่มประสิทธิภาพของที่ดิน เกษตรกรขาดทักษะ ใช้ที่ดินไม่คุ้มค่า ชาวนาใช้ปุ๋ยหนัก แต่ผลผลิตไม่เพิ่ม ที่ดินของรัฐหลายเรื่องทำยาก ช้าเกือบทุกเรื่อง ต้องปรับปรุงกฎหมายไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน ประเทศไทยเจ้าระเบียบ เขียนระเบียบเขียนกติกามากจนทำอะไรไม่ได้ เหมือนทำรั้ว เพราะกลัวขโมยจนออกจากบ้านตัวเองไม่ได้ กลัวทุกเรื่องทุกอย่างจนกลายเป็นปัญหา โลกเปลี่ยนไปเร็ว แต่ประเทศไทยเปลี่ยนกฎหมายช้า รัฐบาลชุดก่อนต้องการทวงคืนผืนป่า เป็นเรื่องถูกต้อง แต่ไม่ถูกทุกเรื่อง ใช้กฎหมายคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไปรื้อถอน วันนี้ คดีแห้งไปแล้วกว่า 3 หมื่นคดี ได้ที่ดินคืนแล้วไม่รู้จะทำยังไงต่อ กฎหมายเกี่ยวกับที่ดินมีเยอะมาก หากจะแก้ต้องไปในทิศทางเดียวกัน ที่สำนักงานการปฏิรูปที่กดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ซึ่งกฎหมายให้ทำการเกษตรอย่างเดียว แต่โลกวันนี้ เกษตรอย่างเดียวไม่เพียงพอ รัฐได้ผลตอบแทนเป็นภาษีก็น้อย สามารถปรับโครงสร้าง ส.ป.ก.ได้ ไม่ได้แปลว่า จะยกที่ ส.ป.ก. ให้เป็นของเอกชน แต่แปลว่า ถ้าไม่เหมาะกับการเกษตรอาจจะเป็นอุตสาหกรรม หรือ เพื่อการท่องเที่ยวได้ ผู้ที่มาร้องทุกข์ที่ทำเนียบรัฐบาล อันดับแรก คือ เรื่องที่ดินทำกิน แปลว่า ทุกรัฐบาลที่ผ่านมา ไม่สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ ถ้าจะแก้ได้ต้องบูรณาการจริงๆทุกหน่วยงาน
...
ต่อมา ผศ.ดร.กิติชัย รัตนะ อาจารย์ประจำภาควิชาอนุรักษ์วิทยา คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวระหว่างช่วงการเสวนาว่า ที่กินของรัฐมองใน 3 รูปแบบ 1. การคุ้มครองไว้ เพื่อเป็นที่ดินของรัฐ เช่น ที่ป่าไม้ ที่ราชพัสดุ 2. ที่ดินเพื่อการใช้ประโยชน์ เพื่อการเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม และ 3. พื้นที่ทับซ้อน ชุมชนอยู่ในเขตพื้นที่รัฐ ใช้หลักรัฐศาสตร์คู่กับนิติศาสตร์ มีความยืดหยุ่นไม่เหมือนกัน หรือ มีความคลุมเครือเรื่องแนวเขต ต้องใช้ One Map เพื่อทำรายละเอียดให้เด่นชัด ซึ่งอาจจะมีข้อพิพาทตามมาอีกมาก ปัจจุบันมีความไม่ชัดเจนว่าที่ดิน ส.ป.ก. ทำประโยชน์ เพื่อเกษตรได้ดีจริงหรือ เพราะพบว่า การใช้ประโยชน์ที่ดินส่งผลต่อผลิตภาพต่ำมาก เกษตรกรไทยติดกับเรื่องต้นทุนการผลิตและหนี้สิน การเพิ่มมูลค่าใหม่ในที่ดินมีความจำเป็นรัฐบาลกลางต้องจัดสรรแบ่งปันบริหารการใช้ประโยชน์ที่ดินด้วยแนวคิดแบบพลิกโฉมโดยอยู่บนความสมดุลและความเป็นธรรม หากจะบริหารจัดการใหม่ ต้องออกกฎหมายใหม่ให้ทันสมัย ยกเลิกกฎหมายเก่าที่ไม่จำเป็น ปรับวกระบวนการการทำงาน ค้นหาพื้นที่ปฏิบัติการที่เป็นเลิศเพื่อนำร่องการปฏิบัติการ เสนอการนำหนึ่งพื้นที่หลายระบบเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มมูลค่าและคุณค่า มีระบบข้อมูล เพื่อใช้ในการตัดสินใจและพัฒนาระบบธรรมาภิบาลที่ดิน การจัดการที่ดินในรูปแบบใหม่ ไม่ทำไม่ได้แล้วเพราะมีเงื่อนไขที่มากระทบต่อการใช้ประโยชน์ที่ดินของไทยค่อนข้างมาก เช่น ภัยพิบัติจากความเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิโลก เรื่องเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งมีผลต่อการวางรากฐานของประเทศ เป็นต้น
นายชวลิต ชูขจร อดีตปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การจะใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุดต้องรู้ปัญหา ที่ดินของรัฐนั้นมี 8 กระทรวง 19 กรม 3 รัฐวิสาหกิจ และกฎหมายอีก 16 ฉบับ ใช้บังคับอยู่ แต่ละฝ่ายต่างถือกฎหมายคนละฉบับในการทำหน้าที่ของตน เมื่อมีนโยบาย กฎหมายและภาษีเข้ามากำกับ ทำให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินโดยไม่คำนึงถึงความคุ้มค่า หรือ ผลผลิต ที่ดิน ส.ป.ก. 40 ล้านไร่ เคยมีนโยบายต้องรักษาไว้ เพื่อความมั่นคงของประเทศ ใช้กฎหมายส.ป.ก.ที่ห้ามจำหน่ายจ่ายโอนและเกษตรกร คือ ผู้ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการประกอบอาชีพเกษตร เกษตรกรจึงไปทำอย่างอื่นไม่ได้และต้องจนอยู่ชั่วชีวิต แต่ความจริงที่ดินรัฐมีการบุกรุกตลอดมา รัฐจัดการแบบมีปัญหาดินพอกหางหมู ต้องยอมรับว่า ปัญหามีอยู่จริง ปัญหาใหญ่ คือ ความไม่เป็นเอกภาพของหน่วยงานราชการ มีการตั้งคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) เพื่อให้เป็นหนึ่งเดียว แต่สิ่งที่หน่วยงานต่างๆ กำลังทำอยู่ไม่เชื่อว่า จะแก้ไขปัญหาอะไรได้
นายสุริยน พัชรครุกานนท์ รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ กล่าวว่า สคทช. เพิ่งตั้งเมื่อปี 2564 ขณะนี้ เพิ่ง 3 ขวบ เป็นหน่วยงานเชิงนโยบายที่พยายามแก้ปัญหาที่ดินให้ทุกด้านแต่อาจจะช้าหน่อย เพราะการมีส่วนร่วมในการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ยังไม่เป็นเอกภาพ หน้าที่ของสคทช. คือ บริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินให้เป็นเอกภาพ เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ขณะนี้ มี CEO One Map เร่งรัดดำเนินการให้จบเพราะมีปัญหาที่ดินทับซ้อนที่ต้องเร่งแก้ไข One Map จะเสร็จในปี 2568 จะเปิดโอกาสให้ประชาชนโต้แย้งสิทธิ์หรือพิสูจน์สิทธิ์ การลดลงของพื้นที่ป่าน่ากลัวมากการบุกรุกยังมีต่อเนื่อง เพราะมาตรการของรัฐบางช่วงแข็งแรง บางช่วงหย่อนยาน ที่ดินส่วนใหญ่อยู่ในมือคนส่วนน้อย ที่ดินใช้ประโยชน์ไม่เต็มศักยภาพ ที่ดินมีศักยภาพมากกว่าทำการเกษตร
ผศ.ดร.ศุภฤกษ์ สุขสมาน รองคณบดีฝ่ายบริหารยุทธศาสตร์และพัฒนากายภาพ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า การบริหารจัดการที่ดินของรัฐที่ผ่านมา มุ่งเน้นไปที่กลุ่มเกษตรกรผู้ยากไร้ ไม่มีที่ทำกิน แต่ปัจจุบันหากมองในด้านผลตอบแทนจากที่ดินคงต้องกลับมาคิดกันใหม่ เช่น ความสมบูรณ์ของดิน แหล่งน้ำในเขตชลประทาน โครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น นอกจากนี้ เกษตรกรยังต้องแบกรับความเสี่ยงหลายด้าน ทั้งผลผลิต โรค ตลาด ราคาผลผลิต เกษตรกรเป็นกลุ่มที่มีหนี้สินมาก ข้อเท็จจริง คือ เกษตรกรมีรายได้นอกภาคเกษตรสูงกว่ารายได้จากผลผลิตทางการเกษตร เช่น อาจมีอาชีพประกอบ ลูกหลานส่งเงินให้ใช้ GDP ภาคเกษตรลดต่ำลง เกษตรกรมีทุนน้อยลง ประสิทธิภาพภาคการเกษตรของไทยแทบไม่มีเลย เกษตรกรยุคใหม่อาจใช้พื้นที่เพาะปลูกน้อยลงแต่ได้ผลตอบแทนมากขึ้น รัฐบาลต้องเปลี่ยนแนวคิด ที่ดินที่จะอนุรักษ์ได้ดีที่สุด คือ ที่ดินของเอกชน ทำไมไม่ให้ TAX CREDIT หรือ CARBON CREDIT แก่เอกชน ส่งเสริมให้ไม่นำที่ดินมาพัฒนาในด้านการเกษตร แต่ใช้ในเชิงอนุรักษ์ ที่ดินใช้ประโยชน์อื่นๆ ได้ไหมหากมองประโยชน์สูงสุด นอกจากการเกษตร เช่นท่องเที่ยว เชิงอนุรักษ์ พาณิชยกรรม อุตสาหกรรม เป็นต้น
นายพรสิทธิ์ ด่านวนิช รองนายกสมาคมสินแร่และวัสดุก่อสร้าง กล่าวว่า เป็นตัวแทนของภาคเอกชนที่ประสบปัญหาการใช้ที่ดินของรัฐโดยเฉพาะเรื่องที่ดินส.ป.ก. กับการทำเหมืองแร่ ที่ดิน ส.ป.ก. ทั้งหมด 40 ล้านไร่ สำรวจแล้วมีแร่อยู่ในบริเวณแค่ 4 ล้านไร่ และเอกชนยื่นขอใช้พื้นที่เพียง 3 แสนไร่ จะเกิดประโยชน์ในแง่ค่าภาคหลวง ค่าตอบแทนพิเศษสำหรับส.ป.ก. รายได้ส่วนใหญ่ 60% จะตกแก่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเมื่อมีการทำเหมืองจะเกิดการจ้างงานชาวบ้านในพื้นที่ จะมีกองทุนให้กับชุมชนใกล้เคียง หลังการทำเหมืองจะมีแหล่งเก็บน้ำขนาดใหญ่สำหรับเกษตรกร