ศูนย์ประเมินผลสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) รายงานการดำเนินโครงการสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ของกรมส่งเสริมการเกษตร กรมการข้าว กรมปศุสัตว์ กรมวิชาการเกษตร และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
ในรอบ 8 เดือน (1 ตุลาคม 2566-31 พฤษภาคม 2567) กรมส่งเสริมการเกษตรสามารถดำเนินการส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรแก่เกษตรกร 16,499 ราย (ร้อยละ 107 ของเป้าหมาย 15,400 ราย) กรมปศุสัตว์ดำเนินการพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมการบริหารจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเป็นอาหารสัตว์ และให้ยืมเครื่องจักรกลอาหารสัตว์ (Motor Pool) แก่เกษตรกร 4,432 ราย (ร้อยละ 90 ของเป้าหมาย 4,940 ราย) และมีเกษตรกรมาใช้บริการศูนย์บริการอาหารสัตว์ กรมปศุสัตว์ (Feed Center) แล้ว 1,108 ราย (ร้อยละ 106 ของเป้าหมาย 1,050 ราย) กรมการข้าวดำเนินการเพิ่มศักยภาพการจัดการฟางข้าวหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อความยั่งยืนแก่แปลงต้นแบบ 20 ไร่ (ร้อยละ 50 ของเป้าหมาย 40 ไร่)
และจากการลงพื้นที่จังหวัดหนองคาย อุดรธานี นครราชสีมา และสระบุรี พบว่า วิสาหกิจชุมชนและกลุ่มเกษตรกรจำนวนกว่า 17 แห่ง ได้รับการถ่ายทอดความรู้จากกรมส่งเสริมการเกษตรและกรมปศุสัตว์ เช่น การผลิตปุ๋ยหมักแบบไม่กลับกอง การเพาะเห็ดฟางในตะกร้า การเพาะเห็ดฟางกองเตี้ย และการใช้เครื่องจักรกลผลิตอาหารสัตว์ ช่วยลดปริมาณวัสดุเหลือใช้ในแปลง โดยเฉพาะฟางในนาข้าว ลดปัญหาการเผา ส่งผลให้กลุ่มเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการจำหน่ายเห็ดฟางจากฟางข้าวและกากมันสำปะหลัง และผลิตปุ๋ยหมักจำหน่ายให้แก่สมาชิก ช่วยให้มีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยเดือนละ 2,713 บาท
อีกทั้งกลุ่มเกษตรกรยังมีการผลิตถ่านไบโอชาร์จากกิ่งเงาะ เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในครัวเรือนและใช้ปรับปรุงดินในแปลงเกษตร กลุ่มเพาะเห็ดฟางกองเตี้ยบ้านโนนดู่ ต.โนนจาน อ.บัวลาย จ.นครราชสีมา มีการนำฟางข้าวและกากมันสำปะหลังมาเพาะเห็ดฟางกองเตี้ย ส่งผลให้กลุ่มมีรายได้ เพิ่มขึ้นเดือนละ 2,462 บาท/เดือน กลุ่มแปลงใหญ่มันสำปะหลัง ต.หนองนกเขียน อ.ศรีธาตุ จ.อุดรธานี นำฟางข้าวมาเพาะเห็ดฟางในตะกร้า ส่งผลให้กลุ่มมีรายได้เพิ่มขึ้นเดือนละ 3,000 บาท/เดือน เป็นต้น.
...
สะ-เล-เต
คลิกอ่าน "หน้ามองฟ้า เท้าหยั่งดิน" เพิ่มเติม