รมช.เกษตรฯ เปิดปฏิบัติการ จับปลาหมอคางดำ ตัดวงจรการแพร่ระบาดในสมุทรปราการ ย้ำ ประชาชนจับขายได้ราคา 15 บาท/กิโลกรัม อย่างไม่มีเงื่อนไข ในจุดรับ 73 แห่ง 16 จังหวัดที่มีการระบาด ขณะที่เกษตรกรยื่นร้องให้ภาครัฐดำเนินการจับปลาแบบจริงจังต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 67 นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเกษตรกร ร่วมกันเปิดกิจกรรมปฏิบัติการลงแขกลงคลอง (จับปลาหมอคางดำในพื้นที่) ร่วมกับผู้บริหาร เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและชาวประมงในพื้นที่ พร้อมมอบเครื่องมือประมงใช้จับปลาหมอคางดำให้แก่เกษตรกรและชาวประมง ตลอดจนตรวจเยี่ยมจุดรับซื้อปลาหมอคางดำ ที่ท้ายคลองปากอ่าวคลองด่าน ในตำบลคลองด่าน อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ โดยมีการมอบแหจับปลาหมอคางดำให้ตัวแทนเกษตรกร รวมถึงมีการนำเอาปลาหมอคางดำที่เกษตรกรจับได้ จากแหล่งน้ำธรรมชาติมาชั่งกิโลจำหน่ายให้กับตัวแทนภาครัฐที่รับซื้อในกิโลกรัมละ 15 บาท

...

ขณะที่ตัวแทนกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปลาหมอคางดำ ได้เข้ายื่นหนังสือถึง รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผ่านทางรัฐมนตรีช่วย เพื่อเรียกร้องมาตรการปราบปรามปลาหมอคางดำอย่างจริงจัง นอกจากนั้นยังมีการโชว์ขั้นตอนการหมักน้ำชีวภาพจากปลาหมดคางดำ เพื่อนำไปใช้ในสวนยางพาราของเกษตรกร อีกด้วย

รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากการระบาดของปลาหมอคางดำในพื้นที่ 16 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี จันทบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา นครปฐม และนนทบุรี กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมประมงกำลังเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องและจริงจัง โดยมุ่งเน้นไปที่ 7 มาตรการสำคัญ โดยเฉพาะมาตรการที่ 1 การควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด และมาตรการที่ 3 การนำปลาหมอคางดำที่กำจัดได้ไปใช้ประโยชน์ เนื่องจากขณะนี้มีการรณรงค์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำ

นายอรรถกร กล่าวต่อว่า ทั้งหมดเป็นไปตามตามข้อสั่งการของ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมงได้มีการจัดตั้งจุดรับซื้อขึ้นทุกพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาด จำนวน 73 จุด โดยการันตีราคารับซื้อที่กิโลกรัมละ 15 บาท ก่อนรวบรวมปลาหมอคางดําที่รับซื้อไว้ไปให้สถานีพัฒนาที่ดินแต่ละพื้นที่ผลิตเป็นน้ำหมักชีวภาพ เพื่อส่งมอบให้การยางแห่งประเทศไทยนำไปแจกจ่ายแก่เกษตรกรในโครงการแปลงใหญ่ เพื่อนําไปใช้ในพื้นที่สวนยางกว่า 200,000 ไร่ โดยเปิดจุดรับซื้อปลาหมอคางดำทั้งหมดแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1-31 สิงหาคม 2567

รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวอีกว่า สำหรับจุดรับซื้อแต่ละจังหวัด มีดังนี้ จังหวัดจันทบุรี มีจุดรับซื้อทั้งหมด 4 จุด จังหวัดระยอง 2 จุด จังหวัดฉะเชิงเทรา 3 จุด จังหวัดสมุทรปราการ 6 จุด จังหวัดนครปฐม 1 จุด จังหวัดนนทบุรี 1 จุด จังหวัดสมุทรสาคร 6 จุด จังหวัด สมุทรสงคราม 3 จุด จังหวัดราชบุรี 1 จุด จังหวัดเพชรบุรี 10 จุด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 13 จุด จังหวัดชุมพร 14 จุด จังหวัดสุราษฎร์ธานี 3 จุด จังหวัดนครศรีธรรมราช 5 จุด และจังหวัดสงขลา 1 จุด รวมทั้งสิ้น 73 จุดรับซื้อ ผู้ขายรายย่อย (เกษตรกร ชาวประมง) ไม่มีหลักเกณฑ์กำหนดในการรับซื้อ สามารถนํามาขาย ณ จุดรับซื้อต่างๆ ได้ในราคากิโลกรัมละ 15 บาท ไม่จํากัดจำนวน แต่หากเกษตรที่มีการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (ทบ. 1) จับจากบ่อตนเอง ให้แจ้งข้อมูล ทบ.1 กับเจ้าหน้าที่ ณ จุดรับซื้อ เพื่อเก็บเป็นฐานข้อมูลต่อไป ทั้งนี้ กรมประมงขอความร่วมมือแจ้งแหล่งน้ำที่จับและเครื่องมือที่จับกับเจ้าหน้าที่ ณ จุดรับซื้อ เพื่อบันทึกเป็นข้อมูลสำหรับใช้ประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำต่อไป

...

ด้าน นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ในส่วนของกรมประมง ขณะนี้ เดินตามแผนนโยบายของรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีรัฐมนตรีช่วย อรรถกร ลงมาควบคุมกำกับดูแลด้วยตัวเอง ซึ่งวันนี้เป็นวันที่ 3 ในการดำเนินการเปิดรับซื้อปลาหมอคางดำทั้ง 73 จุด ซึ่งมีความคืบหน้าไปมาก ย้ำว่าทุกตัวทุกกิโลต้องได้กิโลกรัมละ 15 บาท สำหรับเกษตรกรที่นำมาจำหน่าย เพื่อนำปลาหมอคางดำเข้าสู่ระบบ สำหรับการจับปลาหมอคางดำที่ผ่านมา โดยเฉพาะจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งกรมประมงได้อนุญาตให้ใช้อวนรุน ซึ่งสามารถจับได้ค่อนข้างมาก แต่ก็ลดลงจากช่วงเดือน ก.พ. 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งกรมประมงเพิ่งได้อนุมัติให้สามารถใช้อวนรุนในลำคลองสาขารวมถึงใน กทม.

...

อธิบดีกรมประมง กล่าวต่อว่า ในส่วนของการใช้เครื่องมือในแต่ละชนิดให้ตรงตามความต้องการในการจับปลาหมอคางดำนั้น ตนเองได้สั่งการให้ฝ่ายกฎหมายที่เกี่ยวข้องเร่งชงเรื่อง เพื่อขออนุมัติให้อนุญาตใช้เครื่องไม้เครื่องมือแต่ละชนิดตามพื้นที่ที่ต้องการเพื่อปลดล็อกในการอนุญาต โดยมอบอำนาจไปยังประมงจังหวัดในการพิจารณาอนุญาตเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆในการจับปลาหมอคางดำ ขณะนี้สามารถจับปลาหมอคางดำได้มากกว่า 20,000 กิโลกรัมแล้ว และวันนี้ก็จับเพิ่มขึ้นอีก ในส่วนของจุดที่รับซื้อนั้น อาจจะไม่ได้หยุดแค่ 73 จุด

นายบัญชา กล่าวด้วยว่า หาพบว่าพื้นที่ไหนมีการระบาดมากอาจจะเพิ่มจุดรับซื้อ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่เกษตรกรที่อาสาจับปลาหมอคางดำ อีกทั้งลดต้นทุนในการขนย้ายมายังจุดรับซื้อ เพื่อช่วยเกษตรกรที่อาสาจับปลาหมอคางดำมาจำหน่าย ในส่วนของความกังวลเกี่ยวกับพ่อค้าคนกลางที่อาจจะอาศัยช่วงนี้นั้น ตนเองมองว่าไม่น่าจะมี เนื่องจากส่วนใหญ่ที่มาจับกันนั้น เป็นอาสาจากเกษตรกรที่ต้องการจะจำกัดปลาหมอคางดำในหมดไปจากพื้นที่ อีกทั้งจุดรับซื้อจะเป็นจุดที่อยู่ใกล้แหล่งระบาดมากที่สุด แต่หากพบว่ามีพ่อค้าคนกลางจริงก็สามารถแจ้งมาได้ที่กรมประมงทันที.

...