อธิบดีกรมประมงโต้ “ซีพีเอฟ” ที่อ้างกำจัดปลาหมอคางดำตั้งแต่ปี 2554 แต่ปี 2560 ทอดแห ในบ่อเพาะเลี้ยงของบริษัทที่ อ.อัมพวา ยังเจอปลาหมอคางดำ พร้อมออกประกาศย้ำห้ามเพาะเลี้ยงปลาหมอคางดำ ใครฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากนำไปปล่อยในที่จับสัตว์น้ำมีโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ขณะที่บ่อเลี้ยงปลากะพงในเมืองสมุทรปราการโอดเจอปลาหมอคางดำสุดอึดอยู่ได้แม้ในน้ำที่มีอุณหภูมิสูงกว่าปกติ ขยายพันธุ์จนแน่นทำน้ำเน่า ปลากะพงน็อกตายหมด หนำซ้ำยังเขมือบลูกปูทะเล หอยแครง กุ้งเลี้ยงจนเกลี้ยง อึ้งหนักพบ “ปลาหมอมายัน” ในบ่อด้วย
จากการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงของปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พยายามเร่งแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน พร้อมหาต้นตอของการระบาด โดยเมื่อวันที่ 21 ก.ค.นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยถึงกรณีการขออนุญาตนำเข้า เพื่อนำมาวิจัยปรับปรุงพันธุ์ ปลาหมอคางดำของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ตั้งแต่ปี 2549 ว่า กระทั่ง เดือนธันวาคม 2553 จึงสามารถนำปลาหมอคางดำ เข้ามาได้ผ่านด่านตรวจประมงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จากนั้นแจ้งว่างานวิจัยไม่ประสบความสำเร็จจึงกำจัด ทำลายซากปลาทั้งหมดในเดือนมกราคม 2554 ต่อมา เริ่มพบการระบาดของปลาหมอคางดำในปี 2555 แล้วขยายวงกว้างขึ้นจนรุนแรงอย่างยิ่งในขณะนี้
อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า แม้ส่วนตัวจะเป็นอธิบดี มาได้แค่ 4 เดือน แต่จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม พบว่า ในปี 2560 เจ้าหน้าที่กรมประมงขอเข้าตรวจสอบที่บ่อเพาะเลี้ยงของซีพีเอฟที่ ต.ยี่สาร อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม เพื่อตรวจหาสาเหตุเกี่ยวกับการระบาดของปลาหมอคางดำ โดยมีการทอดแห ในบ่อเพาะเลี้ยง พบว่า มีปลาหมอคางดำในบ่อ จึงได้ เก็บตัวอย่างจากครีบและชิ้นเนื้อ มารักษาไว้ที่ห้อง เก็บตัวอย่างของกรมประมง ทั้งนี้ กรมได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อหาสาเหตุที่ทำให้เกิดการระบาดของปลาหมอคางดำ รุกรานระบบนิเวศแหล่งน้ำของประเทศไทย และสร้างผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและชาวประมง ตามคำสั่งของที่ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการ แพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ให้ทราบข้อเท็จจริง ภายใน 7 วันทำการ แล้วรายงานต่อร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรฯต่อไป
...
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง ได้ลงนามในประกาศกรมประมง เรื่องประชาสัมพันธ์ห้ามเพาะเลี้ยงปลาหมอคางดำ ที่ระบุว่า ด้วยปัจจุบันประเทศไทยประสบ ปัญหาการรุกรานของปลาหมอคางดำ ชื่อสามัญ Blackchintilapia ชื่อวิทยาศาสตร์ Sorotherodon melonotheron ที่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมของประเทศไทย ทำให้เจริญเติบโตและแพร่ขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและสร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและชาวประมง ซึ่งกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ ได้ออกประกาศกระทรวงเกษตรและ สหกรณ์ เรื่องกำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามเพาะเลี้ยง ในราชอาณาจักร พ.ศ.2564 ห้ามเพาะเลี้ยงปลาหมอ คางดำ หากผู้ใดฝ่าฝืนทำการเพาะเลี้ยงปลาหมอคางดำ จะถูกดำเนินคดีตามมาตรา 144 แห่งพระราชกำหนด การประมง พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากนำไปปล่อยในที่จับสัตว์น้ำต้องระวาง โทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ประกอบกับขณะนี้กรมประมงอยู่ระหว่างดำเนินการควบคุมกำจัดไม่ให้ปลาชนิดนี้ แพร่ขยายพันธุ์และเป็นการลดผลกระทบต่อระบบนิเวศ และลดการสร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและชาวประมง จึงขอประชาสัมพันธ์ห้ามมิให้เพาะเลี้ยงและนำปลาหมอคางดำไปปล่อยในแหล่งน้ำอย่างเด็ดขาด หากพบเหตุดังกล่าวให้แจ้ง สำนักงานประมงจังหวัด หรือสำนักงานประมงอำเภอในเขตท้องที่ทุกแห่ง และหากพบเห็นปลาหมอคางดำ ในแหล่งน้ำธรรมชาติ ขอความร่วมมือให้กำจัดออกจากแหล่งน้ำนั้นด้วย จึงประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน
ต่อมานายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง กล่าวเพิ่มเติมถึงกระแสสังคมจากที่เป็นประเด็นในสื่อ ต่างๆว่า กรมประมงได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปรับตัวอย่างปลาหมอคางดำที่ใช้ในการวิจัยจากบริษัทดังกล่าวที่ฟาร์ม 50 ตัวอย่าง และต้องการให้กรมประมงนำตัวอย่างดังกล่าวมาตรวจสอบว่ามี DNA ตรงกับปลาหมอคางดำที่แพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้หรือไม่ กรมฯขอย้ำประโยคเดิม จากการดำเนินการตรวจสอบเอกสารหรือหลักฐานการรับมอบตัวอย่างในสมุดลงทะเบียนรับตัวอย่าง และฐานข้อมูลในระบบ ตั้งแต่ที่มีการนำเข้าจนถึงปี 2554 ไม่พบหลักฐานการรับตัวอย่าง และขวดตัวอย่างดังกล่าวแต่อย่างใด
อธิบดีกรมประมง กล่าวอีกว่า กรมฯ ได้เร่งทำ ตามนโยบายของ รมว.เกษตรฯ ทั้ง 5 มาตรการรับมือ โดยเฉพาะการตั้งโต๊ะรับซื้อ คาดว่าจะทำได้ในสัปดาห์นี้ ตามแพปลาของกรมประมง และจะเร่งดำเนินการ ตรวจสอบตามกระบวนการเพื่อหาต้นตอ และหาข้อเท็จจริงให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสังคม ส่วนความรับผิดชอบของบริษัทผู้นำเข้านั้น อยากให้สังคมพิจารณา เพราะทางกฎหมายคงไม่สามารถดำเนินการเอาผิดได้ โดยซากปลาที่บริษัทอ้างว่าได้ฝังกลบไปแล้วนั้น ปัจจุบันยังได้สร้างตึกทับไปแล้ว คงไม่สามารถตรวจสอบ ซากได้ และแม้จะขุดขึ้นมาก็คงไม่พบเพราะอาจย่อยสลายไปหมดแล้ว อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ จะดำเนินการแก้กฎหมายเพิ่มบทลงโทษผู้กระทำความผิดให้มากกว่ากฎหมายฉบับปัจจุบัน
ส่วนที่ จ.จันทบุรี วันเดียวกัน น.ส.ญาณธิชา บัวเผื่อน สส.จันทบุรี นายมานะ ชนะสิทธิ์ นายกสมาคมพัฒนาการเมืองไทย และนายนิวัติ ธัญชาติ คณะกรรมการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอ คางดำระดับชาติ ตัวแทนจังหวัดจันทบุรี ติดตามการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ที่บ้านหมูดุด หมู่ที่ 4 ตำบลคลองขุด อ.ท่าใหม่ โดยมีนายกิมเหล็ง คุมคณะ และนายจตุพร คุมคณะ สองพ่อลูกเจ้าของ บ่อเลี้ยงกุ้งและปลากะพง ในเนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ครึ่ง จำนวน 2 บ่อ ได้รับความเดือดร้อนจากการระบาด ของปลาหมอคางดำ กินลูกกุ้งขนาดเล็กที่ปล่อยลงไป จนหมด จนต้องเลิกเลี้ยงกุ้ง เปลี่ยนมาเลี้ยงปลากะพง แต่ยังพบปัญหาเดียวกันคือ เมื่อปล่อยลูกพันธุ์ปลา ขนาดเล็กลงไป จะเจอปลาหมอคางดำกินไปจนหมด
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการลงแหจับปลาหมอคางดำ 6 รอบ ได้ปลาหมอคางดำมา 10 กว่ากิโลกรัม และพบว่าการลงแหจับแต่ละครั้ง 99 เปอร์เซ็นต์ของปลาที่ติดแหมา พบแต่ปลาหมอคางดำ น้ำหนักปลาจะอยู่ที่ 1 ขีดต่อ 1 ตัว หรือ 10-12 ตัว ต่อ 1 กิโลกรัม ติดปลาชนิดอื่นเพียง 1-2 ตัวเท่านั้น โดยปลาหมอคางดำที่พบส่วนใหญ่เป็นวัยเจริญพันธุ์ทั้งสิ้น โดยปลาหมอคางดำกว่า 10 กิโลกรัม มีคนมารับซื้อทั้งหมดในราคา กก.ละ 20 บาท ขณะที่ นายนิวัติ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า ขณะนี้ จ.จันทบุรี มีการระบาดของปลาหมอคางดำ ในพื้นที่ ต.ช้างข้าม ต.กระแจะ ต.สนามไชย อ.นายายอาม และในอ่าว คุ้งกระเบน ซึ่งเป็นรอยต่อระหว่าง อ.ท่าใหม่ กับ อ.นายายอาม ไปถึงปากน้ำวังโตนด ปากน้ำแขมหนู ครอบคลุมพื้นที่ 2 อำเภอ 4 ตำบล
...
นอกจากนี้ เมื่อช่วงเที่ยงวันเดียวกัน ที่บ่อเลี้ยง ปลากะพง เลขที่ 434 หมู่ที่ 5 ต.บางปูใหม่ อ.เมือง สมุทรปราการ ที่มีการแจ้งว่า พบปลาหมอคางดำอยู่แน่นเต็มบ่อ มีลักษณะตัวใหญ่มาก บางตัวหนัก ถึงครึ่งกิโลกรัม และที่ต่างจากแหล่งอื่นคือ ปลาหมอคางดำที่บ่อนี้อยู่ได้ในน้ำที่มีอุณหภูมิสูงกว่าพื้นดิน หรืออากาศทั่วไป ขณะที่สัตว์น้ำชนิดอื่นตายหมดยกบ่อ เช่น ปูทะเล ปลากะพง นอกจากปลาหมอคางดำแล้ว ยังพบปลาหมอมายันด้วย
ทั้งนี้ นายนที บัวทิม เจ้าของบ่อเลี้ยงปลากะพง กล่าวว่าที่บ่อแห่งนี้ น้ำในบ่อมีอุณหภูมิสูง ปูทะเลน็อกตายทั้งหมด แต่ปลาหมอคางดำอยู่ได้ ส่วนปลากะพง ขนาด 4-8 นิ้ว จำนวน 300 ตัว ที่ปล่อยเลี้ยงไว้ ในบ่อ จู่ๆก็น็อกน้ำตายหมด ตนจึงถ่ายน้ำออก พบ ปลาหมอคางดำอยู่แน่น จับขึ้นมาได้ประมาณร้อยกว่า กิโลกรัม บางส่วนแจกจ่ายให้เพื่อนบ้านนำไปกิน บางส่วนทำลายทิ้ง แต่ในบ่อยังมีเหลืออยู่อีกเยอะคาดว่าหากจับขึ้นมาคงได้อีกหลายร้อยกิโลกรัม ส่วนสาเหตุที่ปลากะพงน็อกตาย คาดว่าเกิดจากตอน ที่นำน้ำทะเลเข้ามาในบ่อตามรอบของการเลี้ยง เชื้อของปลาหมอคางดำคงไหลเข้ามาด้วย และมาเติบโตขยายพันธุ์จนแน่นเต็มบ่อ แย่งอากาศจากปลากะพง ทำให้น้ำเน่าเสีย ปลากะพงจึงน็อก แต่ปลาหมอคางดำกลับทนทานปรับตัวอยู่ได้และยังสามารถขยายพันธุ์เพิ่มปริมาณมากขึ้นอีก ปกติแล้วปลากะพง จะเป็นตัวที่ล่าและทำลายปลาหมอคางดำ แต่ที่บ่อนี้กลับเป็นปลาหมอคางดำที่จัดการกับปลากะพง นอกจากนี้ ปลาหมอคางดำยังกินลูกปูทะเล หอยแครง กุ้งในบ่อเลี้ยงของตนจนหมดเกลี้ยง จึงอยากฝากถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยเรื่องราคารับซื้อปลาหมอคางดำให้ดีและเร็วหน่อย จะได้นำเงินมาชดเชยกับความเสียหายที่เกิดขึ้น
...
ด้าน น.ส.ธนภร เจียรสุข นายกสมาคมการประมงคลองด่าน ได้นำลูกปลาหมอคางดำที่จับใส่ขวดน้ำพลาสติกใสมาให้ดูก่อนกล่าวว่า บ่อนี้มีพื้นที่ ประมาณ 2 ไร่ เจ้าของบ่อจับปลาหมอคางดำได้ 100 กว่ากิโลกรัม ซึ่งยังจับขึ้นมาไม่หมด ทำให้คิด ต่อไปได้ว่าถ้าพวกมันอยู่ในทะเลจะขยายพันธุ์มีปริมาณมากมายขนาดไหน และที่บ่อแห่งนี้ปลาหมอ คางดำที่พบมีขนาดใหญ่มากตั้งแต่เคยเห็นมาในหลาย สถานที่ นอกจากนี้ ยังพบปลาหมอมายันที่เป็นสัตว์สายพันธุ์ต่างถิ่นหรือเอเลี่ยนสปีชีส์ ซึ่งเป็นปัญหากับ เกษตรกรเช่นกัน
สำหรับปลาหมอมายันนั้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ถือเป็นหนึ่งในสัตว์น้ำที่ห้ามเพาะเลี้ยงฯ ตามประกาศของกระทรวงเกษตรฯ เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้าม เพาะเลี้ยงในราชอาณาจักร พ.ศ.2564 ด้วย
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่