อาจารย์เจษฎา แจงปมปลาหมอคางดำกลายพันธุ์หรือไม่ คำตอบ คือ ไม่ได้กลายพันธุ์เพียงแต่ปลาหมอคางดำอยู่ในแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์จนอ้วนพี ด้านอธิบดีกรมประมง ยืนยันยังไม่มีหลักฐานวิชาการยืนยันว่าปลาทั้ง 2 สกุล ผสมข้ามสายพันธุ์ได้ ย้ำแยกให้ออกปลานิลและปลาหมอคางดำ ให้ดูที่คางและแผ่นปิดเหงือกจะมีสีดำชัดเจน

กรณีเกษตรกรพบ "ปลาหมอคางดำ" ในวังกุ้ง ที่ ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ ที่มีลักษณะคล้ายกับปลานิล โดยปลานิลจะมีลักษณะตัวอ้วนกลมคางไม่มีสีดำ ปากจะยื่นยาวแหลมกว่า ปลาหมอคางดำตัวผอมยาวหัวโต ส่วนปลาต้องสงสัยว่ากลายพันธุ์ ตัวอ้วนกลมเหมือนปลานิล แต่ที่คางมีสีดำเหมือนปลาหมอคางดำ ทำให้เกิดความสงสัยและคาดว่าอาจจะเป็นการกลายพันธุ์ หรือเกิดการผสมข้ามพันธุ์หรือไม่ 

ตัวล่างสุด คือ ปลาหมอคางดำ ดูที่คางมีสีดำ และ หางไม่มีลายแบบปลานิล
ตัวล่างสุด คือ ปลาหมอคางดำ ดูที่คางมีสีดำ และ หางไม่มีลายแบบปลานิล

...

ต่อข้อสงสัยเรื่องนี้ ต่อมา อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักสื่อสารด้านวิทยาศาสตร์ออกมาอธิบายผ่านเฟซบุ๊กไปแล้วว่า "ผมว่า มันไม่ใช่ปลากลายพันธุ์หรือปลาลูกผสมอะไรหรอกครับ เพราะดูตามในรูป ในคลิปข่าวแล้ว ก็ปลาหมอคางดำนั่นแหละครับ... แค่มันกินจนอ้วนใหญ่ จนคนไม่คุ้นตากัน เพราะคิดว่ามันจะต้องผอมเรียวยาวเท่านั้น

จากข้อมูลของที่แอฟริกา ปลาหมอคางดำนั้น ถ้าเติบโตดี อาหารดี จะยาวเฉลี่ย 8 นิ้วนะครับ และสถิติตัวยาวสุดนี่ ถึงขนาด 11 นิ้วเลยครับ (และเป็นปลาอาหารชนิดหนึ่ง ของคนในท้องถิ่นครับ) การจำแนกความแตกต่างระหว่าง "ปลาหมอคางดำ" ออกจาก "ปลาหมอเทศ" และ "ปลานิล" ให้ดูที่ลักษณะจำเพาะของมัน อย่าดูแต่ความอ้วนผอมครับ"

ซึ่งถ้าพิจารณาดูจากปลาต้องสงสัยในคลิปข่าวแล้ว ก็จะเห็นว่า ไม่ได้มีลักษณะ "ลายเส้นคล้ำขวาง (ตามลำตัว และหาง)" แบบปลานิล ที่จะให้คิดว่าเป็นปลานิลกลายพันธุ์มาคล้ายปลาหมอคางดำ หรือเกิดลูกผสมกัน แต่มีรูปร่างหน้าตาสีสันไปทางเดียวกับปลาหมอคางดำตามปกติ เพียงแต่ตัวอ้วนกว่าเท่านั้นครับ

นอกจากนี้ ต่อข้อสังเกตของเกษตรกรที่ มองว่าเป็นการกลายพันธุ์หรือผสมข้ามพันธุ์หรือไม่นั้น อาจารย์เจษฎา ก็อธิบายเพิ่มเติมอีกว่า

"ข้อสังเกตอีกอย่างคือ ปลานิลและปลาหมอเทศนั้น (สกุล Oreochromis) เป็นปลาคนละสกุล กับปลาหมอคางดำ (สกุล Sarotherodon) เลยครับ การที่อยู่ๆ ในเวลาไม่กี่ปีนี้ มันจะกลายพันธุ์มาคล้ายกันได้นั้น ก็เป็นไปไม่ได้เลย ส่วนการเกิดลูกผสมข้ามสกุล ระหว่างปลานิลกับปลาหมอคางดำนั้น เคยโพสต์อธิบายอย่างละเอียดแล้ว ว่ามีการทดลองทำได้จริงในระดับงานวิจัย แต่ทำลูกผสม F1 สำเร็จได้ในปริมาณที่น้อยมากๆ และไม่มีรายงานว่าเกิดขึ้นในธรรมชาติครับ" 

ด้าน นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง ชี้แจงถึงข้อสงสัยของประชาชน กรณีสงสัยว่าปลาหมอคางดำผสมข้ามสายพันธุ์หรือไม่ ว่า ปลานิล หรือ Nile tilapia (Oreochromis niloticus) ส่วนปลาหมอคางดำ หรือ Blackchin tilapia (Sarotherodon melanotheron) เป็นปลาที่อยู่คนละสกุล (genus) ซึ่งลักษณะภายนอกที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน คือ ปลานิลจะมีแก้มและตัวสีคล้ายกัน หางมนและมีลายเส้น ส่วนปลาหมอคางดำ ใต้คางจะมีจุดสีดำ หางเว้า และไม่มีลวดลาย อีกทั้งพฤติกรรมการฟักไข่และดูแลลูกปลาก็มีความแตกต่างกันด้วย โดยในปลานิล ปลาเพศเมียมีพฤติกรรมดูแลไข่และตัวอ่อน ส่วนในปลาหมอคางดำ ปลาเพศผู้มีพฤติกรรมดูแลไข่และตัวอ่อน

...

อธิบดีกรมประมง กล่าวต่อว่า จากความแตกต่างทางชีววิทยาดังกล่าวข้างต้น ทำให้ในธรรมชาติ ปลาทั้งสองชนิดจะไม่ผสมข้ามพันธุ์ ดังนั้น ความน่าจะเป็นในการเกิดการผสมข้ามสายพันธุ์ในธรรมชาติมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก และยังไม่พบข้อมูลหลักฐานทางวิชาการที่ระบุ การผสมข้ามพันธุ์ในธรรมชาติระหว่างปลาทั้ง 2 ชนิด ประกอบกับเมื่อช่วงเดือนเมษายน 2567 ที่ผ่านมา กรมประมงได้เคยทดลองเลี้ยงปลานิล ปลาหมอคางดำ ปลาหมอเทศ ร่วมกัน เพื่อศึกษาว่าหากอยู่ในแหล่งอาศัยเดียวกัน จะสามารถผสมข้ามสายพันธุ์หรือไม่ ซึ่งผลการทดลองปรากฏว่า ไม่มีการผสมข้ามพันธุ์กัน อีกทั้ง ยังพบปลานิลแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวโดยกัดปลาหมอคางดำด้วย ดังนั้น ความกังวลในเรื่องของการกลายพันธุ์ที่เกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์นั้นจึงเป็นไปไม่ได้

ในส่วนภาพเปรียบเทียบรูปร่างที่ปรากฏในข่าวนั้น สามารถแยกชนิดจากลักษณะภายนอกได้อย่างชัดเจน ส่วนการที่จะระบุว่าปลาที่ปรากฏในข่าวเป็นปลาลูกผสมหรือไม่ ต้องดำเนินการตรวจสอบอย่างละเอียดในห้องปฏิบัติการ ทั้งด้านอนุกรมวิธานและทางอณูพันธุศาสตร์ โดยนักวิชาการที่มีความรู้เฉพาะทาง อย่างไรก็ตาม เพื่อความสบายใจของพี่น้องเกษตรกรและประชาชน ได้มอบหมายให้สำนักงานประมงจังหวัดร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดสมุทรปราการ ลงพื้นที่ไปยังบ่อเลี้ยงที่พบปลาดังกล่าวและเก็บตัวอย่างปลาเพื่อนำมาตรวจสอบทางวิชาการที่ห้องปฏิบัติการอนุกรมวิธานต่อไป

...

ตารางเปรียบเทียบ วิธีสังเกตปลาหมอสีคางดำ โดย กรมประมง
ตารางเปรียบเทียบ วิธีสังเกตปลาหมอสีคางดำ โดย กรมประมง

ขณะที่ ข้อมูลจากกรมประมง ก็ เผยแพร่ภาพปลาหมอคางดำเปรียบเทียบกับปลาหมอเทศ และปลานิล ที่มักจะมีคนสับสนเข้าใจผิด เพื่อให้ง่ายต่อการจำแนก ดังนี้

ปลาหมอคางดำ หรือ blackchin tilapia จะมีลักษณะเด่น คือ แผ่นปิดเหงือกและใต้คาง มักมีแต้มดำหรือสีดำเป็นปื้น ส่วนหางเว้าเล็กน้อย และไม่มีลายใดๆ 

ในขณะที่ ปลาหมอเทศ หรือ Mozambique tilapia จะมีแก้ม แผ่นปิดเหงือกมีสีขาวด้านล่าง ปนสีฟ้าอมเขียว ในตัวผู้มักมีแต้มขาว ครีบหางโค้งมน ขอบครีบหางมีสีแดงเสมอ

ส่วนปลานิล หรือ Nile tilapia จะมีแก้มและตัวสีคล้ายๆ กัน แผ่นปิดเหงือกสีเหลือปนสีแดงชมพู ครีบหางโค้งมนเล็กน้อย และมีลวดลายมีจุดสีขาวและเส้นสีดำตัดขวาง.