หลายองค์กรร่วมมือล่าปลาหมอคางดำ ขณะที่ ประมงเมืองคอน ชี้ รุนแรงหนักที่ ปากพนัง-หัวไทร ด้าน กยท.เผยระลอกแรกรับซื้อได้ไม่น้อยกว่า 29 ตัน ส่วนผู้เลี้ยงกุ้งประกาศผนึกกำลังบอยคอตไม่ซื้ออาหารและพันธุ์กุ้งจากเอกชน

กิจกรรมการล่าปลาหมอคางดำอีกที่นครศรีธรรมราช เริ่มขึ้นในวันนี้ ในบริเวณลำบาง และคูระบายน้ำเค็มจากการเลี้ยงกุ้ง ในรอยต่อระหว่างตำบลขนาบนาก อำเภอปากพนัง และตำบลเกาะเพชร อำเภอหัวไทร นครศรีธรรมราช บริเวณนี้คือพื้นที่รายรอบของฟาร์มสัตว์น้ำขนาดใหญ่ของเอกชนชื่อดัง พบการระบาดของปลาหมอคางดำอย่างรุนแรงรอบบริเวณในรัศมี 5-10 กิโลเมตร

เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ จ.นครศรีธรรมราช การปฏิบัติการครั้งใหญ่และจะเป็นไปอย่างต่อเนื่องนี้เรียกว่า "ลงแขก-ลงคลอง" มีการระดมชาวบ้าน ตำรวจน้ำ ประมง การยางแห่งประเทศไทย กรมราชทัณฑ์ โดยเรือนจำกลางปากพนัง เรือนจำกลางนครศรีธรรมราช เรือนจำทัณฑสถานวัยหนุ่มนครศรีธรรมราช นำนักโทษชั้นเยี่ยมกองงานนอกของแต่ละเรือนจำ ออกมาร่วมสมทบเข้าร่วมล่าปลาหมอคางดำทุกวิธีที่ทำได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีกำหนดการกวาดล้างปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำย่านนี้อย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์หลังจากนี้เพื่อลดปริมาณปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแหล่งให้ลดลงมากที่สุด

...

ส่วนการลงไปในแหล่งน้ำพบว่า เป็นลำราง (คลองขนาดเล็ก) ระบายน้ำจากแหล่งเลี้ยงกุ้งลงไปยังคลองชลประทานน้ำเค็มสู่อ่างบำบัดน้ำเค็มของโครงการชลประทานน้ำเค็ม กรมชลประทาน เป็นที่น่าสังเกตแม้น้ำจะอยู่ในสภาพสีคล้ำมีกลิ่นแรง เป็นน้ำเสีย และตะกอนจากบ่อเลี้ยงกุ้ง ไม่พบปลาชนิดอื่นเลย ปลาที่ได้มีชนิดเดียวคือปลาหมอคางดำเท่านั้น

นายกอบศักดิ์ เกตุเหมือน ประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า กิจกรรมนี้จะเป็นไปอย่างต่อเนื่องในความร่วมมือของหลายหน่วยงาน ส่วนขอบเขตของการระบาดขณะนี้จะพบรุนแรงอยู่ในอำเภอปากพนัง และอำเภอหัวไทร สถานการณ์โดยรวมชาวบ้านปรับตัวมีการนำมาใช้ประโยชน์ต่อเดือนมีราว 4-5 ตัน ส่วนการระบาดนั้นพบว่ามีการระบาดอยู่นาน การที่จะหาที่มานั้นต้องหาวิธีการสอบสวน ส่วนคำบอกเล่านั้นต้องสอบสวนหาข้อเท็จจริงๆ

ด้าน นางสาวชวรีย์ กิ่งรัตน์ ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทย นครศรีธรรมราช กล่าวว่า กยท.ส่วนของนครศรีธรรมราช พร้อมรับซื้อจากชาวบ้านผ่านจุดรับซื้ออย่างน้อย 29 ตัน ซึ่งจะนำไปแปรรูปเป็นน้ำหมักชีวภาพใช้ในการเกษตรกร หากมีปริมาณมากกว่านี้ยังสามารถรับได้ ซึ่งจะนำกระจายไปผลิตยังจังหวัดใกล้เคียงได้อีก

ขณะที่ นายบุญเยียน รัตนวิชา ผู้จัดการสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งลุ่มน้ำปากพนัง เปิดเผยว่า สถานการณ์มาถึงจุดที่เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนอย่างรุนแรงแล้วอย่างที่ทราบกัน แต่ในส่วนของการหารือกันมีมติเห็นตรงกันแล้วว่าหมอคางดำระบาดโดยคน ข้อสงสัย คือ ผู้นำเข้ารายนั้น ดังนั้นเกษตรกรจะไม่ร่วมกิจกรรมใดๆ กับบริษัทนั้น เนื่องจากไม่มีความรับผิดชอบเลย และเวลานี้ฟาร์มกุ้งทั่วไปนั้นไปเลือกใช้อาหารจากบริษัทอื่นๆ กันแล้ว ส่วนลูกพันธุ์กุ้งมีการใช้ของบริษัทรายย่อย และเชื่อว่าอย่างน้อยนี่คือเสียงสะท้อนไปยังผู้ที่เราสงสัย และเป็นการกดดันให้ความรับผิดชอบต่อสังคม หลังจากนี้จะมีกลุ่มของผู้เลี้ยงกุ้งด้วยกันจะมีการขยายผล จังหวัดที่มีการแพร่ระบาดต้องมีการบอยคอตกันบ้างแล้ว

...

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกรมประมงได้ให้ข้อมูล และข้อสังเกตเพิ่มเติมว่าการระบาดใน 17 จังหวัดของประเทศไทย หากจำกัดวงที่มีความหนาแน่นสูง หรืออัตราประชากรปลาหมอคางดำต่อพื้นที่ จะพบว่ามีฟาร์มขนาดใหญ่ของเอกชนรายหนึ่งอยู่ในทุกจังหวัด เช่นที่นครศรีธรรมราช หากระบาดลงมาจากภาคกลาง เหตุใดไม่ผ่านจังหวัดสุราษฎร์ธานี จนถึงนครศรีธรรมราช ผ่านอำเภอขนอม อำเภอสิชล อำเภอท่าศาลา อำเภอเมือง ไม่พบการระบาด จนมาพบการระบาดรุนแรงที่ปากพนัง และหัวไทร และใจกลางพื้นที่ของการระบาดเป็นพื้นที่ของฟาร์มเอกชนรายใหญ่ที่ต้องสงสัย เช่นเดียวกับที่ชุมพร มีฟาร์มขนาดใหญ่ต้องสงสัยอยู่เช่นเดียวกัน ไม่แตกต่างกับทุกจังหวัดใช่หรือไม่ เพียงแต่ทางราชการอาจไม่มีหลักฐาน หรือไม่เปิดเผยข้อมูลเหล่านี้.

...