ผู้ว่าฯ นนทบุรี และ ผอ.สำนักงานชลประทานที่ 11 ลงพื้นที่เข้าแก้ไขเขื่อนป้องกั้นน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา จุดหน้าวัดลุ่มคงคารามยาว 380 เมตร โดยทางวิศวกรจะนำแผ่นชิปพายมาปักเป็นแนว จากนั้นก็จะนำดินและหินคลุกมาลง คาดจะใช้เวลาซ่อม 1 เดือน โดยส่วนที่พังไปจะสร้างใหม่ให้ได้มาตรฐาน ส่วนบ้านเรือนถูกผลกระทบ จะซ่อมให้เหมือนเดิม
จากเหตุการณ์เขื่อนป้องกั้นน้ำท่วมตั้งแต่ประตูระบายน้ำปากคลองบางกรวยจนถึงหน้าวัดลุ่มคงคาราม ได้พังลงในแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นระยะทางประมาณ 50 เมตร หลังทางกรมชลประทาน จังหวัดนนทบุรี ได้งบประมาณสนับสนุนจำนวน กว่า 38 ล้านบาท จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อเสริมแนวคันป้องกันน้ำให้ได้มาตราฐาน ด้วยหินคลุกบดอัด ตั้งแต่หน้าวัดค้างคาวไปถึงหน้าวัดลุ่มคงคาราม เป็นระยะทาง 380 เมตร
เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 13 พ.ค. 67 นายชุติมันต์ สกุลพราหมณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 11 กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเป็นการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณประตูระบายน้ำคลองบางกรวย โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เพื่อพัฒนาแหล่งชุมชนที่อยู่ใกล้โรงไฟฟ้า โดยทางการไฟฟ้าได้สนับสนุนงบประมาณมาประมาณ 38 ล้านบาท เพื่อทำการซ่อมแซมเขื่อนป้องกันตลิ่งดังกล่าว เพราะมีน้ำรั่วน้ำซึมเข้าจากการใช้งานมาเป็นเวลานาน หลังเกิดเหตุทางกรมชลประทานก็ไม่ได้นิ่งนอนใจจะเข้าดำเนินการตรวจสอบและเร่งซ่อมแซมให้ใช้งานได้อย่างปกติ
...
ผอ.สำนักงานชลประทานที่ 11 กล่าวว่า สำหรับโครงการนี้มีการก่อสร้างตั้งแต่วัดค้างคาว ไปจนถึงวัดลุ่ม ระยะทางประมาณ 380 เมตร เขื่อนนี้สร้างมาตั้งแต่ปี 55 มีการใช้งานมาหลายปี และบริเวณที่เขื่อนพังนั้นเป็นพื้นที่คุ้งน้ำทำให้เกิดการเซาะกร่อน เราจึงระวังและหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องมือหนัก โดยใช้คนแทนในการขนหินคลุกมาลงเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย หลังจากนี้ทางเราจะรีบแก้ไข เบื้องต้นทางทีมวิศวกรจะมีการนำแผ่นเหล็กชิปพายมาวางเป็นแนวหลังจากนั้นก็จะนำดินและหินคลุกมาลง คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ส่วนที่พังก็จะทุบทิ้งแล้วสร้างขึ้นใหม่ให้ได้มาตรฐาน สำหรับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบเราได้เข้าไปพูดคุยทำความเข้าใจแล้ว บ้านไหนที่เสียหายทางเราจะซ่อมแซมให้เหมือนเดิม
นายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี กล่าวว่า วันนี้ลงมาดูเขื่อนที่พังเสียหาย เนื่องจากตอนนี้นนทบุรีกำลังทำโครงการซ่อมแซมอาคารประกอบประตูระบายน้ำปากคลองบางกรวย เพราะที่ผ่านมาเมื่อน้ำท่วมเกิดจากน้ำรอดใต้เขื่อนแนวผนังกั้นน้ำเข้าไปท่วมในพื้นที่ จึงได้หาวิธีป้องกันไม่ให้น้ำรอดใต้เขื่อนหรือผนังกั้นน้ำเข้าไปท่วมบ้านเรือนประชาชนด้านในเขตอำเภอบางกรวย จึงได้หาวิธีโดยกรมชลประทานจังหวัดนนทบุรีร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำดินมาถมด้านในแนวหลังเขื่อน แต่เนื่องจากระหว่างก่อสร้างน้ำขึ้นลงมาก จะเกิดการทรุดตัวของแนวกำแพงเขื่อนเอนลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยา ดึงจนกำแพงหักล้มลงไปประมาณ 50 เมตร ซึ่งจากผลที่กำแพงล้มตรงนี้จะทำให้นนทบุรีไม่สามารถป้องกันน้ำท่วมในช่วงที่น้ำขึ้นได้ เดิมจะควบคุมโดยประตูควบคุมน้ำปากคลองบางกรวย แต่ตอนนี้เมื่อแนวกำแพงเขื่อนพัง น้ำก็จะไหลเข้าไปโดยไม่สามารถควบคุมได้
...
นายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี กล่าวว่า แต่ช่วงนี้เป็นช่วงที่น้ำยังอยู่ในภาวะปกติ คือน้ำยังไม่ท่วมแต่มีปัญหาเรื่องน้ำเค็ม ก็จะพยายามกั้นน้ำเค็มไม่ให้เข้าไปในคลองมากเกินไป โดยการปิดประตูควบคุมน้ำ แต่ตอนนี้เมื่อช่วงน้ำทะเลหนุนน้ำก็จะขึ้นมาอีกประมาณ 1 ถึง 2 เซนติเมตรก็ไม่มากนัก ก็ไม่ส่งผลกระทบอะไรกับบ้านเรือนประชาชน แต่ปัญหาคือจะทำอย่างไร เพื่อกันน้ำก่อนที่ฤดูน้ำหลากจะมาถึง ซึ่งได้คุยกับสำนักชลประทานที่ 11 แล้ว จะมีการซ่อมชั่วคราวก่อน เพราะถ้าจะให้ทำเหมือนเดิมจะใช้เวลาข้ามปี ไม่ทันช่วงเวลาน้ำหลาก การซ่อมชั่วคราวก็ใช้แผ่นชิปพายเสียบเป็น 2 แนวและใช้ดินลง
...
ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี กล่าวด้วยว่า ส่วนที่มีข่าวว่าบ้านเรือนประชาชนเสียหาย จริงๆ แล้วเกิดจากชาวบ้านมาสร้างบ้านชิดแนวกำแพงเขื่อนมากเกินไป เมื่อมีโครงการที่จะปรับปรุงโดยการนำหินคลุกมาลงคู่กับกำแพงเพื่อไม่ให้น้ำรอดเข้ามา หินก็อาจจะไหลไปดันเสาบ้านบ้าง ทางชลประทานจังหวัดนนทบุรีซึ่งเป็นเจ้าของโครงการก็ได้เข้ามาพูดคุย แล้วลดการใช้เครื่องจักรลงและใช้กำลังคนแทน เพื่อไม่ให้กระทบกับชาวบ้าน ส่วนที่เสียหายทางชลประทานจังหวัดก็จะเข้ามาดูแล ตรงนี้ตนให้ความสำคัญเพื่อซ่อมแซมในการป้องกันน้ำหลากให้เร็วที่สุด.