กรมประมง เปิดฝึกอบรมหลักสูตร “การบริหารจัดการทรัพยากรประมงทะเล” ที่ จ.เพชรบุรี เพื่อเสริมศักยภาพชุมชนประมงท้องถิ่น 22 จังหวัดชายทะเลและองค์กรภาคประมง หวังนำไปต่อยอดขยายฐานความรู้สู่ชุมชน เสริมความรู้กฎหมายประมงใหม่
นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยหลังเป็นประธานการเปิดโครงการฝึกอบรม หลักสูตร “หลักการบริหารจัดการทรัพยากรประมงทะเลอย่างยั่งยืน” ว่า กรมประมงกำหนดการจัดฝึกอบรมดังกล่าว ในระหว่างวันที่ 15-17 สิงหาคม พ.ศ. 2567 ณ โรงแรมลองบีช ชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ให้กับผู้แทนองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นด้านการประมงทะเลชายฝั่ง-นอกชายฝั่ง จาก 22 จังหวัด ผู้แทนจากองค์กรภาคการประมง และเจ้าหน้าที่กรมประมง จำนวนกว่า 83 คน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพลวัตประชากรสัตว์น้ำ การบริหารจัดการทรัพยากรประมงทะเลภายใต้พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และการกำหนดจุดอ้างอิงของทรัพยากรและกำหนดมาตรการในการบริหารจัดการทรัพยากรประมงทะเล ซึ่งจะช่วยให้เกิดการยอมรับและการปฏิบัติตามแนวทางบริหารจัดการของภาครัฐได้อย่างถูกต้อง เนื่องจากที่ผ่านมา ตั้งแต่การประกาศใช้ พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558
...
ภาคการประมงทะเลของไทยนั้น มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากจากอดีตที่มีการเปิดให้ทำการประมงได้อย่างเสรี (Open Access Fishery) ทำให้เกิดปัญหาการทำประมงที่เกินศักยภาพการผลิตของทรัพยากรตามธรรมชาติ (Overfishing) เป็นเหตุให้ปริมาณประชากรสัตว์น้ำลดลง แต่เมื่อมีการปฏิรูประบบการบริหารจัดการทรัพยากรประมงทะเลของไทย ภายใต้ พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 ซึ่งมีหลักการสำคัญ คือ การบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเลให้อยู่ในสภาวะที่สมดุล เหมาะสม สามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืน โดยใช้ค่าผลผลิตสูงสุดของสัตว์น้ำที่สามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืน (MSY) เป็นจุดอ้างอิงในการกำหนดปริมาณสัตว์น้ำที่อนุญาตให้ทำการประมง ร่วมกับแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งการกำหนดแนวทางการออกใบอนุญาตทำการประมง การกำหนดปริมาณสัตว์น้ำที่อนุญาตให้ทำการประมง ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อการทำประมงดังเช่นเคยมาบ้าง แต่เพื่อประโยชน์ในการอนุรักษ์และเกิดการบริหารจัดการทรัพยากรให้เกิดความยั่งยืนจึงต้องดำเนินตามหลักการภายใต้ พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558
ดังนั้น การจัดฝึกอบรมในครั้งนี้ จึงจะมีการบรรยายความรู้ในข้อต่างๆ ที่สำคัญ อาทิ คุณลักษณะของทรัพยากรประมง ผลของการประมงต่อทรัพยากรประมง หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทรัพยากรประมงทะเล การเก็บข้อมูลและการจัดทำสถิติการประมงทะเล การประเมินสภาวะทรัพยากรประมง และมาตรการในการจัดการทรัพยากรประมง เป็นต้น ซึ่งได้รับเกียรติจากวิทยากรจากภาครัฐและภาคอุดมศึกษา อาทิ รศ.ดร.กังวาลย์ จันทรโชติ รศ.ดร.เจริญ นิติธรรมยง ศ.ดร.ทวนทอง จุฑาเกตุ ผศ.ดร.ศันสนีย์ หวังวรลักษณ์ และวิทยากรจากกรมประมง อีก 4 ท่าน มาบรรยายในหัวข้อต่างๆ
อีกทั้งยังมีการแลกเปลี่ยน ข้อมูลและองค์ความรู้ต่างๆ รวมถึงการตอบข้อซักถาม เพื่อให้เกิดความเข้าใจในหลักการประเมินทรัพยากรประมง เพื่อให้เกิดความยั่งยืนและเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย ผู้ที่เข้ารับการฝึกอบรมจะมีความรู้ความเข้าใจ ถึงแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรของภาครัฐ ไปในทิศทางเดียวกัน นำไปสู่การยอมรับและการให้ความร่วมมือในแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรได้อย่างถูกต้อง โดยกรมประมง มุ่งหวังที่จะให้ผู้แทนชุมชนได้นำความรู้ที่ได้รับไปขยายผลในชุมชนตนเองให้รับทราบหลักการบริหารจัดการทรัพยากรของกรมประมง และก่อให้เกิดการบริหารจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืน.