กรมประมงออก 5 มาตรการ จัดการ “ปลาหมอคางดำ” ที่กำลังระบาดทำลายระบบนิเวศและพบระบาดเพิ่มรวมเป็น 16 จังหวัด ยันบริษัทใหญ่ขอนำเข้าปลามาทำการวิจัยอย่างถูกต้อง แต่ตอนยกเลิกทำวิจัยไม่มีแจ้งให้ทราบถึงการทำลายตัวอย่าง ขณะที่ CPF ยืนยัน ส่งหลักฐานทำลายซากปลาหมอคางดำให้กรมประมงตั้งแต่ปี 54 เผยปลา 2 พันตัว ที่นำเข้าถูกทำลายไปสวรรค์หมดแล้ว ตั้งข้อสงสัย 14 ปีผ่านไปทำไมเพิ่งระบาด ชี้อาจหลุดจากแหล่งเลี้ยงปลาสวยงามที่คนนิยม ด้าน รมว.เกษตรฯสั่งการเร่งด่วนให้กรมประมงแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงของการแพร่ระบาด หากพบหลักฐานเพิ่มให้เร่งตรวจสอบหาต้นตอหาข้อเท็จจริงให้ประจักษ์ต่อสังคม

ที่กรมประมง เมื่อวันที่ 17 ก.ค. นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง แถลงว่า กระทรวงเกษตรฯ กำหนดเรื่องปลาหมอคางดำเป็นวาระเร่งด่วนและมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ พร้อมออก 5 มาตรการสำคัญ คือ 1.ควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด โดยกรม พร้อมแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคในการใช้เครื่องมือประมง 2.ปล่อยปลาผู้ล่า เช่น ปลากะพงขาว ปลาอีกง หรือปลาผู้ล่าชนิดอื่น เพื่อกำจัดจากแหล่งน้ำธรรมชาติไปแล้วกว่า 226,000 ตัว ลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติใน 7 จังหวัด มี กทม. สมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ เพชรบุรี ราชบุรี สงขลา และมีโครงการปล่อยต่อเนื่องในทุกพื้นที่ 3.นำปลาหมอคางดำที่กำจัดไปใช้ประโยชน์ เช่น ทำปลาป่น แปรรูปและจำหน่ายให้โรงงานปลาป่น 2 แห่งกว่า 1 ล้าน กก. มูลค่าเกือบ 10 ล้านบาท ยังไม่รวมการจัดซื้อเพื่อทำน้ำหมักชีวภาพของภาครัฐและเอกชนที่รับซื้อไปเป็นปลาเหยื่อ 4.สำรวจเฝ้าระวังการแพร่กระจายในแหล่งน้ำธรรมชาติตามพื้นที่กันชนต่างๆ แจ้งเบาะแสพิกัดที่พบการแพร่กระจายของปลาหมอคางดำได้ที่ https://shorturl.asia/3MbkG  5.ประชาสัมพันธ์ สร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วม

...

อธิบดีกรมประมงกล่าวอีกว่า ปัจจุบันพบการแพร่ระบาดเพิ่มบางพื้นที่ 9 จังหวัด มีจันทบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา กับระบาดเพิ่มอีก 2 จังหวัดคือ นครปฐม นนทบุรี รวมระบาดทั้งหมด 16 จังหวัด ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรฯ สั่งการให้เร่งจัดจุดรับซื้อปลาหมอคางดำในจังหวัดต่างๆในราคา กก.ละ 15 บาท เพื่อเพิ่มแรงจูงใจให้ประชาชนในการมีส่วนร่วมควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำ

สำหรับกระแสสังคมที่มีคำถามเกี่ยวกับเรื่องต้นตอการแพร่ระบาดอย่างหนักของปลาหมอคางดำ อธิบดีกรมประมงชี้แจงว่า ปลาชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา มีการขออนุญาตนำเข้าไทยอย่างถูกต้องเพื่อวิจัยปรับปรุงพันธุ์จากบริษัทแห่งหนึ่ง ขณะนั้นกระทรวงเกษตรฯออกพระราชกฤษฎีกา ห้ามมิให้นำสัตว์น้ำบางชนิดทั้งมีชีวิตและไม่มีชีวิตเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ.2547 เพื่อควบคุมโรคสัตว์น้ำมิให้มีการแพร่ระบาด หากภาคเอกชนใดต้องการนำเข้ามาในประเทศต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการระดับสถาบันด้านความปลอดภัยและความหลากหลายทางชีวภาพของกรมประมงหรือ IBC ต่อมาบริษัทดังกล่าวยกเลิกการทำวิจัยและไม่ได้แจ้งกรมประมงในการจัดการทำลายตัวอย่าง จากการตรวจสอบพื้นที่เลี้ยงของบริษัทดังกล่าว ช่วงพบการแพร่ระบาดในปี 2560 เจ้าหน้าที่กรมประมงได้รับรายงานจากบริษัทนั้นว่าได้ทำลายตัวอย่างทั้งหมดโดยการฝังกลบ

นายบัญชากล่าวอีกว่า จากที่เป็นประเด็นในสื่อต่างๆว่ากรมประมงส่งเจ้าหน้าที่ไปรับตัวอย่างปลาหมอคางดำที่ใช้ในการวิจัยจากบริษัทดังกล่าวที่ฟาร์มจำนวน 50 ตัวอย่าง และต้องการให้กรมประมงนำตัวอย่างมาตรวจสอบว่ามี DNA ตรงกับปลาหมอคางดำที่แพร่ระบาดอยู่ขณะนี้หรือไม่ ได้ตรวจสอบเอกสารตั้งแต่ที่มีการนำเข้าจนถึงปี 2554 ไม่พบหลักฐานการรับตัวอย่าง และ รมว.เกษตรฯ สั่งการเร่งด่วนให้กรมประมงแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ หากพบหลักฐานเพิ่มจะเร่งตรวจสอบหาต้นตอ หาข้อเท็จจริงให้ประจักษ์ต่อสังคม สำหรับปลาหมอคางดำเป็น 1 ใน 13 ชนิดพันธุ์สัตว์น้ำต่างถิ่นที่ห้ามนำเข้า ส่งออก หรือนำผ่าน เพาะเลี้ยง หรือมีไว้ในครอบครอง เว้นแต่ได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีกรมประมง ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีที่ผู้กระทำความผิดนำสัตว์น้ำไปปล่อยในที่จับสัตว์น้ำ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อธิบดีกรมประมงกล่าวอีกว่า ในระยะยาวกรมจะนำโครงการวิจัยการเหนี่ยวนำชุดโครโมโซม 4n ในปลาหมอคางดำ โดยการศึกษาสร้างประชากรปลาหมอคางดำพิเศษที่มีชุดโครโมโซม 4 ชุด (4n) จากนั้นจะปล่อยลงแหล่งน้ำเพื่อให้ไปผสมพันธุ์กับปลาหมอคางดำปกติ ที่มีชุดโครโมโซม 2 ชุด (2n) จะทำให้เกิดลูกปลาหมอคางดำที่มีชุดโครโมโซม 3 ชุด (3n) ที่จะกลายเป็นปลาหมอคางดำที่เป็นหมัน สืบพันธุ์ต่อไม่ได้ เบื้องต้นของการศึกษานี้จะทดลองในบ่อทดลองเลียนแบบธรรมชาติ ในศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำเพชรบุรี และจะทยอยปล่อยอย่างน้อย 250,000 ตัว ภายในเวลา 15 เดือน (ก.ค. 2567-ก.ย.2568) คาดว่าจะเริ่มปล่อยพันธุ์ปลาได้ช้าสุดเดือน ธ.ค.2567 อย่างน้อย 5 หมื่นตัว หลังจากปลาหมอคางดำเริ่มลดจำนวนลงจะเร่งการฟื้นฟูระบบนิเวศ โดยปล่อยพันธุ์ปลาพื้นเมืองของไทยที่พบในระบบนิเวศเดิม จัดทำเขตอนุรักษ์เพื่อฟื้นฟูความหลากหลาย สร้างเครือข่ายชุมชนในการอนุรักษ์และรักษาระบบนิเวศ เพื่อคืนปลาพื้นเมืองไทยกลับสู่ระบบนิเวศ สร้างสมดุลคืนความอุดมสมบูรณ์ให้แหล่งน้ำธรรมชาติดั้งเดิมอย่างยั่งยืน

...

วันเดียวกันที่กระทรวงแรงงาน นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF กล่าวหลังร่วมพิธีลงนามความร่วมมือยกระดับคุณภาพแรงงานฟาร์มสุกรตามแนวปฏิบัติสากล (GLP) ถึงการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำว่า ได้นำเข้าลูกปลา 2 พันตัว เมื่อปี 2553 แต่ปลาอ่อนเพลีย จึงเหลือแค่ 600 ตัว เลี้ยงแล้วไม่ดีก็เลิกโครงการนี้ในปี 2554 ผ่านมา 14 ปี ปลาลอตนั้นคงไปสวรรค์แล้ว ที่มาระบาดตอนนี้เกี่ยวอะไรกับเรา

เราเป็นรายเดียวที่มีเอกสารในการนำเข้ามาอย่างถูกต้อง แต่ไม่รู้ว่ามีใครที่นำเข้าอีกบ้างและเข้ามาเยอะแค่ไหน ปลาชนิดนี้เคยนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม มีการเลี้ยงเพื่อส่งออกด้วย เหมือนปลาซัคเกอร์ที่คนนำมาเลี้ยงพอโตก็นำไปปล่อยทิ้ง เมื่อเกิดผลกระทบขึ้นต้องดูว่าจะช่วยกันแก้ไขอย่างไร

ผู้สื่อข่าวถามว่าอธิบดีกรมประมงยืนยันหลังซีพีเอฟยกเลิกการทำวิจัยไม่ได้ส่งซากปลา 50 ตัว ที่ใช้ในการวิจัยให้กรมประมง นายประสิทธิ์กล่าวว่า ฟังจากข่าวทราบว่าครั้งหนึ่งกระทรวงเกษตรฯเคยถูกน้ำท่วม หลักฐานต่างๆหายไปหมดเลยไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง เราส่งไปนานกว่า 10 ปีแล้ว มีการบันทึกว่าได้ทำลายไปหมดแล้ว ที่ยังทำวิจัยอยู่มีพวกปลานิล ปลาทับทิม

...

ด้านนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. กล่าวถึงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปลาหมอคางดำแพร่ระบาดในพื้นที่ กทม. ว่า มอบหมายให้สำนักพัฒนาสังคมไปดูว่ามีระเบียบไหนที่ดำเนินการได้ เนื่องจากยังไม่เคยมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น จึงให้ดูระเบียบอย่างรอบคอบ เบื้องต้นการเยียวยาจะให้เฉพาะเกษตรกรที่ลงทะเบียน คาดว่า 2-3 วัน จะสรุปได้ว่ามีเกษตรกรกี่รายที่ได้รับผลกระทบ ส่วนการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล กรมประมงจะดูแลควบคุม กำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาดเป็นหลัก เบื้องต้นทราบว่าจะมีการปล่อยปลาผู้ล่าหรือปลากะพงขาว จำนวน 1 แสนตัว ในพื้นที่ กทม. 10 จุด

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่