กรมส่งเสริมสหกรณ์ ผนึก พาณิชย์ เดินหน้าขยายเวลาโครงการเชื่อมโยงปุ๋ยราคาถูกฯ เฟส 2 ช่วยเกษตรกรถึง 30 มิ.ย. 67 รับฤดูการเพาะปลูก โดยมีปุ๋ยในโครงการกว่า 5 ล้านกระสอบ ครอบคลุมการปลูกพืชทุกชนิด
นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากโครงการที่ผ่านมา โดยได้รับความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน จากกรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ และผู้ผลิต ผู้นำเข้าปุ๋ย 3 สมาคม ได้แก่ สมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย สมาคมการค้าผู้ผลิตปุ๋ยไทย และสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร ร่วมกันผนึกกำลังช่วยลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกร ผลตอบรับดีจากเฟสแรก ที่สิ้นสุดลงในวันที่ 31 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา จึงได้ขยายระยะเวลา และเพิ่มปริมาณปุ๋ยลดราคาให้แก่เกษตรกร
อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวต่อว่า สำหรับเฟส 2 คาดว่าตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นไป จะเข้าสู่ช่วงที่เกษตรกรใช้ปุ๋ยกันมากขึ้น โดยเฉพาะการปลูกข้าวนาปีในพื้นที่ภาคกลาง ที่จะเริ่มปลูกในเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ปลูกมากในช่วงเดือนมีนาคม-มิถุนายน และมันสำปะหลังที่ยังคงมีการเพาะปลูกอยู่ในเดือนนี้ จึงได้ดำเนินการต่อเนื่องในเฟสที่ 2 โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ถึง 30 มิถุนายน 2567
...
นายวิศิษฐ์ กล่าวถึงปุ๋ยที่อยู่ในโครงการฯ ว่า ปุ๋ยในโครงการครอบคลุมการปลูกพืชทุกชนิด ทั้งนาข้าว พืชไร่ พืชสวน และไม้ผล มีปริมาณปุ๋ยเข้าร่วมโครงการ 5.1 ล้านกระสอบ 69 สูตร ลดราคา 20-50 บาทต่อกระสอบ อาทิ ปุ๋ยยูเรีย 46-0-0 ราคาโครงการกระสอบละ 755-810 บาท ลดสูงสุด 35 บาทต่อกระสอบ สูตร 15-15-15 ราคาโครงการกระสอบละ 930-1,000 บาท ลดสูงสุด 50 บาทต่อกระสอบ สูตร 16-20-0 ราคาโครงการกระสอบละ 805-840 บาท ลดสูงสุด 50 บาทต่อกระสอบ ที่ต้องการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ให้เกษตรกรไทย
อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวอีกว่า โครงการแรกที่จบไป โดยมีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรสั่งซื้อปุ๋ยจากบริษัท จำนวน 102 แห่ง จำนวน 1,145,006 กระสอบ โดยปุ๋ยเคมีที่มีปริมาณการสั่งซื้อสูงสุด ประกอบด้วย 46-0-0, 16-20-0, 15-15-15 และ 16-8-8 เป็นต้น ดังนั้น เมื่อ “โครงการปุ๋ยราคาถูกเพื่อเกษตรกร” ได้ขยายระยะเวลาโครงการต่อไปอีกจนถึง 30 มิถุนายน 2567 จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับสมาชิกของสหกรณ์การเกษตรและกลุ่มเกษตรกร ในการลดค่าใช้จ่ายการซื้อปุ๋ยมาใช้ในพื้นที่เกษตรกรรมของตนเอง การดำเนินโครงการดังกล่าว คาดว่าจะสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรได้กว่า 280 ล้านบาท เมื่อรวมกับเฟสแรกก็จะช่วยลดต้นทุนเกษตรกรได้ประมาณ 436 ล้านบาท
นายวิศิษฐ์ กล่าวด้วยว่า เกษตรกรที่สนใจสามารถสั่งซื้อผ่านสถาบันเกษตรกรที่ตนเองเป็นสมาชิก เช่น สหกรณ์การเกษตร ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน วิสาหกิจชุมชน และแปลงใหญ่ จากนั้นสถาบันเกษตรกรจะเป็นผู้รวบรวมยอดการสั่งซื้อแจ้งไปยังสำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรอำเภอ หรือสำนักงานสหกรณ์จังหวัด ในแต่ละพื้นที่ โครงการได้กำหนดเงื่อนไขของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่จะซื้อปุ๋ยในโครงการ นั่นคือ ซื้อปุ๋ยเป็นเงินสด และรับสินค้าที่โรงงานของแต่ละบริษัท โดยสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่สนใจสั่งซื้อปุ๋ยตามโครงการ สามารถติดต่อขอข้อมูลได้ที่สำนักงานสหกรณ์จังหวัดทุกจังหวัด ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ทั้งนี้ การสั่งซื้อปุ๋ยสำหรับบริการแก่สมาชิกและเกษตรกรในพื้นที่ ควรคำนึงถึงการบริหารจัดการสต๊อกสินค้าคงเหลือ และสถานที่การจัดเก็บปุ๋ยด้วย.
...