รมต.เกษตรฯ ร่วมประชุมเร่งติดตามสถานการณ์น้ำ ที่ศูนย์ SWOC กรมชลประทาน ร่วมกับ รองนายกฯ ภูมิธรรม โดยให้ทบทวนแผนบริหารน้ำ 3 ปี จับมือทุกหน่วยงานร่วมแก้ไขปัญหาอุทกภัยจากฝนตกหนัก โดยเฝ้าระวังแม่น้ำยม ควบคุมปริมาณน้ำที่ไหลผ่านตัวเมืองสุโขทัยให้กระทบน้อยที่สุด ขณะที่ 4 เขื่อนลุ่มเจ้าพระยามีปริมาณน้ำกักเก็บรวม 60%

เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2567 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์น้ำ และแนวทางการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือ โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, นายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน และคณะผู้บริหารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมการปกครอง เข้าร่วม ณ ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน สามเสน

...

ที่ประชุมได้ทบทวนแผนการบริหารจัดการน้ำ 3 ปี โดยมุ่งเป้าหมายในเรื่องของการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในปัจจุบัน พร้อมมอบหมายให้ทุกหน่วยงานร่วมกันบูรณาการข้อมูล และชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนเพื่อทราบข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำ พร้อมทั้งติดตามสถานการณ์น้ำที่เกิดขึ้นเพื่อประสานหน่วยงานในการแก้ไข การเตรียมความพร้อมและการติดตาม ประเมินสถานการณ์ รวมถึงมอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดูข้อกฎหมายต่างๆ หากประเมินได้ว่าเป็นพื้นที่ประสบภัยให้เร่งประกาศเขตภัยพิบัติได้ทันที

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากสถานการณ์ฝนตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ส่งผลให้ปริมาณน้ำในลุ่มน้ำยม-น่าน เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 22 ส.ค. 67 เวลา 10.00 น.) ที่สถานีวัดน้ำยม Y.20 อ.สอง จ.แพร่ มีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตรา 1,500 ลบ.ม./วินาที แนวโน้มเริ่มลดลง โดยปริมาณน้ำจะไหลลงสู่พื้นที่ตอนล่าง ที่สถานีวัดน้ำ Y1C บ้านน้ำโค้ง อ.เมืองแพร่ จ.แพร่ ระดับน้ำเพิ่มขึ้นอยู่ในอัตรา 1,008 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำเริ่มล้นตลิ่งบางแห่ง ในขณะที่สถานีวัดน้ำ Y14A อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย มีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตรา 640 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

รมต.เกษตรฯ กล่าวต่อว่า กรมชลประทาน ได้เฝ้าระวังพร้อมควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านประตูระบายน้ำแม่น้ำยม (บ้านหาดสะพานจันทร์) ก่อนจะไหลผ่านตัวเมืองให้อยู่ในอัตรา 540 ลบ.ม./วินาที ด้วยการใช้รับน้ำส่วนหนึ่งผ่านประตูระบายน้ำหกบาท ลงสู่แม่น้ำน่านและแม่น้ำยมสายเก่า ก่อนจะผันไปเก็บไว้ที่พื้นที่หน่วงน้ำทุกบางระกำ ส่วนพื้นที่ด้านท้าย ปตร.หาดสะพานจันทร์ จะใช้คลองและระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่ง รับน้ำเข้าไปในเกณฑ์ที่เหมาะสม เพื่อควบคุมปริมาณไหลผ่านสถานี Y.4 อ.เมืองสุโขทัย ไม่ให้เกิน 460 ลบ.ม./วินาที หวังลดผลกระทบต่อพื้นที่เศรษฐกิจและชุมชนในตัวเมืองสุโขทัย

...

ด้านสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำน่าน ที่สถานีวัดน้ำ N.64 บ้านผาขวาง อ.ท่าวังผา จ.น่าน ล่าสุดปริมาณน้ำเริ่มลดลง ในขณะที่สถานีวัดน้ำ N.1 สำนักงานป่าไม้ฯ อ.เมืองน่าน และสถานีวัดน้ำ N.13A บ้านบุญนาค อ.เวียงสา ปริมาณน้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากมีปริมาณน้ำทางตอนบนไหลมาสมทบ ส่งผลให้มีน้ำล้นตลิ่งบริเวณ อ.เมืองน่าน และ อ.เวียงสา กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทานได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ภาพรวมสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำยม-น่าน ยังคงต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดต่อไป

สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 22 ส.ค. 67) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 45,430 ล้าน ลบ.ม. (60% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) ยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันอีกกว่า 30,907 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 12,420 ล้าน ลบ.ม. (50% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) ยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันอีกกว่า 12,451 ล้าน ลบ.ม.

...

จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาพบว่า ร่องมรสุมพาดผ่านตอนบนภาคเหนือ และประเทศลาว ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทยและอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้มีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับในช่วงวันที่ 22-24 ส.ค. 67 จะมีแนวพัดสอบของลมตะวันออกเฉียงใต้และลมตะวันตกเฉียงใต้ในระดับบน ปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่ง และมีฝนตกหนักถึงหนักมากในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนในช่วงวันที่ 24-27 ส.ค. 67 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะเริ่มมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่งในระยะนี้ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ทั้งนี้ กรมชลประทาน โดยศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) ได้สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมทั้งประเทศ ปัจจุบันมีพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย 9 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย พะเยา น่าน พิษณุโลก แพร่ อุดรธานี บึงกาฬ นครพนม และสุพรรณบุรี อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทานได้ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำท่าอย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง พร้อมนำข้อมูลการคาดการณ์ปริมาณฝน และปริมาณน้ำท่าจากสถานีโทรมาตรมาวิเคราะห์วางแผนการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด และสอดคล้องกับสถานการณ์

มีการจัดจราจรน้ำให้สอดคล้องและเชื่อมโยงกันระหว่างพื้นที่ เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเกิดประสิทธิภาพสูงสุด กำหนดพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย จัดเตรียมเครื่องจักร-เครื่องมือ อาทิ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ เครื่องจักรสนับสนุนอื่นๆ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ประจำพื้นที่เสี่ยง ที่พร้อมจะเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที ตลอดจนบูรณาการร่วมกับจังหวัด องค์กรปกครองท้องถิ่น สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง

...

ที่สำคัญได้เน้นย้ำให้ทุกโครงการชลประทานปฏิบัติตาม 10 มาตรการรองรับฤดูฝนปี 67 ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบอย่างเคร่งครัด เพื่อให้สามารถป้องกันและบรรเทาปัญหาที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด.