เมื่อเวลา 13.00 น.วันที่ 5 ก.ค.2567 ที่ห้องประชุม War Room นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมติดตามโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบอารยเกษตรตามแนวพระราชดำริ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก โดยได้รับเมตตาจาก พระครูสุภัทรธรรมโฆษิต (พระครูต้น) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร ผู้แทนเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร ร่วมประชุม โดยมี รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นายสยาม ศิริมงคล อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายสมพร กาญจน์นิรันดร์ รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายสมาน พั่วโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันการพัฒนาชุมชน นายธนารักษ์ วรปรีชาพันธุ์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครนายก และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม

ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย มุ่งมั่นน้อมนำพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมุ่งมั่นแน่วแน่ในการสืบสาน รักษา และต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ดังปรากฏในพระปฐมบรมราชโองการ ที่ได้พระราชทานเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2562 ความว่า “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” และต่อมาได้พระราชทานพระราชดำรัสที่ได้อธิบายขยายความพระปฐมบรมราชโองการดังกล่าว อันเป็นพระราชปณิธานของพระองค์ท่าน และเป็นความมุ่งมั่นของพวกเราทุกคนในฐานะข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการร่วมกับคณะสงฆ์ในพระพุทธศาสนา และพสกนิกรในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตั้งใจช่วยกันทำให้ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานพระราชปณิธาน ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”

...

"ในวันนี้ พวกเราทุกคนมาร่วมประชุมในเดือนอันเป็นมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงเจริญพระชนมายุครบ 6 รอบ 72 พรรษา ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 ซึ่งโครงการในครั้งนี้ก็เป็นหนึ่งในโครงการเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 เพื่อทำให้ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข” และสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals; SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ อาทิ การสร้างสวนหย่อมสวนสาธารณะ ที่มีความอุดมสมบูรณ์สวยงาม โดยอาศัยหลักการมีส่วนร่วมของชุมชนและการทำด้วยหัวใจ อันจะนำไปสู่การรักษาดูแลอย่างยั่งยืน และความยั่งยืนดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้จำเป็นต้องมีการพูดคุยหารือในสนองแนวพระราชดำริ ส่งผลในการแก้ไขในสิ่งผิดของการดำรงชีวิตของพี่น้องประชาชน เช่น การทำอาชีพเกษตรกร ที่มีการทำเกษตรแบบเชิงเดี่ยว ส่งผลกระทบทั้งต่อการประกอบอาชีพและต่อสิ่งแวดล้อม เราจึงต้องหนุนเสริมการดำรงชีวิตที่มีความยั่งยืน โดยร่วมกับคณะสงฆ์วัดระฆังโฆสิตาราม ผู้ที่เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของพี่น้องประชาชน ผู้เป็นพลังสำคัญในการน้อมนำเอาแนวพระราชดำริ เรื่องหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ มาประยุกต์สู่โคก หนอง นา อารยเกษตร เพื่อเป็นต้นแบบของการพัฒนาพื้นที่ นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของพี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืน" นายสุทธิพงษ์ กล่าว

ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่อว่า การน้อมนำแนวพระราชดำริตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ ที่เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมนั้น เป็นไปดังที่ท่านปลัดกระทรวงมหาดไทยได้กล่าวกับพวกเราเสมอว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานภาพวาดฝีพระหัตถ์ จำนวน 1 ภาพ พร้อมข้อความ ความสดใส สดชื่น โคกหนองนา และ ความสุขและอบอุ่น ในบ้านบนโคกหนองนา ทรงลงพระปรมาภิไธย 3 กันยายน 2563 เพื่อเป็นกำลังใจให้ข้าราชการกรมการพัฒนาชุมชนกระทรวงมหาดไทย และพสกนิกรชาวไทย และต่อมาทรงมีพระราชทานพระราชดำรัสเรื่อง “อารยเกษตร” ณ พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2564 ความว่า “...โคกหนองนา นอกจากเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ทางด้านเกษตรกรรม แล้วยังเป็นศิลปะ เป็นแบบฝึกหัดที่ดี ในการที่จะรวมเกษตรที่หลากหลายให้มาอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ในเวลาเดียวกันรักษาความหลากหลาย แต่ความหลากหลายนั้น ก็เกื้อกูลซึ่งกันและกัน ...โคกหนองนา ความหมายดีอยู่แล้ว ก็คือเกษตรเพื่อความอุดมสมบูรณ์ เพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชน และชีวิตของพวกเรา เพราะว่าประเทศของเรานี้ไม่หนีเรื่องการเกษตรคือปากท้อง และเป็นชีวิตของเราตามพระบรมราโชบายของรัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานมา ได้รับพระมหากรุณาธิคุณมามากมายในเรื่องของเกษตร ในเรื่องของการพัฒนา...” สะท้อนให้เห็นว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริเรื่องอารยเกษตร โดยคำนึงถึงเรื่องปากท้อง รวมถึงเรื่องศิลปะที่ทำให้พื้นที่มีความสวยงาม ซึ่งทำให้คนมีความสุข

นายสุทธิพงษ์ กล่าวอีกว่า ที่กล่าวมาจึงเป็นที่มาของโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบอารยเกษตรตามแนวพระราชดำริ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยบูรณาการร่วมกับคณะสงฆ์วัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร และ 7 ภาคีเครือข่าย ในการนำเอาพื้นที่ที่มีอยู่มาเป็นพื้นที่ต้นแบบแห่งความสุขอย่างยั่งยืน แสดงออกถึงการแก้ไขในสิ่งผิด โดยน้อมนำเอาพระราชดำริต่างๆ มาประยุกต์ทำให้เห็นจริง และเพื่อให้เราทุกคนได้ตระหนักว่าการน้อมนำพระราชดำริเป็นเรื่องสำคัญและเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนไม่เพียงแค่ภาคราชการ แต่รวมถึงประชาชนทุกคน เพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวมและประเทศชาติ

ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขอเน้นย้ำว่า สิ่งสำคัญของการดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบอารยเกษตรตามแนวพระราชดำริเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือ การเผยแผ่พระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อพวกเราคนไทย ด้วยการน้อมนำพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ ประยุกต์ให้มาอยู่ในพื้นที่ของเรา ซึ่งกระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน เป็นผู้ขับเคลื่อนงาน โดยจัดตั้งสถาบันส่งเสริมเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (ISEDZ) เป็นสถาบันนานาชาติ

กระทรวงมหาดไทยได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายภาควิชาการ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (Institute of Sufficiency Economy Development Zone : ISEDZ) และบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการวิจัยและพัฒนาอาคารต้นแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และตอบสนองต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน (Research and Development Property for Sustainable of Eco-Living : R&D for SE) ในการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ ด้วยการให้นิสิต นักศึกษาที่ลงทะเบียนกับมหาวิทยาลัย ได้มาศึกษาเรียนรู้หลักสูตรการพัฒนาพื้นที่/การพัฒนาชนบท เข้ามาทดลองการใช้ชีวิตในพื้นที่ ภายใต้การควบคุมของสถานศึกษาแบบมีมาตรฐาน โดยมีกรมการพัฒนาชุมชนหรือองค์กรอิสระช่วยดูแล และให้การสนับสนุน ผ่านการ “Learning by Doing” ซึ่งจะทำให้นิสิต นักศึกษาได้รับองค์ความรู้จากทั้งมหาวิทยาลัยและความรู้จากผู้เชี่ยวชาญของกระทรวงมหาดไทย

...

รวมทั้งการต่อยอดขยายผลภาคีเครือข่ายสถานศึกษาออกไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก และเปิดโอกาสให้คนในชุมชนเมืองได้เข้าไปเรียนรู้การใช้ชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง รวมถึงการเชิญชวนเยาวชนคนรุ่นใหม่ได้เข้าไปใช้ชีวิต นำผลผลิตที่จากการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ มาแบ่งสรรปันส่วนกัน รวมถึงคนที่ไม่มีที่ดินได้มาใช้ประโยชน์ตามห้วงระยะเวลาที่กำหนด ได้เกิดประโยชน์โดยนำเอาองค์ความรู้ไปประยุกต์ปรับใช้ในพื้นที่ของตนต่อไป ดังตัวอย่างของโรงเรียนจิตอาสาพระราชทาน ที่พัฒนาพื้นที่โดยมุ่งทำให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยที่สามารถทำให้คนมาอยู่อาศัยได้ในทุกสภาพอากาศ มีความเหมาะสมและอุดมสมบูรณ์ มีโคก หนอง นา ที่สามารถป้องกันและช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ เมื่อหน้าฝนไม่เกิดน้ำท่วม และเมื่อหน้าแล้งจะมีน้ำไว้ใช้อีกด้วย

“หลังการประชุมวันนี้ เราจะก้าวไปสู่ขั้นต่อไป คือ การปฏิบัติด้วยการลงพื้นที่จริง โดยให้กรมการพัฒนาชุมชน ดำเนินการปรับพื้นที่เป็นโคก หนอง นา อารยเกษตร ให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ และให้โอนงานทั้งหมดที่อยู่ในการดูแลของจังหวัดนครนายกให้ท่านอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เพื่อเร่งรัดการดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2567 นี้ ซึ่งหลังจากนี้ พวกเราทุกฝ่ายจะได้ร่วมกัน “เอามื้อสามัคคี” ตลอดจนติดตามความคืบหน้าการดำเนินโครงการต่อไป ซึ่งการพัฒนาและขับเคลื่อนในพื้นที่ดังกล่าว เราสามารถขอสนับสนุนจากภาคีเครือข่าย อาทิ หน่วยทหารพัฒนาในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียง ในการดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ ตลอดจนภาคีเครือข่าย รวมถึงการขับเคลื่อนพื้นที่โครงการไปพร้อมกัน เพื่อสร้างความก้าวหน้าของโครงการ" ปลัด กระทรวงมหาดไทย กล่าว

นายสุทธิพงษ์ กล่าวถคึงรูปแบบการทำงานว่า จะทำงานเป็นองค์รวมทั้ง 4 โซน ใน 150 ไร่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Zone A เป็น “Public Interest Zone” ที่จะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมและพี่น้องประชาชน ทั้งในแง่การเป็นที่ออกกำลังกาย ที่พักผ่อนหย่อนใจ ที่จำหน่ายพืชผลทางการเกษตรให้คนในพื้นที่ รวมถึงการจัดแสดงและจำหน่ายพืชพันธ์ุต้นไม้ และตามเจตนารมณ์ของเจ้าของที่ดินที่ต้องการใช้พื้นที่เป็นประโยชน์ในทางพระพุทธศาสนา ต่อยอดขยายผลเป็นสถานปฏิบัติธรรมของพระสงฆ์ตามความเชื่อทางศาสนา ญาติโยมจะได้เข้ามาทำบุญ ตลอดจนขับเคลื่อนให้สำเร็จเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งทางกระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน จะเป็นแม่ทัพใหญ่ต่อจากจังหวัดนครนายก ในการร่วมกันทำความ ดี ด้วยหัวใจ และช่วยกันแก้ไขในสิ่งผิด ด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา อารยเกษตร เพื่อให้พื้นที่นี้เป็นศูนย์กลางในการดูแลคุณภาพชีวิตทั้งร่างกายและจิตใจ ได้สงเคราะห์คนทุกเพศทุกวัยบนที่ดินแห่งนี้ เพื่อเฉลิมพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้าย

...

ด้าน พระครูสุภัทรธรรมโฆษิต กล่าวว่า คณะสงฆ์วัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร ภายใต้ความเมตตาสนับสนุนของพระเดชพระคุณพระเทพประสิทธิคุณ เจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร มีความประสงค์ที่จะสงเคราะห์ญาติโยม และสนองแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยให้พื้นที่จำนวน 150 ไร่ ให้กระทรวงมหาดไทยได้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อสร้างความสุขที่ยั่งยืน สร้างความร่มเย็นเป็นสุข ให้กับญาติโยมทุกคนทุกท่าน เพื่อได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนตลอดไป โดยทางวัดนอกจากจะยินดีมอบที่ดินของวัดให้จำนวน 150 ไร่เพื่อนำไปดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 แล้ว ทางวัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร ยังยินดีที่สนับสนุนในทุกเรื่อง จึงขอให้ทุกคน ทุกหน่วยงาน ได้ตั้งใจร่วมมือกันขับเคลื่อนให้เต็มที่ ให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนโดยเร็ววัน เพื่อถวายเป็นพระพรชัยมงคลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ด้วยกัน.