ผวจ.สมุทรปราการ สส.ก้าวไกล กับตัวแทนชาวบ้าน ประชุมแก้ปัญหาน้ำเค็มทะลักเข้าคลองปลาตายอื้อ ผู้ว่าฯ ชี้ วิธีการต่างกันทำให้ปะทะคารมบ้างแต่ สุดท้ายทุกฝ่ายก็อยากช่วยชาวบ้าน แต่ต้องยึดระเบียบ ข้อกฎหมาย โดยทำให้ประชาชนเดือดร้อนน้อยสุด
เมื่อเวลา 10.30 น.วันที่ 17 เม.ย.2567 ที่ศาลาวัดบ้านระกาศ ต.บางบ่อ อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ นายศุภมิตร ชิณศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชาการที่เกี่ยวข้อง กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงบ่อปลา นาข้าว อ.บางบ่อ ร่วมถึงนายตรัยวรรธน์ อิ่มใจ สส.สมุทรปราการ เขต 8 พรรคก้าวไกล และทีมงานผู้ช่วย ได้เข้าร่วมประชุมเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำทะเลไหลทะลักเข้าเจือปนกับน้ำจืดในคลองต่างๆ โดยปัญหานี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 9 เม.ย.2567 เวลาประมาณ 19.30 น.เกิดเหตุทำนบดินงานก่อสร้างสถานีสูบน้ำท่าถั่ว ต.บางกรูด อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา เกิดทรุดตัวพังลง เป็นเหตุให้น้ำทะเลจากแม่น้ำบางปะกง ทะลักเข้ามาในคลองประเวศบุรีรมย์ไหลเจือปนกับน้ำจืดตามคลองสาขาต่างๆ ยาวเลยเข้ามาถึงในพื้นที่ อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ เป็นเหตุให้ปลาที่อยู่ในคลองธรรมชาติตายลอยเกลื่อน
...
ส่งผลให้เกษตรกร ผู้เลี้ยงบ่อปลา นาข้าว และประชาชนผู้ใช้น้ำจากคลองสูบมาทำประปาหมู่บ้าน ได้รับผลกระทบกว่าหมื่นคน หลังจากที่กรมชลประทานนำโดยนายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน ลงพื้นที่เข้าตรวจสอบจุดเกิดเหตุ สั่งการเร่งแก้ไขและสามารถปิดกั้นน้ำทะเลได้แล้วใช้เวลาประมาณ 5 วัน ขณะนี้อยู่ในช่วงผลักดันน้ำเค็มที่ไหลเข้าเจือปนกับน้ำจืดในคลองต่างๆ นำออกคืนสู่ทะเล สรุปจะใช้วิธีนำเครื่องผลักดันน้ำ เครื่องสูบน้ำ ทั้งขนาดเล็ก-ขนาดใหญ่ ระดมเข้ามาช่วยกันเร่งระบายน้ำเค็มออกไปให้เร็วเพื่อลดปัญหาความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับเกษตรกรให้เหลือน้อยที่สุด
หลังจากที่การประชุมดำเนินไป หน่วยงานที่รับผิดชอบชี้แจงแนวทางแก้ไข จากนั้นผู้ว่าฯ เปิดโอกาสให้ชาวบ้าน ผู้ร่วมประชุมซักถาม หรือแสดงความคิดเห็น นายตรัยวรรธน์ อิ่มใจ สส.สมุทรปราการ เขต 8 พรรคก้าวไกล และทีมงานผู้ช่วย ได้ยืนขึ้นแสดงความคิดเห็น ตั้งข้อสังเกต โดยอิงการช่วยเหลือชาวบ้านอย่างเร่งด่วนเป็นหลัก แต่ผู้ว่าฯ ได้ตอบกลับชี้แจงว่าการที่หน่วยงานราชการจะช่วยชาวบ้านได้นั้น ต้องตรวจสอบความเสียหายที่เกิดขึ้น ต้องเดือดร้อนจริง มีพยานหลักฐานอ้างอิง และต้องดูระเบียบข้อกฎหมายเป็นหลัก มิฉะนั้นอาจทำให้ข้าราชการผู้ปฏิบัติ ต้องรับโทษ ทางคดีอาญา ถึงขั้นติดคุกได้ ซึ่งบรรยากาศช่วงดังกล่าว เป็นไปอย่างดุเดือด ชั่วขณะ
นายศุภมิตร ชิณศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ กล่าวว่า การประชุมวันนี้แบ่งเป็น 2 ส่วน เรื่องแรก 1.เรื่องของการตรวจสอบความเสียหาย เบื้องต้น ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเกษตรกรประมง และมีกลุ่มเกษตรกรพืชสวนบางส่วน ซึ่งจะต้องใช้เวลาตรวจสอบประมาณ 1-2 วัน หลังจากทราบข้อมูลชัดเจน ก็จะสามารถประกาศตามระเบียบราชการได้
ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องที่ 2 คือ การเร่งระบายน้ำเค็มออกไปให้เร็วที่สุด ซึ่งได้ประสานไปที่ น.ส.นันทิดา แก้วบัวสาย นายก อบจ.สมุทรปราการ ได้ตอบรับให้การสนับสนุนเครื่องสูบน้ำ มาใช้งานร่วมกับกรมชลประทาน รวมถึงสนับสนุนเรื่องน้ำมันที่จะใช้เป็นเชื้อเพลิงด้วย โดยจะใช้ร่วมกับงบประมาณภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นของสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
...
นายศุภมิตร กล่าวด้วยว่า ประเด็นเรื่องการนำน้ำจืดไปบรรเทาความเดือดร้อนให้เกษตรกรผู้เป็นเจ้าของบ่อเลี้ยงปลาที่เป็นเอกชน ระเบียบราชการระบุไว้ ไม่สามารถทำได้ แต่ได้สั่งการให้อำเภอบางบ่อ และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไปดูระเบียบเรื่องของศูนย์ช่วยเหลือประชาชน ว่ามีกฎหมายระบุให้สามารถทำได้ไหม หากไม่มีอาจต้องประสานไปยังภาคเอกชนให้เข้ามาช่วยกัน พร้อมยืนยัน ต้องหาวิธีการช่วยเหลือประชาชนผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน ในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณจากภาครัฐ ภาคเอกชน หรือกระทั่งงบประมาณส่วนตัว นายกท้องถิ่นทุกคนพร้อมให้การช่วยเหลือเต็มที่.
...