กรมชลประทาน เปิด swoc ประชุม 17 สำนักงานฯ ขานรับข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี คุมเข้มการใช้น้ำให้พอใช้อุปโภคบริโภคตลอดแล้งนี้ ย้ำขอร่วมมือไม่ทำนาปรังรอบ 2 ติดตามการใช้น้ำพื้นที่ EEC ตามข้อตกลงเคร่งครัด ส่วนค่าความเค็มยังควบคุมได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (4 มี.ค.67) ที่ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (swoc) อาคาร 99 ปี หม่อมหลวงชูชาติ กำภู กรมชลประทาน ถนนสามเสน นายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีนายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่างๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ต่อไป
สำหรับสถานการณ์น้ำปัจจุบัน (4 มี.ค. 67) พบว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 50,251 ล้าน ลบ.ม. (66% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) เป็นน้ำใช้การได้ 26,309 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 13,912 ล้าน ลบ.ม. (56% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) มีปริมาณน้ำใช้การได้ 7,216 ล้าน ลบ.ม. จนถึงขณะนี้ทั้งประเทศมีการใช้น้ำไปแล้วกว่า 15,916 ล้าน ลบ.ม. (64% ของแผนฯ) เฉพาะลุ่มเจ้าพระยามีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 5,815 ล้าน ลบ.ม. (67% ของแผนฯ)
...
ด้านสถานการณ์การเพาะปลูกข้าวนาปรัง ทั้งประเทศมีการทำนาปรังไปแล้วประมาณ 8.50 ล้านไร่ หรือร้อยละ 147 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มเจ้าพระยา มีการทำนาปรังไปแล้วประมาณ 5.68 ล้านไร่ หรือร้อยละ 188 ของแผนฯ ด้านสถานการณ์ค่าความเค็มยังอยู่ในเกณฑ์ควบคุมได้ แต่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษในบริเวณลุ่มน้ำแม่กลอง โดยมีการปรับการระบายน้ำจากเขื่อนแม่กลองให้สอดคล้องกับการขึ้นลงของน้ำทะเล
ในการนี้ กรมชลประทานได้ดำเนินการปรับลดการส่งน้ำเข้าพื้นที่บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา พร้อมรณรงค์ขอความร่วมมือเกษตรกรไม่ทำนาปรังรอบ 2 พร้อมติดตามการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ EEC ให้เป็นไปตามตามข้อตกลงอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น ในส่วนของพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลุ่มน้ำชีมูล ให้มีการติดตามการบริหารจัดการน้ำอย่างเพียงพอ ตลอดจนวางแผนการบริหารจัดการน้ำ เตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อรองรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยให้มีการพยากรณ์ล่วงหน้า เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงได้เตรียมการรับมือ
ทั้งนี้ ขอให้ทุกภาคส่วนร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ ไปจนถึงต้นฤดูฝนหน้า ตามข้อสั่งการของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ได้กำชับให้กรมชลประทานบริหารจัดการน้ำให้แก่ประชาชนทั่วประเทศอย่างเต็มประสิทธิภาพ.