ปลัดเกษตรฯ มอบนโยบายขับเคลื่อนงานด้านมาตรฐานสินค้าเกษตร เพื่อความเป็นอยู่ของเกษตรกรที่ดีขึ้น รวมถึงการสร้างสังคมและทรัพยากรเกษตรที่ยั่งยืน

วันที่ 9 ตุลาคม 2567 นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงาน และมอบนโยบาย เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนาสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ครบรอบ 22 ปี ประจำปี 2567 ภายใต้แนวคิด "Go Green Go Global ขับเคลื่อนงานด้านมาตรฐานสินค้าเกษตร เพื่อสร้างความยั่งยืนสู่สากล" โดยมีผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่หน่วยงาน ในสังกัดเข้าร่วมกิจกรรม ณ ห้องประชุม 511 อาคาร 5 สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เขตบางเขน กรุงเทพฯ ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มุ่งขับเคลื่อนภาคการเกษตรตามนโยบายรัฐบาลให้เกิดผลเป็นรูปธรรม

ภายใต้แนวคิด "ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้" สร้างรายได้ สร้างโอกาส และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแก่เกษตรกรและประชาชน โดยยกระดับสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง ด้วยการต่อยอดโครงการ 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง เน้นการผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ รวมถึงส่งเสริมการสร้างอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร ซึ่งต้องใช้กลไกความร่วมมือจากภาคเอกชน ผู้ประกอบการ รวมถึงทูตเกษตร ในการขยายตลาดเดิม และเพิ่มตลาดใหม่ทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนการใช้นวัตกรรมมาเป็นจุดขายสินค้าเกษตรผ่านแอปพลิเคชัน ทั้งออนไลน์และออฟไลน์

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มความต้องการสินค้าเกษตรที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เป็นประเด็นที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ความสำคัญเช่นกัน โดยการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อรองรับนโยบายมาตรการการค้าด้านสิ่งแวดล้อมโลก เช่น EUDR, CBAM และ Carbon Credit โดยทำการเกษตรที่ลดภาระต่อสิ่งแวดล้อม เกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัย การเกษตรที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งการแก้ปัญหา PM 2.5

...

สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ถือเป็นหน่วยงานหลักภายใต้สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีภารกิจในการยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตร และความปลอดภัยด้านอาหาร รวมถึงการร่วมเจรจาและแก้ไขปัญหาด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชของประเทศไทย ซึ่งภารกิจของ มกอช. มีส่วนสำคัญที่ช่วยในการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลภาคการเกษตร ให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องมีการทำงานแบบบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา รวมถึงภาคประชาชน ส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าสู่ระบบมาตรฐานการผลิตที่ดีตามที่ตลาดต้องการ เช่น ผลักดันให้เกษตรกรเข้าสู่ระบบการตรวจรับรอง GAP หรือ Organic ให้เพิ่มขึ้นทั้งชนิดสินค้า และพื้นที่

รวมถึงส่งเสริมการทำเกษตรแบบปลอดการเผา เพื่อเกษตรกรสามารถต่อยอดไปสู่คาร์บอนเครดิตในภาคการเกษตร และลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 ต่อไป นอกจากนี้ ต้องเร่งรัดและผลักดันให้มีการเจรจาเปิดตลาดสินค้าเกษตรใหม่ ๆ รวมถึงสร้างการรับรู้ให้ผู้บริโภคทั้งภายใน และต่างประเทศ เกิดการยอมรับและเชื่อมั่นในคุณภาพ มาตรฐานของสินค้าเกษตรไทยอีกด้วย 

การขับเคลื่อนการดำเนินงาน มกอช. ต่อจากนี้ จะต้องมุ่งมั่นขับเคลื่อนภารกิจตามนโยบายของรัฐบาล และนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อีกทั้งเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน และยกระดับพัฒนางานด้านการมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารของไทย โดยมุ่งเน้นการทำการเกษตรที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม สร้างความยั่งยืนด้วยมาตรฐานสินค้าเกษตร

พร้อมกับสร้างระบบให้มีมาตรฐานและการมีส่วนร่วมเพื่อการยอมรับสู่สากล ควบคู่กับการขับเคลื่อนนโยบาย "เกษตรกรต้องอยู่ดี สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ทรัพยากรเกษตรยั่งยืน" มุ่งยกระดับเกษตรกร ผู้ประกอบการ เข้าสู่ระบบมาตรฐาน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของสินค้าไทย ในตลาดโลก รวมไปถึงการสร้างองค์ความรู้ และการตระหนักรู้ถึงสินค้าเกษตรที่มีมาตรฐาน มีคุณภาพ ผ่านตราสัญลักษณ์ Q เพื่อความเป็นอยู่ของเกษตรกรที่ดีขึ้น รวมไปถึงการสร้างสังคมและทรัพยากรเกษตรที่ยั่งยืน.