ซีพีเอฟ แจง ชี้แจงคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ยืนยันไม่ใช่สาเหตุทำปลาหมอคางดำระบาด ย้ำพร้อมร่วมมือรัฐจัดการปัญหา ส่วนที่ไม่อนุญาตบันทึกภาพและเสียง เกรงมีผลทางกฎหมาย
เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2567 รายงานข่าวจากซีพีเอฟ ระบุว่า บริษัทได้ชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการฯ ตามคำเชิญเพื่อให้ข้อมูลข้อเท็จจริง และแสดงความคิดเห็นการดำเนินการของบริษัท โดยยืนยันว่าเป็นผู้นำเข้าถูกต้องตามกฎหมายเพียงรายเดียว ไม่ใช่สาเหตุของปัญหาปลาหมอคางดำ โดยบริษัทมีการดำเนินการกักกัน (Quarantine) ลูกปลาอย่างถูกต้อง ตลอด 16 วัน และย้ำว่าหลังการทำลายลูกปลาที่เหลือทั้งหมด บริษัทไม่มีการวิจัยหรือเลี้ยงปลาหมอคางดำอีกเลย นับตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2554 รวมถึงไม่การดำเนินการเชิงพาณิชย์ใดๆ ทั้งสิ้น
สำหรับกรณีที่เจ้าหน้าที่กรมประมงเข้าตรวจเยี่ยมฟาร์มเมื่อปี 2560 เป็นการสุ่มตรวจในบ่อพักน้ำที่เชื่อมต่อกับแหล่งน้ำธรรมชาติซึ่งไม่ได้เป็นส่วนของบ่อเลี้ยง แต่เป็นส่วนที่เชื่อมกับแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อรอการกรองและฆ่าเชื้อทำความสะอาดก่อนนำน้ำเข้ามาใช้ในฟาร์ม ขณะที่ในช่วงเวลาดังกล่าว ฟาร์มไม่มีการเลี้ยงปลาใดๆ เนื่องจากอยู่ระหว่างปิดปรับปรุงฟาร์ม
สำหรับกรณีไม่อนุญาตบันทึกภาพและเสียง เนื่องจากมีรายละเอียดที่มีผลทางกฎหมาย
รายงานข่าวกล่าวอีกว่า ซีพีเอฟมีความตั้งใจและยินดีให้ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐในการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาปลาหมอคางดำตามมาตรการ 7 ข้อของรัฐบาล เช่น การจับปลาเพื่อลดปริมาณปลาหมอคางดำจากแหล่งแพร่ระบาด การปล่อยปลาผู้ล่าหลังปลาหมอคางดำลด การใช้ประโยชน์จากปลาไม่ให้สูญเปล่า ตลอดจนป้องกันการแพร่กระจายไปยังแหล่งน้ำข้างเคียง ให้ความรู้ประชาชนและรู้จักวิธีกป้องกันอันตรายจากสัตว์น้ำต่างถิ่น เป็นต้น
...
ปัจจุบัน ซีพีเอฟดำเนินโครงการที่สอดคล้องตามแนวทางของภาครัฐ 5 โครงการ ประกอบด้วย
1) โครงการร่วมกับกรมประมงรับซื้อปลาหมอคางดำจากทุกจังหวัดที่มีการแพร่ระบาดจำนวน 2 ล้านกิโลกรัม ซึ่งรับมาแล้ว 600,000 กิโลกรัม
2) โครงการสนับสนุนปล่อยปลาผู้ล่าสู่แหล่งน้ำ จำนวน 200,000 ตัว ตามแนวทางของกรมประมง และมีการปล่อยปลากะพงขาวไปแล้ว 49,000 ตัว โดยร่วมมือกับชุมชนและทุกภาคส่วนในพื้นที่ที่พบการระบาด
3) โครงการสนับสนุนการจับปลา ตลอดจนอุปกรณ์จับปลาและกำลังคนในพื้นที่
4) โครงการร่วมมือกับสถาบันการศึกษา 3 แห่งคือ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลับขอนแก่น และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากปลาหมอคางดำ และ
5) โครงการร่วมทำวิจัยกับผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาตร์ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในการหาแนวทางควบคุมประชากรปลาหมอคางดำในระยะยาว รวมทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่สนใจเข้าร่วมโครงการนี้ด้วย.