กรมส่งเสริมสหกรณ์ ยก “สหกรณ์การเกษตรเขาคิชฌกูฏ จำกัด” ต้นแบบสหกรณ์ส่งออกทุเรียนลุยตลาดจีน ตั้งเป้าเพิ่มปริมาณรวบรวมผลผลิตให้ได้ 2,000 ตัน รองรับฤดูกาลผลิตปี 67 เชื่อมั่นว่าสหกรณ์มีศักยภาพเพียงพอที่จะดำเนินการได้
นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังร่วมลงพื้นที่กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตรวจเยี่ยมโรงคัดบรรจุผลไม้สหกรณ์การเกษตรเขาคิชฌกูฏ จำกัด ว่า ในปี 2567 กรมได้วางแนวทางการขับเคลื่อนงานตามนโยบายของ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ “เกษตรกรต้องอยู่ดี สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ทรัพยากรเกษตรยั่งยืน” ซึ่งจังหวัดจันทบุรีนับเป็นพื้นที่ส่งออกผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญของประเทศไทย โดยเฉพาะ “ทุเรียน” ที่สามารถครองส่วนแบ่งตลาดทุเรียนสดในจีนได้ถึงร้อยละ 65.15 ด้วยปริมาณการนำเข้า 928,976 ตัน
ดังนั้น การยกระดับขีดจำกัดและความสามารถด้านการรวบรวมผลผลิตของสหกรณ์การเกษตรในพื้นที่ พร้อมกับการควบคุมคุณภาพผลผลิตให้ได้มาตรฐาน จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการวางแผนเตรียมความพร้อมสำหรับฤดูกาลผลิต ปี 2567 ที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ต้องบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ ในพื้นที่ ในการช่วยผลักดันนโยบายของกระทรวงให้สัมฤทธิผล ซึ่งการลงพื้นที่ครั้งนี้ทำให้มั่นใจได้ว่าสหกรณ์การเกษตรเขาคิชฌกูฏ จำกัด จะสามารถเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ได้อย่างเข้มแข็ง
...
สหกรณ์การเกษตรเขาคิชฌกูฏ จำกัด เป็นสหกรณ์ในจังหวัดจันทบุรีที่มีศักยภาพในการส่งออกผลไม้ไปยังประเทศจีนได้เป็นจำนวนมากและมีคุณภาพ เนื่องด้วยสหกรณ์มีความพร้อมในการดำเนินงานครบทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบุคลากร ฝ่ายจัดการดำเนินการ รวมถึงเครื่องมืออุปกรณ์การตลาด และอาคารสถานที่ โดยสหกรณ์ให้ความสำคัญเรื่องการส่งเสริมให้สมาชิกวางแผนการผลิตควบคู่กับวางแผนการตลาด ผ่านการส่งเสริมให้มีกลุ่มผู้ผลิตสินค้าคุณภาพ ได้แก่ กลุ่มทุเรียน กลุ่มมังคุด ซึ่งจุดแข็งของสหกรณ์ คือ ความโดดเด่นในการดำเนินธุรกิจรวบรวมผลผลิตทางการเกษตร โดยสามารถรวบรวมผลผลิตทุเรียน และมังคุด จากสมาชิกและบุคคลภายนอก เพื่อจำหน่ายไปยังบริษัทส่งออกได้สูงถึง 3,055 ตัน มีมูลค่ากว่า 292 ล้านบาท แบ่งเป็นมังคุด จำนวน 2,056 ตัน และทุเรียน จำนวน 999 ตัน (ณ สิ้นปีบัญชี 30 กันยายน 2566)
อีกทั้งสหกรณ์ยังดำเนินงานโดยยึดหลัก “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ใช้ระบบตลาดนำการผลิต เพิ่มช่องทางการตลาดให้มีความหลากหลาย มีการจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ซื้อ-ผู้ขาย เพื่อสร้างเครือข่ายธุรกิจเกษตรและสินค้าเกษตรแปรรูป เพื่อเป็นผลิตภัณฑ์เกษตรชุมชนที่เชื่อมโยงกับตลาดชุมชน พร้อมกับหาวิธีการการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้น ซึ่งสหกรณ์ได้คิดวิธีการลดต้นทุนในส่วนของค่าปุ๋ยเพื่อช่วยเหลือสมาชิก โดยเตรียมความพร้อมการใช้ปุ๋ยจากธรรมชาติ เป็นสารปรับปรุงดินทำจากเปลือกทุเรียนไว้ใช้เอง ผ่านกระบวนการแปรรูปผลผลิตทุเรียนแบบครบวงจร โดยมีวิธีการคือนำเปลือกทุเรียนไปสับย่อยและหมักเป็นสารปรับปรุงดินทำจากเปลือกทุเรียน เพื่อจำหน่ายให้สมาชิกในราคาย่อมเยา สามารถลดต้นทุนการผลิตให้สมาชิกเฉลี่ย 2.6 บาทต่อกิโลกรัม
โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์สนับสนุนงบประมาณตามโครงการสนับสนุนอุปกรณ์แปรรูปผลผลิตทางการเกษตร จำนวน 33,510,600 บาท สำหรับสร้างอาคารรวบรวมผลผลิต อาคารห้องเย็นแปรรูปผลผลิตการเกษตร อาคารโรงผสมปุ๋ย เครื่องผสมปุ๋ย และเครื่องอัดเม็ดปุ๋ย เพื่อยกระดับคุณภาพสินค้า และเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการแก่สมาชิกด้วย นอกจากนี้ สหกรณ์ยังได้เข้าร่วมโครงการต่างๆ หลายโครงการ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสมาชิก อาทิ โครงการสนับสนุนเงินทุนเพื่อสร้างระบบน้ำในไร่นาของสถาบันเกษตรกร โครงการส่งเสริมอาชีพสมาชิกสหกรณ์ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง และโครงการลดต้นทุนการผลิตเพื่อส่งเสริมให้สมาชิกสามารถพึ่งพาตนเองและพัฒนาต่อยอดอาชีพเกษตรกรได้ รวมทั้งโครงการสร้างทายาทสหกรณ์ภาคการเกษตร Smart Coop เพื่อเตรียมความพร้อมคนรุ่นใหม่เพื่อสืบสานอาชีพเกษตรกร เป็นต้น
...
“สำหรับแผนการดำเนินงานในอนาคตเพื่อเตรียมความพร้อมในการรองรับผลผลิตตามฤดูกาลผลิต ปี 2567 สหกรณ์การเกษตรเขาคิชฌกูฏ จำกัด ตั้งเป้าใช้อุปกรณ์การตลาดที่ได้รับการสนับสนุนให้เต็มศักยภาพ โดยจะเพิ่มปริมาณการรวบรวมผลผลิต เป็นจำนวน 3,600 ตัน (เพิ่มจากเดิมประมาณ 600 ตัน) แบ่งเป็นทุเรียน จำนวน 2,000 ตัน และมังคุด จำนวน 1,600 ตัน ซึ่งเชื่อมั่นว่าสหกรณ์มีศักยภาพเพียงพอที่จะดำเนินการได้ โดยบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานในกระทรวงเกษตรฯ และจังหวัดจันทบุรี ในการตรวจสอบคุณภาพผลผลิตให้ได้ตามมาตรฐานที่กรมวิชาการเกษตรกำหนด ทำให้ผลผลิตเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ” อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าว
...
อย่างไรก็ตาม นอกจากสหกรณ์การเกษตรเขาคิชฌกูฏ จำกัด แล้ว จังหวัดจันทบุรียังมีสหกรณ์ที่ดำเนินธุรกิจรวบรวมและกระจายผลไม้อีกจำนวน 8 แห่ง ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรเมืองจันทบุรี จำกัด, สหกรณ์การเกษตรเมืองขลุง จำกัด, สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส.จันทบุรี จำกัด, สหกรณ์การเกษตรนายายอาม จำกัด, สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านอ่างคีรี จำกัด, สหกรณ์การเกษตรมะขาม จำกัด, สหกรณ์การเกษตรสอยดาว จำกัด และสหกรณ์นิคมสอยดาว จำกัด ซึ่งสหกรณ์เหล่านี้จะรวบรวมผลผลิตของสมาชิกส่งจำหน่ายตลาดภายในประเทศผ่านห้างโมเดิร์นเทรด รวมถึงผ่านเครือข่ายสหกรณ์ด้วยกันเอง โดยผลผลิตที่มีปริมาณรวบรวมมากที่สุด คือ มังคุด ที่จำนวน 2,257 ตัน ในขณะที่ทุเรียนมีปริมาณการรวบรวมอยู่ที่ 1,350 ตัน (ณ สิ้นปีบัญชี 30 กันยายน 2566)
ทั้งนี้ สหกรณ์การเกษตรเขาคิชฌกูฏ จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเป็นสหกรณ์ เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2537 ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 1,325 คน โดยมีการดำเนินธุรกิจ 4 ธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจรับฝากเงิน ธุรกิจสินเชื่อ ธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย และธุรกิจรวบรวมผลผลิต สร้างรายได้ให้แก่สหกรณ์เฉลี่ยปีละ 300 ล้านบาท สหกรณ์มีทุนดำเนินงานกว่า 89 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 4.49 ล้านบาท โดยสหกรณ์ผ่านการประเมินตามเกณฑ์ความเข้มแข็งสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ในระดับชั้นที่ 1 มีประสิทธิภาพในการบริหารงานและการจัดการองค์กร ซึ่งผลการประเมินชั้นคุณภาพของการควบคุมภายในอยู่ในระดับดีมาก.
...