นักวิชาการประมง ลงพื้นที่สุ่มจับปลาหมอคางดำที่คลองตาเจียน อ.บางบ่อ เพื่อเก็บข้อมูลหาแนวทางกำจัด ยืนยัน ปลากะพง ตอบโจทย์ แก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำ หลังพบปริมาณลูกปลาหมอคางดำลดลง

นายจักรพัณน์ ปิ่นพุทธศิลป์ นักวิชาการประมง ศูนย์วิจัยพัฒนาประมงทะเลสมุทรปราการ นำทีมงานฝ่ายวิชาการกรมประมง พร้อมด้วย น.ส.ธนภร เจียรสุข นายกสมาคมการประมงคลองด่าน, นายธนพจน์ ทรงกรานต์ ผู้ใหญ่บ้าน ลงพื้นที่คลองตาเจียน หมู่ที่ 6 ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ สุ่มทอดแหจับปลาหมอคางดำ จำนวน 6 ตัว นำไปเก็บเป็นข้อมูล คำนวณหาความหนาแน่น ขนาดของตัวปลา และพื้นที่ที่พบ เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนใช้เครื่องมือเพื่อกำจัด ลดปริมาณการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำได้อย่างถูกวิธี

...

นักวิชาการประมง ศูนย์วิจัยพัฒนาประมงทะเลสมุทรปราการ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ เพื่อสำรวจความหนาแน่นของปลาหมอคางดำ เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2567 เพื่อหาสัดส่วนเปรียบเทียบกับปลาชนิดอื่นว่ามีในปริมาณเท่าใด นำกลับไปวัดขนาดลำตัว ชั่งน้ำหนัก คำนวณหาความหนาแน่นในพื้นที่ที่พบ เพื่อเป็นแนวทางในการใช้เครื่องมือกำจัดได้อย่างถูกต้อง

นายจักรพัณน์ กล่าวต่อว่า จากการทดลองเบื้องต้น พบว่าการจับปลาหมอคางดำในคลองธรรมชาติขนาดเล็ก จะยากกว่าจับในบ่อเลี้ยง เพราะมีอุปสรรคเรื่องของตอไม้ใต้น้ำ เครื่องมือที่เหมาะสมน่าจะเป็นอวนติดตา อวนลอย หรือตาข่าย คงต้องให้ชาวบ้านช่วยกันนำเครื่องมือเหล่านี้มาวางไว้ตามจุดต่างๆ ในคลอง ประมาณ 1 เดือน แล้วจับขึ้นมาขาย ถ้าราคารับซื้อดีก็ยิ่งจะทำให้มีแรงจูงใจในการไล่จับขึ้นมาขาย เป็นวิธีการลดปริมาณการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำได้เป็นอย่างดี

นักวิชาการประมง กล่าวด้วยว่า ส่วนเรื่องของการปล่อยปลากะพง หรือปลานักล่า ไปกำจัดปลาหมอคางดำนั้น กรมประมงได้ทดลองปฏิบัติการในพื้นที่ประตูระบายน้ำคลองสวน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ แล้วไปสุ่มสำรวจอีกครั้งในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา พบว่าปริมาณปลาหมอคางดำในพื้นที่มีความหนาแน่นลดลงอย่างมาก จึงเป็นสิ่งยืนยันว่า การปล่อยปลากะพง ซึ่งเป็นปลานักล่า สามารถแก้ปัญหาในพื้นที่ ไปกำจัดกินลูกปลาหมอคางดำได้ผลสำเร็จ.