กรมส่งเสริมการเกษตร ยกย่องเกษตรกรดีเด่น ปี 67 ใน 8 สาขา ทั้งทำสวน ทำไร่ ไร่นาสวนผสม สมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกร กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร กลุ่มยุวเกษตรกร และ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ชูเป็นต้นแบบให้เกษตรกรไทย โดยจะเข้ารับพระราชทานโล่รางวัลในงานพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ 10 พ.ค. 67
นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ในแต่ละปีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะจัดให้มีการประกวดผลงานของเกษตรกร สถาบันเกษตรกร สหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ และปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ตั้งแต่ระดับจังหวัดจนถึงระดับชาติ เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติเกษตรกร สถาบันเกษตรกร สหกรณ์ และปราชญ์เกษตรที่มีผลงานดีเด่น ควรแก่การเป็นแบบอย่างให้กับเกษตรกร สถาบันเกษตรกร และสหกรณ์รายอื่นๆ ได้ใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาอาชีพและการปฏิบัติงาน โดยเกษตรกร ผู้แทนสถาบันเกษตรกร ผู้แทนสหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติและปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน จะเข้ารับพระราชทานโล่รางวัลในงานพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวงทุกปี สำหรับปี 2567 จะตรงกับวันศุกร์ที่ 10 พฤษภาคม 2567 โดยกรมส่งเสริมการเกษตรได้รับมอบหมายให้ดำเนินการคัดเลือกเกษตรกร บุคคลทางการเกษตร และสถาบันเกษตรกรดีเด่น จำนวน 8 สาขา ซึ่งแต่ละสาขามีผลงานดีเด่น ดังนี้
...
1. นายประดับ ปิ่นนาค จังหวัดอุตรดิตถ์ เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพทำสวน ประจำปี พ.ศ. 2567เปลี่ยนจากทำไร่อ้อยมาเป็นสวนไผ่ โดยเล็งเห็นโอกาสในการขยายพันธุ์ไผ่เพื่อจำหน่าย จึงได้ปรับพื้นที่ดินจากบ่อดินลูกรังมาปลูกไผ่ซางหม่นและไผ่พื้นบ้านเพื่อขายหน่อและใช้งาน คิดค้นวิธีการตอนกิ่งแบบ “ตอน 1 ข้อ ได้ 2 กิ่ง” ต่อยอดเป็นจุดขยายพันธุ์ไผ่ สร้างอาชีพให้กับครัวเรือนและคนในชุมชนตลอดทั้งปี
2. นายสุริยา ห่วงถวิล จังหวัดลพบุรี เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพทำไร่ ประจำปี พ.ศ. 2567 ลาออกจากงานประจำมาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง และอ้อยโรงงาน ทำการเกษตรด้วยความเคยชิน ทำให้ประสบปัญหาขาดทุน จึงได้เริ่มศึกษาความรู้ด้านการเกษตร เข้าร่วมอบรมดูงานจากหน่วยงานต่างๆ นำวิชาการความรู้มาประยุกต์ใช้ ปรับปรุงพัฒนาคุณภาพเป็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ GAP ทำให้ได้ผลผลิตสูง มีการเชื่อมโยงกับกลุ่มเกษตรกรแบบแปลงใหญ่ ทั้งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ GAP และมันสำปะหลัง เพื่อสร้างเครือข่ายและพัฒนาผลผลิตให้ตรงตามความต้องการของตลาดอยู่เสมอ
3. นางอัญชัน สุขจันทร์ จังหวัดสุรินทร์ เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพไร่นาสวนผสม ประจำปี พ.ศ. 2567 เปลี่ยนจากทำเกษตรเชิงเดี่ยวโดยปลูกข้าวเป็นหลัก ปรับพื้นที่เป็นโคก หนอง นา ทำเป็นไร่นาสวนผสม ผลิตเมล็ดข้าวและผักอินทรีย์ตามมาตรฐาน GAP แปรรูปผลผลิตเพิ่มมูลค่า จนได้รับการยอมรับจากชุมชน มีการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อลดการใช้น้ำและไฟฟ้าภายในฟาร์มโดยใช้ระบบให้น้ำแบบสปริงเกอร์ และใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์
...
4. นายนพธิไกร จอมภาปิน จังหวัดแพร่ บุคคลทางการเกษตรดีเด่นแห่งชาติ ประเภทที่ปรึกษากลุ่มยุวเกษตรกร ประจำปี พ.ศ. 2567 สนับสนุนการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มยุวเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง ให้คำแนะนำ กำกับดูแลการดำเนินงานและกิจกรรมของสมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกรทั้งที่โรงเรียนและที่บ้านอย่างใกล้ชิด ด้วยใจรักมีการดำเนินชีวิตตามแนวทางหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยเล็งเห็นว่าควรเริ่มจากการปลูกฝังและฝึกทักษะให้สมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกรได้เรียนรู้และฝึกทักษะด้านการเกษตรและเคหกิจเกษตรจากการฝึกปฏิบัติจริง
5. เด็กหญิงรัตนกานต์ นวลจันทร์ จังหวัดพัทลุง บุคคลทางการเกษตรดีเด่นแห่งชาติ ประเภทสมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกร ประจำปี พ.ศ. 2567 ครอบครัวประกอบอาชีพเกษตรกรรม ช่วยบิดามารดากรีดยางและเก็บยางพาราก้อนถ้วยขายในวันหยุด ช่วยแบ่งเบาภาระของครอบครัว เข้าร่วมกิจกรรมของกลุ่มยุวเกษตรกรแบบมีส่วนร่วม ทำให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพด้านต่างๆ โดยนำหลัก 4 ก คือ เกศ กมล กร และกาย รวมถึงนำยุทธศาสตร์พระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา” และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาใช้ในการทำเกษตรเพื่อสร้างรายได้ให้ครอบครัว
...
6. กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรทอผ้าพุเตย จังหวัดเพชรบูรณ์ สถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประเภทกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ประจำปี พ.ศ. 2567 กลุ่มสตรีในชุมชนได้รวมตัวกันจัดตั้งเป็น “กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรทอผ้าพุเตย” เพื่อใช้เวลาว่างหลังฤดูกาลผลิตสร้างรายได้เสริมให้กับครอบครัว และสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการทอผ้า และเสื่อกกที่ใช้สีย้อมจากวัตถุดิบธรรมชาติที่มีในชุมชน ภายใต้ชื่อ “ผ้าทอพุเตย” ออกแบบลวดลายที่สื่อถึงอัตลักษณ์ของวิถีชีวิตชุมชน และจดแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ประเภทงานศิลปกรรม จำนวน 10 ลาย ยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์จนได้รับมาตรฐาน เช่น ตรานกยูงพระราชทาน “นกยูงสีน้ำเงิน” มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) OTOP
...
7. กลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนบ้านเหล่า (รัฐราษฎร์บำรุง) จังหวัดแพร่ สถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประเภทกลุ่มยุวเกษตรกร ประจำปี พ.ศ. 2567 จัดทำฐานเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ ดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง บริหารงานกลุ่มแบบ PDCA ยุวเกษตรกรเกิดการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง จำหน่ายผลผลิตและผลิตภัณฑ์แปรรูปของกลุ่มฯ เช่น แหนมเห็ด ปลาส้ม แยมมัลเบอร์รี่ เค้กกล้วยหอม ไข่เค็ม ให้กับโครงการอาหารกลางวันของโรงเรียน ผู้ปกครอง ชุมชน และร้านค้าสหกรณ์โรงเรียน จัดสรรผลกำไรจากการดำเนินกิจกรรมกลุ่มยุวเกษตรกรให้แก่สมาชิกทุกคน
8. เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์จังหวัดอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ สถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประเภทวิสาหกิจชุมชน ประจำปี พ.ศ. 2567 มีวิสัยทัศน์ที่จะเป็นผู้ผลิตข้าวอินทรีย์มาตรฐานระดับโลก ใช้การตลาดนำการผลิต ยึดผลประโยชน์สูงสุดเพื่อสมาชิก กลุ่มชุมชน และเครือข่ายอย่างยั่งยืน มีระบบ “แก้มลิง” ในการชะลอการจำหน่ายข้าว มีเป้าหมายทางการตลาดจำหน่ายข้าวอินทรีย์ส่งออกต่างประเทศ 90% และจำหน่ายในประเทศ 10% ได้รับการรับรองมาตรฐานสากล Fairtrade, EU, NOP, JAS และ COFCC
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า กรมส่งเสริมการเกษตรขอแสดงความยินดีกับเกษตรกร บุคคลทางการเกษตร และสถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2567 ทุกท่าน และคาดหวังว่านอกจากผลการคัดเลือกดังกล่าว จะเป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติ สร้างความภาคภูมิใจในการประกอบอาชีพของเกษตรกร บุคคลทางการเกษตร และสถาบันเกษตรกรดีเด่นที่ได้รับการคัดเลือกแล้ว การถอดบทเรียนจากความสำเร็จของเกษตรกร บุคคลทางการเกษตร และสถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2567 ยังจะเป็นแรงบันดาลใจ และประโยชน์ต่อเกษตรกร และผู้ที่สนใจด้านการเกษตรในการพัฒนาอาชีพด้านการเกษตร ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาคการเกษตรไทยในอนาคตด้วย.