อธิบดีกรมประมง แถลงชี้แจงปมที่มาปลาหมอคางดำ หลังอนุญาตให้ซีพีเอฟนำเข้าทดลอง 2,000 ตัว เมื่อ ธ.ค.ปี 53 ยืนยันหลังจบการทดลองไม่มีการนำส่งตัวอย่างปลา 50 ตัวให้กับกรมฯ หรือแจ้ง จนท.ให้ไปตรวจดูการทำลายเมื่อ ม.ค.ปี 54 ทั้งนี้การตรวจสอบเมื่อปี 60 อ้างว่าจุดที่ฝังทำลายมีการสร้างอาคารไปแล้ว
เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง ได้แถลงถึงกรณีการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำที่ส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำธรรมชาติ และบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรกรเป็นวงกว้างในหลายจังหวัดว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในประเทศไทย ซึ่งพบตั้งแต่ปี พ.ศ.2560 และมีการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างในพื้นที่ภาคกลางเมื่อต้นปี 2567 ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และเพชรบุรี ล่าสุดจนปัจจุบันพบการแพร่ระบาดเพิ่มในบางพื้นที่ของ 9 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา และได้รับการแจ้งว่ามีการระบาดเพิ่มอีก 2 จังหวัด ได้แก่ นครปฐม และนนทบุรี รวมทั้งสิ้นเป็น16 จังหวัดที่พบการแพร่ระบาด
อธิบดีกรมประมง กล่าวต่อว่า สำหรับที่มาของการระบาดของปลาหมอสีคางดำ จากเอกสารหลักฐานของกรมประมงพบว่า บริษัท ซีพีเอฟ ได้ขออนุญาตนำเข้ามาจากต่างประเทศ จำนวน 2,000 ตัว เมื่อเดือน ธ.ค. ปี 2553 ผ่านด่านกักสัตว์สุวรรณภูมิ เพื่อนำมาทดลองที่ศูนย์วิจัยสัตว์น้ำจืดที่ จ.สมุทรสงคราม โดยการอนุญาตครั้งนั้น กรมประมง ได้มีเงื่อนไข 2 ข้อ คือ 1.ต้องส่งตัวอย่างปลา โดยจะเป็นการดองปลาทั้งตัวในโหลฟอร์มาลีน หรือจะเก็บเป็นตัวอย่างเนื้อเยื่อเพื่อใช้ในการตรวจดีเอ็นเอ และ 2.เมื่อสิ้นสุดการทดลอง ผู้นำเข้าต้องส่งผลการทดลองให้กับ จนท.กรมประมงเพื่อรายงานผล และทำลายตัวอย่างการทดลองทั้งหมด ต่อมาหลังจากที่ซีพีเอฟผู้นำเข้าทดลองเสร็จสิ้น เมื่อเดือน ม.ค.ปี 2554 ได้ระบุว่าทำลายตัวอย่างทั้งหมดเรียบร้อยแล้วนั้น กรมประมงได้ดำเนินการตรวจสอบจากหนังสือรับแจ้งในช่วงปี 2553-2554 ไม่พบการนำส่งตัวอย่างปลาหมอคางดำ 50 ตัวบันทึกในสมุดลงทะเบียน รวมทั้งไม่มีตัวอย่างขวดโหลดองปลา ตามที่บริษัทกล่าวอ้างแต่อย่างใด
...
นายบัญชา กล่าวอีกว่า หลักฐานการได้มาของปลาในวันนั้น ใครมีอะไรในมือต้องมาพิสูจน์กัน แต่กรมประมงยืนยันว่ามีเอกชนรายเดียวที่ยื่นขออนุญาตนำเข้าปลาหมอสีคางดำเข้ามาในประเทศไทย ส่วนการส่งออกยังไม่ได้ตรวจสอบอย่างละเอียด แต่ทั้งนี้ ยืนยันว่ากรมประมงไม่เคยได้รับแจ้งจากเอกชนว่าฝังกลบปลาตัวอย่างทดลอง โดยหลังจากนั้นเมื่อปี 2560 ทาง จนท.ประมงได้เข้าตรวจสอบเรื่องดังกล่าว แต่ไม่เจอหลุมฝังกลบแล้ว และจุดที่ฝังทำลายก็มีการก่อสร้างอาคารทับไปแล้ว
"ในเรื่องของการทำผิดข้อตกลงกับทางกรมประมง เมื่อไม่ทำตามสิ่งที่ตามมาคือ จนท.ประมงจะไม่อนุญาตให้ซีพีเอฟนำเข้าตัวอย่างปลาชนิดนี้เข้ามาทดลองอีก ส่วนความผิดอื่นๆ ณ ขณะนั้นยังไม่มีกฎหมายบังคับ เพิ่งมีการมาแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายประมงเกี่ยวกับการนำเข้าสัตว์น้ำต่างถิ่นในภายหลัง จึงยังไม่สามารถตอบได้ว่า การที่กรมประมงไม่ได้รับตัวอย่างปลา และการแจ้งทำลายปลาจากการทดลอง เขาทำผิดกฎหมายใดบ้าง จากนี้คงต้องให้ฝ่ายกฎหมายไปพิจารณาดำเนินการต่อไป"
อธิบดีกรมประมง กล่าวด้วยว่า เกี่ยวกับกรณีตัวอย่างปลาหมอคางดำที่นำเข้ามาทดลอง แล้วไม่มีการส่งตัวอย่าง รวมทั้งรายงานผลการวิจัยและแจ้งการทำลาย ทางกรมประมงจะตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อหาสาเหตุของการที่ปลาหมอคางดำหลุดเข้าสู่แหล่งน้ำธรรมชาติของไทย ทั้งนี้การสอบสวนไม่ได้เป็นการเอาผิดผู้ใด แต่ทำเพื่อหาข้อมูลของปัญหา หากพบว่าเรื่องนี้มีสิ่งใดที่เจือปนทำให้เกิดปัญหาร้ายแรงจึงค่อยดำเนินการเอาผิดกับเรื่องดังกล่าวต่อไป ทั้งนี้ในใจของตนเองเรื่องนี้ก็คิดไม่ต่างจากทุกคน แต่เวลานี้ยังพูดอะไรไม่ได้ หากมีหลักฐานที่ชัดเจน เราจะจัดการเอาผิดอย่างแน่นอน.