ลุงชาวปากท่อวัย 67 ขออาสาเป็น ฉก.ปราบปลาหมอคางดำ ชี้จับมาทำเป็นอาหารดีที่สุด แต่แนะอย่าทาเกลือตากแดดเพราะเนื้อปลาจะแข็ง ทุกวันนี้สงสารชาวบ้านเสียหายเป็นแสนๆ บ่อกุ้งโดนกินหมด โดยขอจับทั้งปลาหมอคางดำและปลาซัคเกอร์ เพื่อให้ระบบนิเวศคืนสมดุล
ผู้สื่อข่าวเดินทางไปยังคลองปากท่อ ในพื้นที่ ต.ปากท่อ อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี หลังจากที่พบว่ามีปลาหมอคางดำระบาดในคลองปากท่อ ได้พบ นายสุรพล สินเกตุ อายุ 67 ปี ชาวบ้านที่ตระเวนออกหาปลาตามคลองธรรมชาติบริเวณ ต.ปากท่อ อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี เผยตัวเองมีดีกรีจบด็อกเตอร์ แต่ขอตั้งตัวว่าเป็น หน่วยเฉพาะกิจ ปราบปลาหมอคางดำ โดยพบว่ายังมีปลาหมอคางดำอยู่ในคลองธรรมชาติแห่งนี้อยู่เนื่องจากสามารถทอดแหขึ้นมาได้หลายสิบตัว และลักษณะของปลาหมอคางดำบริเวณนี้เป็นปลาที่ตัวโตเต็มวัย สามารถแพร่ขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังเจอปลาซัคเกอร์ หรือปลาดูดกระจกขนาดใหญ่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้ด้วย ซึ่งปลาชนิดนี้ก็เป็นเอเลี่ยนเหมือนกัน เพราะมันดูดกินไข่ปลา และไข่กุ้งลูกกุ้งทั้งหมด
...
นายสุรพล สินเกตุ ชาวบ้านที่ออกหาปลา ดีกรีด็อกเตอร์ ตั้งตัวว่าเป็น หน่วยเฉพาะกิจ ปราบปลาหมอคางดำ กล่าวว่า ตนเองจะออกมาไล่ล่าปลาหมอคางดำทุกวัน เพื่อนำมาทำเป็นอาหารหรือไม่ก็นำไปแจกจ่ายแลกกับพืชผักชนิดอื่นของชาวบ้าน แต่ไม่ได้ขาย ทำอย่างนี้มานานแล้ว จนเมื่อหลายปีก่อนเริ่มมีปลาหมอคางดำมาอยู่ในคลองธรรมชาติ ตนก็จับมาได้มากมายนำมากินเป็นอาหารเนื้อจะอร่อยมากแต่อย่านำไปใส่เกลือแล้วตากแดดเพราะเนื้อจะแข็ง โดยจะออกจับตามคลองทั่วๆ ไปที่มีแนวเขตติดต่อกับทาง จ.สมุทรสาคร และ จ.สมุทรสงคราม ที่เป็นแหล่งระบาดของปลาหมอคางดำที่ถือเป็นภัยของปลาธรรมชาติทั่วไป
เนื่องจากปลาหมอคางดำนั้น มีพฤติกรรมก้าวร้าว จะกินปลาเล็กทั้งหมด แล้วกินจุ กินทุกอย่าง แต่อาหารที่ปลาหมอคางดำชอบ คือ กุ้งทุกชนิด แต่เมื่อไม่มีกุ้งก็จะกินปลาด้วยกัน ซึ่งตนนั้นจับมาได้เรื่อยๆ ตั้งแต่ยังไม่เป็นข่าวและจะตระเวนไล่ล่าปลาหมอคางดำไปทุกๆ พื้นที่ เพื่อจะได้ให้มันหมดไปเพราะสงสารชาวบ้านที่ทำกินที่ลงทุนเลี้ยงกุ้งแต่พอถึงเวลาจับขึ้นมา ไม่มีกุ้งเลย เจอแต่ปลาหมอคางดำ ลงทุนไปเป็นแสนๆ ตัวเองสงสารมากๆ เลย อยากไล่ล่าปราบปลาหมอคางดำให้หมดสิ้นไป
จนตอนนี้มีข่าวว่าทางกระทรวงเกษตรฯ จะตั้งจุดรับซื้อในราคากิโลกรัมละ 15 บาท เพื่อนำไปเป็นปุ๋ยซึ่งจะดีกับพืชใบ ก็ถือเป็นเรื่องที่ดีเพราะถ้าซื้อแพงกว่านี้รัฐบาลก็อยู่ไม่ได้ เพราะในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร นั้นมีมากกว่าบ้านเราหลายเท่า แต่เชื่อว่ากว่าจะหมดก็คงจะอีกนาน เพราะปลาหมอคางดำขยายพันธุ์เร็ว แล้วตั้งท้องเพียง 22 วัน ก็สามารถออกไข่มีลูกได้แล้ว และจะอยู่ทั่วไปตามแหล่งน้ำ และปลาชนิดนี้ก็ทนต่อทุกสภาพน้ำด้วย แต่ในพื้นที่ของ จ.ราชบุรีนั้นถือเป็นพื้นที่ปลายน้ำไม่ได้มีมากเหมือน จ.สมุทรสาคร ก็ถือว่าดี แต่อยากให้มีการรณรงค์ให้ชาวบ้านจับมาทำอาหารมากกว่า
...
ในส่วนของตนนั้นนอกจากจะจับไปทำอาหารแล้วก็ยังเป็นจิตอาสาที่มาล่าปลาหมอคางดำด้วย แต่ก็อย่าลืมว่าไม่ได้มีแค่ปลาหมอคางดำเท่านั้นที่เป็นภัยกับสัตว์น้ำด้วยกัน แต่ยังมีปลาซัคเกอร์ หรือปลาดูดกระจก หรือเรียกอีกอย่างว่าปลาเทศบาล ซึ่งปลาชนิดนี้จะกินไข่ปลาทุกชนิด ก็จะทำให้ปลาธรรมชาติไม่สามารถแพร่ขยายพันธุ์ได้ ซึ่งตอนนี้ตนต้องออกล่าทั้งปลาหมอคางดำและปลาซัคเกอร์ และถ้าจะให้ปลาหมอคางดำลดลงได้เร็วขึ้นก็น่าจะนำปลาชะโดมาช่วยล่าด้วย โดยหลังจากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการประกาศที่จะรับซื้อปลาหมอคางดำจากชาวบ้านในราคากิโลกรัมละ 15 บาท โดยเริ่มในวันที่ 1 สิงหาคม นี้ ทั้งนี้ก็เพื่อลดปริมาณของปลาหมอคางดำที่ถือเป็นภัยของสัตว์น้ำ และปลาที่รับซื้อมาก็จะนำไปทำเป็นปุ๋ยธรรมชาติด้วย.