ประมงสมุทรปราการ ประชุมหารือเกษตรกรและชาวบ้านในพื้นที่ หาแนวทางร่วมกันในการกำจัดปลาหมอคางดำ ด้าน เจ้าของแพปลารับซื้อ สะท้อน กก.ละ 15 บาททำไม่ไหว เพราะตอนเอาปลาไปส่งก็ได้ 15 บาท มีส่วนต่างแค่ 5 บาท โดยตอนนี้รับกันได้ที่ กก.ละ 6 บาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงเช้าวานนี้ (6 ส.ค. 2567) การประชุมหารือระหว่างกลุ่มเกษตรกรชาวประมง ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ในพื้นที่อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ โดยในช่วงเช้าที่ผ่านมาที่ วัดคลองมอญ ตำบลบ้านคลองสวน อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ ได้มีการประชุมหารือ ระหว่างชาวบ้าน เกษตรกรชาวประมง และ นายสมพร เกื้อสกุล ประมงจังหวัดสมุทรปราการ รวมจำนวนประมาณ 120 คน เพื่อหาแนวทางในการกำจัดปลาหมอคางดำ ตามลำคลองธรรมชาติ ที่เชื่อมต่อถึงกันหลายสาย ในพื้นที่หลายตำบล ในเขตอำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ จนได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างนั้น โดยกลุ่มเกษตรกรและชาวประมง ส่วนใหญ่สะท้อนปัญหาถึงผลกระทบ และแนวทางในการหาทางออกร่วมกัน โดยเฉพาะ มาตรการของภาครัฐ ในการรับซื้อปลาหมอคางดำที่ในราคา 15 บาท ดูเหมือนจะยังคงไม่เป็นผลชัดเจนเท่าที่ควร เนื่องจากผู้รับซื้อขายต่อได้ในราคากิโลฯ ละ 15 บาทเช่นกัน

...

ต่อมาในช่วงบ่าย นายสมพร เกื้อสกุล ประมงจังหวัดสมุทรปราการ พร้อมคณะ ได้เดินทางไปยัง อบต.แหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อร่วมประชุมหาแนวทางออกร่วมกัน ในการกำจัดปริมาณประชากรของปลาหมอคางดำ ในพื้นที่เป้าหมายให้หมดไป โดยมี นาย สนธยา แตงอุไร นายก อบต.แหลมฟ้าผ่า นางสาว วิสาขา ปุณยกนก หัวหน้ากลุ่มพัฒนาและส่งเสริมอาชีพการประมง กอ.รมน. จังหวัดสมุทรปราการ นายบุญเลิศ แสงพันธุ์ สส. พรรคก้าวไกล สมุทรปราการ เขต 7 อำเภอพระสมุทรเจดีย์ นายสุรกิจ ละเอียดดี ประธานศูนย์เพิ่มประสิทธิภาพการเกษตร อำเภอพระสมุทรเจดีย์ ผู้ใหญ่บ้าน และผู้นำชุมชน รวมถึงกลุ่มเกษตรกร ชาวประมง จำนวนกว่า 60 คน เข้าร่วมประชุม และหาแนวทางกำหนดขอบเขตราคา ของการรับซื้อ รวมถึงรับฟังปัญหาและอุปสรรค บนสภาพความเป็นจริง ของผู้รวบรวมและรับซื้อปลาหมอคางดำ

นายสมพร กล่าวว่า ทางประมงจังหวัดสมุทรปราการ ร่วมกับทางนายก อบต.แหลมฟ้าผ่า ได้ประสานงานกับพี่น้องเกษตรกร ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ในพื้นที่ตำบลแหลมฟ้าผ่า ได้ประสานงานกัน เพื่อที่จะร่วมกันชี้แจง ทำความเข้าใจ ในด้านปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ โดยทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมประมง มีนโยบายในการกำจัดปลาหมอคางดำ โดยเฉพาะเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อธรรมชาติ ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ของอำเภอพระสมุทรเจดีย์ เพื่อจะได้รับทราบข้อมูล

ประมงจังหวัดสมุทรปราการ กล่าวต่อว่า ในส่วนการกำหนดราคารับซื้อปลาหมอคางดำ กำหนดราคารับซื้อที่กิโลกรัมละ 15 บาท โดยผ่านผู้รวบรวมในพื้นที่ ซึ่งในพื้นที่มีผู้รวบรวมทั้งหมด 6 แพ โดยอยู่ในอำเภอพระสมุทรเจดีย์ 4 แพ อยู่ในอำเภอคลองด่าน จังหวัดสมุทรปราการ 2 แพ ซึ่งก็จะรับซื้อโดยตรง 15 บาท และจะมีในส่วนของการดำเนินการอีก 5 บาท เพื่อที่จะส่งต่อไปยังสำนักงานพัฒนาที่ดิน หรือ พด. และที่จังหวัดกาญจนบุรี และในส่วนหนึ่ง ก็ได้มีการประชาสัมพันธ์ ให้เร่งกำจัดปลาหมอคางดำ ทั้งในบ่อเลี้ยง และในแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยร่วมกันในการกำจัด ด้วยการใช้เครื่องมือต่างๆ และจะมีการจัดกิจกรรม ลงแขกลงคลอง เป็นกิจกรรม กำจัดปลาหมอคางดำ ร่วมกัน ระหว่าง เกษตรกร และหน่วยงานในสังกัดกรมประมง

...

ด้าน นายสุรกิจ ละเอียดดี ประธานศูนย์เพิ่มประสิทธิภาพการเกษตร อำเภอพระสมุทรเจดีย์ ผู้รวบรวมปลาและเจ้าของแพที่รับซื้อปลาหมอคางดำ ได้สะท้อนปัญหาของการรับซื้อในราคา 15 บาทว่า ผู้รับซื้อไม่สามารถรับซื้อได้จริงในราคานี้ เพราะเมื่อไปส่งก็ต้องส่งในราคา 15 บาท ได้ค่าเดินทาง 5 บาท เป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ แต่จากการพูดคุยในกลุ่มผู้รับซื้อด้วยกันเอง ไม่ได้ต้องการกำไรอะไรมากมาย แต่ต้องการช่วยกำจัด ให้ปลาหมอคางดำหมดไป ส่วนราคารับซื้อ ส่วนใหญ่จะรับกันได้ที่ 6 บาท แต่ปัญหาที่แท้จริงแล้ว ไม่ใช่ราคา แต่คือไม่มีผู้รับซื้อมากกว่า

ขณะที่ นายสนธยา แตงอุไร นายก อบต.แหลมฟ้าผ่า กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ก็ยังไม่ได้รับผลกระทบอะไรเท่าไร แต่เมื่อมีการระบาดของปลาหมอคางดำที่ผ่านมา ทำให้ผลผลิตทางการประมง ได้รับผลกระทบอย่างมาก เช่นเมื่อปล่อยหอยลงไป 1 ตัน ลูกหอยก็ถูกปลาหมอคางดำกินจนหมด หรือหากเป็นปูทะเล เมื่อถึงเวลาลอกคราบ ก็จะนิ่ม ก็ถูกปลาหมอคางดำกินจนหมดเช่นกัน ส่วนการประชุมวันนี้ เป็นนิมิตหมายที่ดี ในการหาทางออกร่วมกัน เพราะอย่างน้อยเกษตรกรชาวประมง จะได้รู้ว่าควรทำอย่างไร หรือขายในกิโลกรัมละ 6 บาทก็ยังดีกว่าไม่มีคนรับซื้อ

...

อย่างไรก็ดี นอกจากจะได้รับรู้รับฟังปัญหาที่แท้จริงของเกษตรกรชาวประมง รวมถึงผู้รับซื้อปลาหมอคางดำ ในส่วนของราคาแล้ว ก็พอจะหาทางออกร่วมกันได้ ในราคารับซื้อ กิโลกรัมละ 6 บาท และยังจะมีทางออกในการร่วมไม้ร่วมมือกันระหว่างชาวบ้าน เกษตรกรชาวประมง และหน่วยงานภาครัฐ ที่จะมีการร่วมมือกัน ลงแขกล้างคลอง โดยเฉพาะในคลองที่มีการระบาดอย่างหนัก เพื่อที่จะทำการกำจัดและหยุดการเจริญเติบโตของฝูงปลาหมอคางดำ ในพื้นที่อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ ต่อไปในเร็ววันนี้.