รมว.เกษตรฯ เผย ไทย–ญี่ปุ่น หารือกระชับสัมพันธ์ เพื่อนำเข้าสินค้าเกษตรไทย "กล้วยหอม ส้มโอ มะม่วงทุกสายพันธุ์" พร้อมหนุนองค์ความรู้เทคโนโลยีนวัตกรรม ครอบคลุมภาคประมง ภาคปศุสัตว์ และการร่วมมือวิจัย เสริมแกร่งยกระดับเกษตรกรไทย

ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวหลังหารือร่วมกับ นายเทตสึชิ ซากาโมโตะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงญี่ปุ่น พร้อมด้วย นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ ห้องประชุม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า การหารือร่วมกันของทั้งสองฝ่ายในครั้งนี้ ได้แลกเปลี่ยนแนวทางการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการเกษตร พร้อมกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นกันมากยิ่งขึ้น นำไปสู่การพัฒนาด้านเกษตรระหว่างกัน ซึ่งมีประเด็นที่สำคัญ 3 เรื่อง ได้แก่ การอำนวยความสะดวกด้านการค้าสินค้าเกษตร การเสริมสร้างความยั่งยืนของระบบเกษตรและอาหาร และการเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก

ในการหารือในวันนี้ ฝ่ายไทยได้มีการหารือถึงการเพิ่มปริมาณการส่งออกสินค้าเกษตรระหว่างกัน โดยเฉพาะการขยายการส่งออกส้มโอ และมะม่วงทุกสายพันธุ์ไปยังประเทศญี่ปุ่น ซึ่งถือว่าเป็นการเสริมสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและชาวสวน พร้อมผลักดันการส่งออกสินค้าเกษตรอื่นๆ ไปยังประเทศญี่ปุ่นเพิ่มเติม โดยเฉพาะกล้วยหอม ซึ่งญี่ปุ่นเป็นตลาดส่งออกกล้วยหอมทองที่สำคัญ

...

การหารือกันในครั้งนี้ ญี่ปุ่นได้เน้นนย้ำถึงโควตาการอนุญาตนำเข้ากล้วยหอมจากไทยเป็นจำนวน 8,000 ตัน/ปี ตามข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (Japan–Thailand Economic Partnership Agreement) หรือ JTEPA ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2550 ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรส่งเสริมการรวมกลุ่มแปลงใหญ่กล้วยหอมคุณภาพและผลักดันให้เป็นสินค้าส่งออก สร้างรายได้แก่เกษตรกร นอกจากนี้ ฝ่ายญี่ปุ่น ยินดีให้การสนับสนุนองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้กับภาคเกษตรของไทย ซึ่งถือเป็นโอกาสสำคัญ ที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันในการพัฒนาองค์ความรู้ของเกษตรกรอีกด้วย 

สำหรับประเด็นด้านการเสริมสร้างความยั่งยืนของระบบเกษตรและอาหาร ได้มีความร่วมมือเชิงวิชาการ เพื่อลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม สภาพภูมิอากาศ และระบบนิเวศ รวมทั้งเสริมสร้างการเพิ่มผลิตผลและผลผลิตในภาคการเกษตร ซึ่งมีความสอดคล้องกับการขับเคลื่อนนโยบาย BCG ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และแผนปฏิบัติการด้านการเกษตรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเป็นประเด็นที่ประชาคมโลกให้ความสำคัญเป็นอย่างมากในปัจจุบัน รวมถึงความยั่งยืนของระบบเกษตรและอาหารเป็นประเด็นที่มีการอภิปรายอย่างแพร่หลาย และเป็นแนวโน้มที่ทุกประเทศทั่วโลกต่างมีข้อห่วงกังวล และตระหนักถึงการร่วมมือเพื่อหาแนวทางการปฏิรูประบบเกษตรและอาหารให้มีความยั่งยืน

นอกจากนี้ ฝ่ายไทยและฝ่ายญี่ปุ่นได้มีการหารือถึงโครงการร่วมมือด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมเกษตรอัจฉริยะต่างๆ ที่อยู่ระหว่างการดำเนินงานร่วมกันในปัจจุบัน โดยไทยได้ขอให้ฝ่ายญี่ปุ่นพิจารณาขยายขอบข่ายความร่วมมือที่ครอบคลุมภาคประมง ภาคปศุสัตว์ และ การร่วมวิจัยและพัฒนาในด้านต่างๆ เพิ่มเติม ซึ่งการดำเนินโครงการดังกล่าวนอกเหนือจากที่เกษตรกรและภาคการเกษตรไทยจะต้องได้ประโยชน์แล้ว การดำเนินความร่วมมือกับฝ่ายญี่ปุ่นจะต้องเป็นไปตามกฎหมายและกฎระเบียบของประเทศไทยอีกด้วย

“การหารือแลกเปลี่ยนร่วมกันในครั้งนี้ นับเป็นแนวทางที่ดีในการพัฒนาภาคการเกษตรของทั้งสองประเทศในอนาคตต่อไป และเป็นการขยายความร่วมมือด้านการค้าทั้งการนำเข้าและส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญของทั้งสองฝ่าย อีกทั้งยังเน้นในเรื่องความยั่งยืน และการส่งเสริม Know-How เทคโนโลยีนวัตกรรมให้กับเกษตรกรไทย ซึ่งผลการหารือในวันนี้ผมจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้รับทราบและอนุมัติเห็นชอบในกรอบความร่วมมือเพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรม” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว

โอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กล่าวขอบคุณฝ่ายญี่ปุ่นที่ให้การสนับสนุนไทยในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกนครราชสีมา พ.ศ. 2572 ในระดับ A1 พร้อมทั้งได้เชิญรัฐมนตรีเกษตรญี่ปุ่นและรัฐบาลญี่ปุ่นเข้าร่วมจัดงานดังกล่าว รวมทั้งได้ขอให้ฝ่ายญี่ปุ่นช่วยประชาสัมพันธ์ให้กับภาคเอกชนญี่ปุ่นที่สนใจเข้าร่วมต่อไป 

ทั้งนี้ ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศคู่ค้าสินค้าเกษตรอันดับที่ 3 ของไทย ในระหว่างปี 2564-2566 ซึ่งมีสัดส่วนการค้าสินค้าเกษตรร้อยละ 7.65 ของมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรของไทยกับโลก โดยในปี 2564 มีมูลค่าการค้าสินค้าเกษตร 158,635 ล้านบาท และในปี 2565 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 183,487 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรเฉลี่ยปีละ 171,901 ล้านบาท โดยมีอัตราการค้าเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 4.60 ต่อปี

...

สำหรับการส่งออกสินค้าเกษตรไปประเทศญี่ปุ่นที่สำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่


1) ไก่ชนิดแกลลัสโดเมสติกัสปรุงแต่ง
2) ชิ้นเนื้อและเครื่องในที่บริโภคได้ของไก่ชนิดแกลลัสโดเมสติกัส แช่แข็ง
3) อาหารสุนัขหรือแมวสำหรับขายปลีก
4) ปลาทูนา ปลาสคิปแจ็ค และปลาโบนิโต ปรุงแต่ง อาทิ ปลาทูนากระป๋อง
5) ยางธรรมชาติที่กำหนดไว้ในทางเทคนิค.