กรมชลประทาน สรุปภาพรวมการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง ปี 2566/67 เป็นไปตามแผนฯ ที่วางไว้ พร้อมเดินหน้าเตรียมพร้อมบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนอย่างเต็มศักยภาพ เน้นเก็บกักน้ำสำรองไว้ใช้ในฤดูแล้งหน้าให้มากที่สุด
นายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงภาพรวมการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง ปี 2566/67 ว่า ตลอดช่วงฤดูแล้งที่ผ่านมา กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดด้วยความประณีตและรัดกุม ประกอบกับได้รับความร่วมมือจากเกษตรกร และประชาชนทุกภาคส่วนที่ร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัด จึงทำให้การใช้น้ำเป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำที่วางไว้อย่างเพียงพอ ต่อจากนี้จะเป็นการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปี 67 (1 พ.ค.-31 ต.ค. 67) ตามการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าสภาวะเอลนีโญในขณะนี้จะอ่อนกำลังลง และเปลี่ยนเข้าสู่ภาวะเป็นกลาง ในช่วงเดือนมิถุนายน โดยมีความน่าจะเป็นที่จะเปลี่ยนสู่สภาวะลานีญาอยู่ 69% ซึ่งจะส่งผลให้มีปริมาณฝนเพิ่มมากขึ้นในเดือนกรกฎาคม-กันยายน และจะคงสภาวะนี้ต่อเนื่องไปจนถึงปลายปี 2567
จากข้อมูลดังกล่าว จึงได้กำชับไปยังโครงการชลประทานทั่วประเทศให้ปฏิบัติตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 67 ที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำหนดอย่างเคร่งครัด พร้อมเฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง นำข้อมูลมาวิเคราะห์วางแผนการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์และอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด ควบคู่ไปกับการเก็บกัก รวมทั้งตรวจสอบอาคารชลประทานให้พร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ มีการกำหนดคน กำหนดพื้นที่เสี่ยง กำหนดเครื่องจักรเครื่องมือและระบบสื่อสารประจำพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้สามารถเข้าแก้ไขสถานการณ์ได้ทันที ที่สำคัญให้ทำการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนถึงสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนได้มากที่สุด ตามข้อสั่งการของ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
...
ด้าน นายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวสรุปผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 66/67 ว่า ในช่วงฤดูแล้งปี 2566/67 กรมชลประทาน ได้วางแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้ง (ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566-30 เมษายน 2567) ไว้ทั้งสิ้น 24,985 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา วางแผนจัดสรรน้ำไว้ประมาณ 8,700 ล้าน ลบ.ม. เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ การเกษตร และอุตสาหกรรม รวมไปถึงการควบคุมค่าความเค็มและคุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลักต่างๆ ปัจจุบันสิ้นสุดฤดูแล้งแล้ว พบว่าทั้งประเทศมีการใช้น้ำตลอดช่วงฤดูแล้ง รวมทั้งสิ้นประมาณ 23,832 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 95 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำรวมประมาณ 8,586 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 99 ของแผนฯ ภาพรวมผลการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งเป็นไปตามแผนที่วางไว้
รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวอีกว่า ขณะที่พื้นที่ในเขตชลประทานไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการขาดแคลนน้ำ อีกทั้งยังมีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนอย่างเพียงพอ โดย ณ วันที่ 1 พ.ค. 67 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 41,765 ล้าน ลบ.ม. ยังสามารถรองรับน้ำในช่วงฤดูฝนได้อีกกว่า 34,572 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 11,256 ล้าน ลบ.ม. สามารถรองรับน้ำในช่วงฤดูฝนได้อีกกว่า 13,615 ล้าน ลบ.ม.
นายเดช กล่าวด้วยว่า พร้อมกันนี้ ยังได้วางมาตรการบริหารจัดการน้ำฤดูฝน เพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอใช้ไปจนถึงฤดูแล้งหน้า ด้วยการจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศอย่างเพียงพอ ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้น้ำฝนเป็นหลักในการเพาะปลูก บริหารจัดการน้ำท่าให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำ รวมทั้งวางแผนป้องกันอุทกภัย เพื่อลดผลกระทบและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนให้ได้มากที่สุด.