ศอ.บต. ห่วงใยเกษตรกรชายแดนใต้ จับมือหลายภาคส่วนด้านการเกษตร ป้องกันปัญหา "หนอนเจาะเมล็ดทุเรียน" ยกระดับคุณภาพของทุเรียนยะลา สร้างอัตลักษณ์เฉพาะให้เป็นที่ยอมรับต่อผู้บริโภค
เมื่อเวลา 11.00 น. วันนี้ (26 มิถุนายน 2567) ที่ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดยะลา ต.ปุโรง อ.กรงปินัง จ.ยะลา นายปิยะศิริ วัฒนวรางกูร รองเลขาธิการ ศอ.บต. พร้อมด้วยนายภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร นายครองศักดิ์ สงรักษา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร และนายกัสมัน ยะมาแล เกษตรจังหวัดยะลาเกษตร ร่วมแถลงข่าว จัดกิจกรรมรณรงค์ป้องกันปัญหาหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อขับเคลื่อนโครงการเมืองผลไม้และไม้เศรษฐกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ และสร้างการตระหนักรู้ถึงปัญหาหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนที่จะกระทบต่อภาพลักษณ์การค้าของผลไม้ในพื้นที่
...
นายปิยะศิริ วัฒนวรางกูร รองเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า มูลค่าการค้าผลไม้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2567 นี้ น่าจะมีประมาณ 14,877 ล้านบาท เมื่อคิดเฉพาะมูลค่าทุเรียนก็น่าจะประมาณ 13,490 ล้านบาท (90.68%) และหากรวมไปถึงมูลค่าทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในตลอดห่วงโซ่ ที่ไม่ว่าจะเป็นการจ้างงาน ที่พัก ค่าใช้จ่ายในการบริโภคอาหาร แล้วมากกว่านั้นจังหวัดชายแดนภาคใต้มีตลาดผลไม้ชั่วคราวที่สำคัญ คือ ตลาดผลไม้ อบจ.ยะลา ซึ่งในช่วงฤดูเกี่ยวผลไม้ คือ ช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคมของทุกปี จะมีพ่อค้าแม่ค้าจากทั่วประเทศที่เข้ามารับซื้อทุเรียนที่นี้ ล้งต่างๆ ในพื้นที่ก็จะเปิดรับซื้อตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้บริเวณสี่แยกมลายูบางกอกมีผู้คนตลอดทั้งคืน รวมถึงมีเกษตรกรจากทุกพื้นที่ก็ยังนำผลผลิตมาขายที่นี้ด้วย
สำหรับเมืองผลไม้และไม้เศรษฐกิจในปีนี้ ศอ.บต. ได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อขับเคลื่อนโครงการเมืองผลไม้และไม้เศรษฐกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจะก่อให้เกิดความเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิต การแปรรูป การตลาด และการส่งออกผลไม้ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ประชาชน ซึ่งการดำเนินงานในพื้นที่ต้องมุ่งแก้ไขปัญหาความยากจนและให้เกิดการยกระดับรายได้ และคุณภาพชีวิตของประชาชนได้อย่างเป็นรูปธรรม การสนับสนุนการป้องกันปัญหาหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน ถือเป็นหนึ่งในแนวทางที่ ศอ.บต. พร้อมเป็นข้อต่อเชื่อมการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา และผู้ประกอบการภาคเอกชน ในการพัฒนายกระดับการผลิตทุเรียนและการป้องกันปัญหาหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งนี้ ก็ยังรวมไปถึงผลไม้อื่นอีกด้วย
ด้านนายภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวถึงมาตรการการป้องกันการปนเปื้อนหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนว่า กรมวิชาการเกษตรมีมาตรการกรอง 4 ชั้น ที่กำหนดโดยกรมวิชาการเกษตรในปี 2566 และยังถือใช้ต่อเนื่องในพื้นที่เสี่ยงระบาดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนในปี 2567 โดยมาตรการกรอง 4 ชั้น จะช่วยในการคัดผลผลิตที่มีคุณภาพ ลดการปนเปื้อนหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน ออกจากระบบการส่งออกทุเรียนไปยังประเทศคู่ค้า สามารถสร้างความมั่นใจและความน่าเชื่อถือในสินค้าทุเรียนของประเทศไทยต่อประเทศคู่ค้าได้อย่างดี และมีการนำผลผลิตที่ปนเปื้อนไปเข้าสู่กระบวนการแปรรูปต่อไป.
...