เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำ และเจ้าของบ่อเลี้ยงกุ้ง ในพื้นที่ อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ วอนหน่วยงานภาครัฐ ลงพื้นที่ตรวจสอบ หลังได้รับผลกระทบจากปลาหมอคางดำ หลุดเข้าบ่อและแหล่งน้ำกินกุ้งเลี้ยง และลูกกุ้ง ลูกปลาในพื้นที่จนไม่เหลือ
วานนี้ (14 ก.ค. 2567) ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ หลังได้รับแจ้งมีเกษตรกรได้รับผลกระทบจากปลาหมอคางดำ หลุดเข้าไปในวังกุ้งของเกษตรกร ในพื้นที่ หมู่ที่ 1 ต.นาเกลือ อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็นพื้นที่เลี้ยงกุ้งของชาวบ้านมาหลายช่วงอายุคน แต่ระยะหลังกระทั่งถึงปัจจุบัน แทบไม่มีกุ้งและปลาที่เคยจับได้ เหลือให้จับแล้ว เนื่องจากลงแหหาปลาทีไร ได้แต่ปลาหมอคางดำอย่างเดียว
ปัจจุบันพื้นที่บริเวณนี้ เต็มไปด้วยเวิ้งน้ำ ที่เมื่อเกษตรกรเหวี่ยงแหลงไป ก็จะมีแต่ปลาหมอคางดำ ติดแหขึ้นมาทุกรอบ และไม่เพียงแต่ พื้นที่การเกษตรเท่านั้น ที่ได้รับผลกระทบ ตามคลองทั่วไป ตั้งแต่พื้นที่ ต.บ้านคลองสวน ไปจนถึงเขตติดต่อ บางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ชาวบ้านบอกว่า เห็นฝูงปลาหมอคางดำ กระจายอยู่ทั่วไปหมด
จากรายงานพบฝูงปลาหมอคางดำ กระจายอยู่เต็มในคลองมอญ บริเวณวัดคลองมอญ ตำบลบ้านคลองสวน อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ ชาวบ้านเล่าว่า มีการระบาดเช่นนี้มาเป็นแรมปีแล้ว แต่ปีนี้ถือว่าหนักที่สุดเท่าที่เคยมีมา แม้กระทั่งคนจะมาปล่อยปลา ยังแทบไม่กล้าเอาปลามาปล่อยกันแล้ว ส่วนเกษตรกรก็ได้รับผลกระทบถ้วนหน้ากัน วอนหน่วยงานรัฐ ช่วยลงมาดูปัญหาของชาวบ้านด้วย
อย่างไรก็ตาม กลุ่มเกษตรกร ที่ได้รับผลกระทบ ส่วนใหญ่ ยังคงรอความชัดเจนจากหน่วยงานภาครัฐ ว่าจะให้ชาวบ้านทำอย่างไร ในกรณีที่มีการระบาดอย่างหนักเช่นนี้ เพราะส่วนหนึ่ง มองว่า ปลาหมอคางดำ ก็คือปลาชนิดหนึ่ง ที่สามารถนำมาทำอาหารได้ หากมีการสนับสนุนหรือมีตลาดรองรับ ชาวบ้านก็จะมีทางออก เมื่อช่วยกันจับและนำมาขายตลาด ชาวบ้านเชื่อว่า จะช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นระบบ และ ช่วยลดจำนวนประชากรของปลาหมอคางดำได้ในที่สุด
...
นายจำรัส กันสวัสดิ์ เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งกุลาดำ กล่าวว่า ตนทำอาชีพทำนากุ้ง เมื่อสองสามปีก่อนไม่ค่อยมีแบบนี้ มาปีนี้เยอะมีมาก ตนว่ามันน่าจะกินกุ้งธรรมชาติ กุ้งฝอย กุ้งในวัง ไม่มีแล้ว ลูกปลาดุก ปลากุเลาเคยเยอะก็ไม่มีแล้ว มันกินเรียบ เหลือแต่ตัวมันอย่างเดียวแล้ว มันน่าจะทำร้ายเผ่าพันธุ์อื่นหมดแล้ว ผลกระทบส่วนใหญ่กินลูกกุ้งลูกปลาที่เคยเป็นเศรษฐกิจของชาววังกุ้ง เวลาปล่อยปู ปูที่ลอกคราบ มันก็น่าจะกินไปด้วย เสียหายเยอะ ไม่ได้อะไรขึ้นมาเลย ปีนี้ก็เพิ่งจะได้จับกุ้งไปขายได้เงินไม่กี่ร้อยบาทเอง ยังไม่พอจ่ายภาษีที่ดินเลย เป็นเหมือนกันหมด ไม่ได้อะไรเหมือนกันหมด
เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งกุลาดำ กล่าวต่อว่า พวกที่พอจะอยู่ได้ คือ กลุ่มเลี้ยงหอย ทำฟาร์มหอย เพราะหอยมันคงจะกินไม่ได้ติดเปลือก สัตว์เลี้ยงอย่างอื่นพวกกุ้งกุลาไม่น่าจะมีแล้ว ในความเห็นส่วนตัวคิดว่า รัฐบาลน่าจะมีงบสักก้อนมาช่วยซื้อตัวนี้ พอขายได้ ชาวบ้านเขาก็รวมตัวกันจับ มันก็น่าจะหมดไปได้ง่ายๆ ทีนี้ขายไม่ได้ก็เลยเยอะอยู่อย่างนี้ ของที่กินได้มันน่าจะหมดได้ง่าย น่าจะแก้ได้ง่าย รัฐบาลตนว่าไม่น่าขาดทุน ขอให้มีตลาดรองรับ ตนว่าจุดนี้น่าจะแก้ได้ง่าย น่าจะเห็นผลภายในหนึ่งปี ถ้าปล่อยระบาด ขายไม่ได้ เดี๋ยวมันก็ออกลูกอยู่อย่างนี้ มันออกลูกไวมาก หรือ บริษัทใหญ่ๆ รับไปทำอย่างอื่นได้ยิ่งดี
ส่วนนาย สุทวน แพ็งสมบูรณ์ เกษตรกรวังกุ้ง กล่าวว่า เลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลา มันมากินหมด มันเข้ามาในคลองเยอะแยะไปหมด พอเปิดประตูมันก็เข้ามาแล้ว แต่พอได้มา บางคนก็เอาไปทำข้าวต้ม ใส่เกลือ เอาไปทอดบ้าง แต่ไอ้ปลาพวกนี้ เนื้อนั้นค่อนข้างจะแข็ง ก้างก็เยอะ สภาพเป็นแบบนี้ทุกวัง อยากให้รัฐมาช่วยหน่อย มากำจัดปลาพวกนี้ให้หน่อย นอกจากล้างทีละวัง ไม่รู้จะหมดรึเปล่า พอล้างแล้วเปิดประตูน้ำมันก็เข้ามาอีก ปล่อยลูกปลามันก็มาอีก กุ้งตามวังไม่มี มันกินหมดไม่มีเหลือเลย พอทอดแหไปได้แต่ปลาหมอคางดำ เป็นกันทุกวังเลย.