ภาพประกอบจากแฟ้มข่าว
สำนักงานเขตราชเทวี ร่วมกับสำนักการระบายน้ำ ร่วมกันเก็บกำจัดซากปลาน็อกน้ำทั้งปลานิล และปลาหมอคางดำกว่า 2 ตัน นำไปฝังกลบที่สวนราชเทวีภิรมย์ ขณะที่ ชาวโซเชียลรายงานพบปลาหมอคางดำโผล่ที่ใต้สะพานมัฆวานรังสรรค์ ในคลองผดุงฯ ข้างทำเนียบรัฐบาล
จากกรณีชาวบ้านแห่กันจับปลาน็อกน้ำ บริเวณเป็นบึงมักกะสัน บริเวณใต้ถนนจตุรทิศ เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร และเริ่มมีปลาลอยตายเป็นจำนวนมาก
เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้สำนักงานเขตราชเทวี ร่วมกับสำนักการระบายน้ำ กทม. ร่วมกันเก็บซากปลานิลและปลาหมอคางดำจำนวนกว่า 2 ตัน และได้นำมาฝังกลบ ไว้ที่สวนราชเทวีภิรมย์ เขตราชเทวี แขวงมักกะสัน โดยขนาดของบ่อที่ขุดมีความลึกอยู่ที่ 2.5 เมตร และทำการโรยปูนขาวรอบบ่อ เพื่อฆ่าเชื้อโรค และดับกลิ่น สามารถบรรจุซากปลาได้ถึง 3 ตัน ตอนนี้บรรจุซากปลาไปแล้วกว่า 2 ตัน ซึ่งคาดว่าในอนาคตอาจจะมีปลาที่น็อกน้ำเพิ่มอีก ทั้งนี้ทางเขตราชเทวี จะทำการฝังกลบ ภายในวันนี้และส่งทีมลาดตระเวนเพื่อสำรวจ หากพบปลาตายเพิ่มขึ้นก็จะขุดบ่อเพิ่ม และจัดการฝังกลบซากปลาต่อไป
...
นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า ผู้ใช้เฟซบุ๊กและครีเอเตอร์ TikTok ชื่อ "อนิลบถ ที่ไร้ดาว" ได้โพสต์ข้อความพร้อมคลิปวิดีโอสั้น ระบุว่า "ปลาหมอคางดำ ลอยเกลื่อนผดุงกรุงเกษม เจอที่ช่วงมัฆวาน เป็นแพเลย มองมาหลายวัน วันนี้ลองตกดู ใช่เลย เยอะจัดมาก ลอยหัวเยอะช่วงเย็นๆ ค่ำ ฝนพรำๆ"
พร้อมกันนี้ เพจ BIOTHAI มูลนิธิชีววิถี ได้โพสต์สเตตัส บนเฟซบุ๊ก ระบุว่า "สัญญาณปัญหาระดับชาติ! ฝูง #ปลาหมอคางดำ บุกประชิดทำเนียบ รัฐบาลต้องรับมือผลต่อความหลากหลายฯ ยกเครื่องความปลอดภัยทางชีวภาพ"
โดยการบุกมาถึงหน้าทำเนียบรัฐบาลของปลาหมอคางดำ เป็นสัญญาณเตือนว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่นายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลสิ่งแวดล้อม ควรยกระดับปัญหาหายนะด้านสิ่งแวดล้อมนี้ไปสู่ปัญหาระดับชาติ เช่น ผลกระทบต่อความหลากหลายของชนิดปลาน้ำจืด การยกระดับและปฏิรูปกลไกความปลอดภัยทางชีวภาพของประเทศ เป็นต้น มากกว่าจะให้กรมประมง หรือกระทรวงเกษตรฯทำหน้าที่เพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าดังที่กำลังเป็นอยู่ แม้ไม่เชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะรับข้อเสนอนี้หรือไม่ หรือต้องการแก้ปัญหาต้นตอมากน้อยแค่ไหนก็ตาม แต่เป็นหน้าที่ของเราที่จะเรียกร้องให้รัฐบาลต้องทำในสิ่งที่สมควรจะทำ.