ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติงบประมาณ 450 ล้านบาท ให้กรมประมงดำเนินการตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ พ.ศ. 2567-2570 โดยยกให้เป็น "วาระแห่งชาติ" มุ่งกำจัดปลาเอเลี่ยนสปีชีส์ จากแหล่งน้ำทั่วไทย พร้อมฟื้นฟูสัตว์น้ำท้องถิ่น เพิ่มความหลากหลายทางธรรมชาติ

เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2567 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล โดยสาระสำคัญ คือ เรื่อง แผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ พ.ศ. 2567-2570 ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ ดังนี้
1. แผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ พ.ศ. 2567-2570 (แผนปฏิบัติการปลาหมอคางดำฯ)
2. แผนปฏิบัติการปลาหมอคางดำฯ เป็นวาระแห่งชาติ
3. ให้กระทรวงเกษตรฯ ยกเว้นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2563 เรื่อง แนวทางการจัดทำแผนระดับที่ 3 ที่เป็นแผนปฏิบัติการด้าน .... เพื่อเสนอให้สามารถนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีได้โดยเร็วต่อไป 

คณะกรรมการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในการประชุมครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2567 (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน) มีมติเห็นชอบในหลักการของแผนปฏิบัติการปลาหมอคางดำฯ โดยแผนปฏิบัติการดังกล่าวประกอบด้วย 7 มาตรการ (14 กิจกรรม) ระยะเวลาดำเนินการ เดือนกรกฎาคม 2567 - กันยายน 2570 วงเงินงบประมาณ 450 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดสำคัญ ดังนี้

(1) ควบคุม กำจัด และลดประชากรปลาหมอคางดำที่แพร่ระบาดในทุกพื้นที่ของ ประเทศไทย รวมทั้งส่งเสริมให้มีการใช้ประโยชน์จากปลาหมอคางดำ
(2) ฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพของแหล่งน้ำที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ ระบาดของปลาหมอคางดำ
(3) สร้างเครือข่ายความร่วมมือในพื้นที่ของทุกภาคส่วน ทั้งภาคประชาชน ภาครัฐ ภาคเอกชน และการมีส่วนร่วมในการรับมือกับการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำใน พื้นที่รอยต่อและพื้นที่ที่มีความเสี่ยง
(4) ประชาสัมพันธ์และการสร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชนให้ทราบถึงผลกระทบ และการดำเนินการร่วมแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ
(5) พัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมด้านการประมงในการป้องกันสัตว์น้ำต่างถิ่นรุกราน 

...

ทั้งนี้ กิจกรรมและมาตรการทั้งหมด มีตัวชี้วัดสำคัญ ได้แก่ 

(1) กำจัดประชากรปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำไม่น้อยกว่า 5,000 ตัน
(2) ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำเพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ และฟื้นฟู ความหลากหลายทางชีวภาพตามความเหมาะสมของแหล่งน้ำไม่น้อยกว่า 20 ล้านตัว
(3) ประชาสัมพันธ์ ส่งเสริม สร้างความรู้และแรงจูงใจให้ประชาชนทุกภาคส่วนตระหนักถึงผลกระทบ รวมทั้งจัดให้มีการใช้ประโยชน์จากปลาหมอคางดำ เพื่อกำจัดและบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบไม่น้อยกว่า 5,000 ตัน
(4) สร้างเครือข่ายจากทุกภาคส่วน ทั้งภาคประชาชน ภาครัฐ และภาคเอกชน ที่มีความ พร้อมรับมือการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในพื้นที่รอยต่อและพื้นที่ที่มีความเสี่ยง
(5) สร้างงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการประมง เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำและสัตว์น้ำต่างถิ่นรุกราน 

สำนักงบประมาณเห็นสมควรให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ขอยกเว้นการดำเนินการตามมติ คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2563 เรื่อง แนวทางจัดทำแผนระดับที่ 3 ที่เป็นแผนปฏิบัติการด้าน .... เพื่อให้สามารถนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีได้โดยเร็วต่อไป สำหรับค่าใช้จ่ายตามแผนปฏิบัติการดังกล่าว จำนวน 450 ล้านบาทถ้วน เห็นควรให้กรมประมงใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ได้รับการจัดสรร 

หรือพิจารณาปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ หรือโอนเงินจัดสรร หรือเปลี่ยนแปลงเงินจัดสรรแล้วแต่กรณี ตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณ พ.ศ. 2562 มาดำเนินการในโอกาสแรก ทั้งนี้ หากพิจารณาแล้วยังคงมีความจำเป็นต้องขอใช้งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ขอให้กรมประมงจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายเงินงบประมาณ และดำเนินการตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2562 และขอให้จัดทำแผนปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ โดยคำนึงถึงความจำเป็น เหมาะสม ประหยัด และคุ้มค่า เพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป