กรมอุทยานฯ นำร่องทำเกษตรแบบขั้นบันได โดยปลูกต้นอะโวคาโด ร่วมกับชุมชนบ้านแม่แอบใน บนดอยอินทนนท์เป็นแห่งแรกหของไทย เพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำ ลดการพังทลายของหน้าดิน แถมผลพลอยได้เรื่องการท่องเที่ยว
ที่บ้านแม่แอบใน หมู่ 6 ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ นายสมบูรณ์ ธีรบัณฑิตกุล ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดกิจกรรมคิกออฟการทำเกษตรแบบขั้นบันได เพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำ และลดการชะล้างพังทลายของดิน โดยเจ้าหน้าที่และชาวชุมชนบ้านแม่แอบใน ร่วมกันปลูกต้นอะโวคาโดซึ่งเป็นไม้ผลยืนต้นเพื่อเก็บผลผลิตขายในอนาคต รวมทั้งหญ้าแฝกและหว่านเมล็ดปอเทืองป้องกันการพังทลายของดิน ลงบนแปลงเกษตรพื้นที่สูงชันเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ ที่ได้รับการปรับพื้นที่ให้เป็นพื้นที่เกษตรแบบขั้นบันได ซึ่งถือเป็นพื้นที่นำร่องแห่งแรกในจังหวัดเชียงใหม่
...
นายสมบูรณ์ ธีรบัณฑิตกุล ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช บอกว่า ในอดีตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ไม่อนุญาตให้ราษฎรและชุมชนอยู่อาศัยทำกิน อย่างไรก็ตามปัจจุบันมาตรา 64 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ และมาตรา 121 พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า อนุญาตให้อยู่อาศัยทำกินได้ แต่มีเงื่อนไขและต้องปฏิบัติตามแนวทางของกรมอุทยานฯ ซึ่งการทำเกษตรแบบอนุรักษ์ดินและน้ำนั้นเป็นหนึ่งในแนวทางตามนโยบายของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่ให้ขอความร่วมมือทุกชุมชนในเขตป่าอนุรักษ์ที่ทำการเกษตรอยู่บนพื้นที่สูงชัน ให้มีการปรับพื้นที่ให้เป็นแบบขั้นบันได เพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดินและเป็นการอนุรักษ์ดินและน้ำไปพร้อมกัน
ผอ.สำนักอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำฯ กล่าวต่อว่า กิจกรรมคิกออฟทำเกษตรแบบขั้นบันไดเพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำและลดการชะล้างพังทลายของดินในครั้งนี้ที่จังหวัดเชียงใหม่ ถือเป็นแห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งการทำการเกษตรแบบอนุรักษ์ดินและน้ำนั้นถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ลุ่มน้ำ ชั้น 1 เอ, ชั้น 1 บี และชั้น 2 เนื่องจากพบว่าในแต่ละปีมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการพังทลายของหน้าดิน ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจากการเกิดไฟไหม้ป่าที่ทำให้หน้าดินเสียหาย และขาดคุณสมบัติทางกายภาพ ทำให้เมื่อฝนตกจึงถูกชะล้างและพังทลาย
นายสมบูรณ์ กล่าวอีกว่า จากการศึกษาวิจัยพบการเกษตรแบบขั้นบันไดนั้นสามารถช่วยป้องกันและลดการพังทลายของหน้าดินได้มากว่าร้อยละ 90 นอกจากนี้ยังส่งผลดีทางอ้อมในเรื่องของการท่องเที่ยวด้วย ซึ่งหลังจากที่ปีนี้ได้ริเริ่มการปรับพื้นที่แล้ว ในปีต่อไปทางกรมอุทยานฯ ยังมีแผนงานที่จะสนับสนุนเพิ่มเติมในส่วนของการพัฒนาระบบน้ำสำหรับการทำการเกษตรอีกด้วย เพื่อเป็นการส่งเสริมการอยู่อาศัยทำกินของราษฎรควบคู่กับการอนุรักษ์พื้นที่ป่าอย่างยั่งยืนต่อไป
...
ด้าน นายกริชสยาม คงสตรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (เชียงใหม่) กล่าวว่า การปรับพื้นที่ให้เป็นแบบขั้นบันไดเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดินและเป็นการอนุรักษ์ดินและน้ำนั้น ถือว่าเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ที่ดินที่มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎรที่อยู่อาศัยทำกินในพื้นที่ป่าอย่างเกื้อกูลซึ่งกันและกัน โดยในพื้นที่รับผิดชอบของ สบอ.16 (เชียงใหม่) ได้ทำการสำรวจเพื่อจะดำเนินการในปี 2567 รวมทั้งสิ้น 1,200 ไร่ ซึ่งบ้านแม่แอบใน เขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ เป็นพื้นที่นำร่องแห่งแรก
ขณะที่ นายเกรียงไกร ไชยพิเศษ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ กล่าวว่า ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์มีชุมชนที่ตั้งอยู่ในเขตอุทยานฯ จำนวนทั้งหมด 34 หมู่บ้าน โดยที่แต่ละหมู่บ้านมีวัฒนธรรมประเพณีที่สอดคล้องกับการดูแลรักษาป่าอย่างยั่งยืน รวมทั้งแต่ละหมู่บ้านต่างให้ร่วมมือกันเป็นอย่างดีในการช่วยเหลือกันดูแลรักษาป่าในรูปแบบของเครือข่าย ที่ประกอบด้วย 5 เครือข่ายลุ่มน้ำภูมินิเวศดอยอินทนนท์ ซึ่งช่วยสนับสนุนการทำงาน และแบ่งเบาภาระของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ได้เป็นอย่างมาก.
...