อธิบดีกรมปศุสัตว์ สั่งสำนักงานปศุสัตว์ทุกพื้นที่ที่เกิดอุทกภัย ให้เข้าช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ และปศุสัตว์ทั้งหมด ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยใน 4 จังหวัดภาคเหนือ โดยส่ง จนท.ขนย้ายปศุสัตว์ขึ้นที่สูง สนับสนุนอาหารสัตว์ และเวชภัณฑ์เบื้องต้น ขณะที่ สนง.ปศุสัตว์ จ.แพร่ เจอน้ำท่วม ต้องหยุดช่วยประชาชนชั่วคราว

นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ได้สั่งการให้ สำนักงานปศุสัตว์เขต 5 สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด สำนักงานปศุสัตว์อำเภอ ด่านกักกันสัตว์ และศูนย์วิจัยอาหารสัตว์ ในพื้นที่ประสบอุทกภัย และหน่วยงานในสังกัดที่อยู่บริเวณพื้นที่ใกล้เคียง ช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์อย่างเต็มกำลัง ตามข้อสั่งการของ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ห่วงใยเกษตรกรเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังกำชับให้สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดในพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวัง และพร้อมเข้าช่วยเหลือเกษตรกรอย่างทันท่วงที จากที่เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำไหลหลากในภาคเหนือเนื่องจากฝนตกหนัก ซึ่งเบื้องต้นมีรายงานจากสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดในพื้นที่ว่าส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ใน 4 จังหวัด ได้แก่ น่าน แม่ฮ่องสอน เชียงราย และพะเยา

...

โดยข้อมูลเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2567 ศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านปศุสัตว์สรุปการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติด้านปศุสัตว์ใน 4 จังหวัด ได้แก่ น่าน แม่ฮ่องสอน เชียงราย และพะเยา ว่ามีพื้นที่ประสบภัยรวม 22 อำเภอ 68 ตำบล 468 หมู่บ้าน โดยมีเกษตรกรได้รับผลกระทบ 24,724 ราย มีสัตว์ในพื้นที่น้ำท่วม 1,478,861 ตัว แบ่งเป็น โค 32,460 ตัว กระบือ 6,082 ตัว สุกร 7,633 ตัว แพะ/แกะ 692 ตัว และสัตว์ปีก 1,431,994 ตัว รวมถึงแปลงหญ้าเลี้ยงสัตว์ 142 ไร่ ส่วนรายงานสัตว์ตายและสูญหายใน 3 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงราย และน่าน แบ่งเป็น โค 9 ตัว กระบือ 7 ตัว สุกร 12 ตัว แพะ 36 ตัว และสัตว์ปีก 538 ตัว รวมตาย/สูญหาย 602 ตัว สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดในพื้นที่และหน่วยงานสังกัดกรมปศุสัตว์เข้าช่วยเหลือเฉพาะหน้า ดังนี้ อพยพสัตว์ 10,783 ตัว มอบพืชอาหารสัตว์ 31,615 กิโลกรัม สนับสนุนชุดส่งเสริมสุขภาพสัตว์ 506 ชุด รักษาสัตว์ 76 ตัว

ทั้งนี้ล่าสุดได้รับรายงานด่วนเมื่อเช้าวันที่ 23 สิงหาคม 2567 จากสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดแพร่ว่า พื้นที่ตัวเมืองจังหวัดแพร่ ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดแพร่ได้ถูกน้ำท่วม จึงทำให้ต้องแจ้งหยุดทำการชั่วคราว ซึ่งขณะนี้พื้นที่เลี้ยงสัตว์และสัตว์เลี้ยงของเกษตรกรจังหวัดแพร่ในพื้นที่อำเภอสอง อำเภอหนองม่วงไข่ อำเภอร้องกวาง อำเภอเมืองแพร่ อำเภอสูงเม่น อำเภอเด่นชัย ได้รับผลกระทบหลายราย ส่วนอำเภอลอง และอำเภอวังชิ้น คาดว่าจะได้รับผลกระทบตามมาอีกหนึ่งถึงสองวัน

...

อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวอีกว่า สั่งการให้สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดและหน่วยงานในสังกัดที่อยู่ในพื้นที่เกิดเหตุและบริเวณใกล้เคียงในพื้นที่ประสบภัยพิบัติ เร่งเข้าสำรวจผลกระทบและความเสียหายด้านปศุสัตว์จากอุทกภัยที่เกิดขึ้นทันที ที่สถานการณ์คลี่คลายเพื่อเร่งช่วยเหลือชดเชยเยียวยา ตามหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติ เกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านปศุสัตว์ผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินตามระเบียบกระทรวงการคลัง พ.ศ.2564 ซึ่งแต่ละชนิดสัตว์จะมีอัตราและเกณฑ์การช่วยเหลือดังนี้

...

1.โค อายุน้อยกว่า 6 เดือน อัตราตัวละไม่เกิน 13,000 บาท ช่วยเหลือไม่เกินรายละ 5 ตัว อายุ 6 เดือน - 1 ปี 22,000 บาท 1-2 ปี 29,000 บาท อายุมากกว่า 2 ปีขึ้นไป 35,000 บาท
2.กระบือ อายุน้อยกว่า 6 เดือน 15,000 บาท รายละไม่เกิน 5 ตัว อายุ 6 เดือน - 1 ปี 24,000 บาท อายุมากกว่า 1-2 ปี 32,000 บาทอายุมากกว่า 2 ปีขึ้นไป 39,000 บาท
3.สุกร อายุ 1-30 วัน 1,500 บาท ไม่เกินรายละ 10 ตัว อายุมากกว่า 30 วันขึ้นไป 3,000 บาท
4. แพะ/แกะ อายุ 1-30 วัน 1,500 บาท ไม่เกินรายละ 10 ตัว อายุมากกว่า 30 วันขึ้นไป 3,000 บาท
5.ไก่พื้นเมือง/ไก่งวง อายุ 1-21 วัน 30 บาท ไม่เกินรายละ 300 ตัว อายุมากกว่า 21 วันขึ้นไป 80 บาท
6.ไก่ไข่อายุ 1-21 วัน 30 บาท ไม่เกินรายละ 1,000 ตัว อายุมากกว่า 21 วันขึ้นไป 100 บาท
7.ไก่เนื้อ อายุ 1-21 วัน อัตราไม่เกิน 20 บาท ไม่เกินรายละ 1,000 ตัว อายุมากกว่า 21 วันขึ้นไป 50 บาท

...


8.เป็ดไข่ อายุ 1-21 วัน 30 บาท ไม่เกินรายละ 1,000 ตัว อายุมากกว่า 21 วันขึ้นไป 100 บาท
9.เป็ดเนื้อ เป็ดเทศ อายุ 1-21 วัน 30 บาท ไม่เกินรายละ 1,000 ตัว อายุมากกว่า 21 วันขึ้นไป 80 บาท
10.นกกระทา อายุ 1-21 วัน 10 บาท ไม่เกินรายละ 1,000 ตัว อายุมากกว่า 21 วันขึ้นไป 30 บาท
11.นกกระจอกเทศ 2,000 บาท ไม่เกินรายละ 10 ตัว
12.ห่าน 100 บาท ไม่เกินรายละ 300 ตัว
13.แปลงหญ้าเลี้ยงสัตว์ 1,980 บาทต่อไร่ รายละไม่เกิน 30 ไร่

หากเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ต้องการแจ้งเหตุ หรือขอความช่วยเหลือด้านปศุสัตว์ สามารถแจ้งที่ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด หรือสำนักงานปศุสัตว์อำเภอในพื้นที่ หรือแจ้งขอความช่วยเหลือผ่านแอปพลิเคชัน DLD 4.0 ได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง.