ผู้เลี้ยงกุ้งที่นครศรีธรรมราช 1 ในพื้นที่ที่ปลาหมอคางดำระบาดรุนแรง ปรับตัวสู้วิกฤติ ทดลองนำซากปลาที่จับได้จากแหล่งน้ำมาต้มทำเป็นอาหารเสริมให้กุ้งในฟาร์ม โดยทดลองให้เป็นสูตรต่าง หวังใช้โปรตีนจากปลาให้เกิดประโยชน์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ จ.นครศรีธรรมราช 1 ในจังหวัดที่มีการระบาดอย่างรุนแรงของปลาหมอคางดำในอำเภอปากพนัง และหัวไทร ยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ชาวบ้านหลายครอบครัวได้ใช้โอกาสนี้ สร้างรายได้จากปลาหมอคางดำ ด้วยการจับปลานำมาจำหน่ายให้กับแพปลา ในการนำไปเป็นเหยื่อในลอบปู หรือแปรรูปเป็นอาหารท้องถิ่น แต่แม้จะมีโครงการเตรียมรับซื้อปลาหมอคางดำโดยกระทรวงเกษตรกรและสหกรณ์ กรมประมง และการยางแห่งประเทศไทย แต่ที่นครศรีธรรมราช ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องจุดรับซื้ออย่างจริงจัง ล่าสุดมีเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งรายใหญ่ที่ตำบลเกาะเพชร อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ทดลองนำปลาหมอคางดำมาใช้เป็นอาหารเสริมสำหรับกุ้งในฟาร์ม
...
นายพิเชษฐ์ รัตนกุล เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งชาวเนินหนองหงส์ หมู่ 4 ตำบลเกาะเพชร อำเภอหัวไทร นครศรีธรรมราช พื้นที่ระบาดของปลาหมอคางดำได้เริ่มทดลองเริ่มต้นจากการใช้ปลาหมอคางดำวันละ 50 กิโลกรัม มูลค่า 1 พันบาทมาปรับใช้เป็นอาหารเสริมให้กับกุ้งที่เลี้ยงไว้ และเริ่มสังเกตความเปลี่ยนแปลงของกุ้งในบ่อ
เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งชาวเนินหนองหงส์ กล่าวต่อว่า เริ่มต้นตอนเช้าจากการไปรับปลาหมอคางดำมาจากแหล่งจากนั้นได้นำมาทำความสะอาด แล้วต้มทันทีพร้อมกับใส่เกลือจำนวนหนึ่ง ในขณะที่ยังมีความสดใหม่ โดยจะไม่ใช้ปลาสดอย่างเด็ดขาด เพราะเกรงว่าจะมีการเล็ดลอดของไข่ปลา แล้วทำให้มีการแพร่พันธุ์ได้ในบ่อกุ้งจะสร้างความเสียหายได้ เมื่อต้มจนสุกจากนั้นพักไว้จนกระทั่งช่วงเย็นของทุกวัน จะนำไปเสริมอาหารให้กับกุ้งในบ่อเลี้ยง
นายพิเชษฐ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ อยู่ในขั้นทดลองมาได้ 3-4 วัน ยังไม่เห็นผล แต่ได้ทดลองมีทั้งบ่อที่ให้ปลาหมอคางดำต้ม และบ่อที่ไม่ได้ให้เสริม เพื่อสังเกตดูความเปลี่ยนแปลง คาดหวังว่าโปรตีนของปลาหมอคางดำจะช่วยการเจริญเติบโตของกุ้ง คุณภาพของเนื้อ อัตราการแลกเนื้อที่ดีขึ้น ไม่กี่วันนี้น่าจะเห็นผลได้ชัดเจน
...
เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งชาวเนินหนองหงส์ กล่าวด้วยว่า นอกจากนั้น ยังมีการต้มเนื้อปลาให้เปื่อยยุ่ย แล้วนำไปหมักผสมกับจุลินทรีย์ ประมาณ 4-5 เดือนแล้วนำน้ำหมักที่ได้ไปผสมคลุกเคล้ากับอาหาร ก่อนนำไปใช้กับกุ้ง ซึ่งคาดหวังว่าจะได้ผลดีกลับมา และอาจเป็นต้นแบบให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง รวมทั้งสามารถลดปริมาณจากการระบาดของปลาหมอคางดำได้ในระดับหนึ่ง เนื่องจากผู้เลี้ยงกุ้งมีอยู่เป็นจำนวนมาก สามารถดึงเอาปลาไปใช้ได้ปริมาณมหาศาล.