ชลประทานที่ 6 ขอนแก่น ยืนยันปี 2567 นี้ไม่แล้ง ปริมาณน้ำเก็บกักในเขื่อนต่างๆ มีกว่า 78% เร่งแจกจ่ายน้ำให้เกษตรกรทำนาปรัง ครอบคลุมพื้นที่ 1.2 ล้านไร่ได้ เพียงพอจะใช้ไปจนถึงต้นฤดูฝนช่วง ส.ค.นี้แน่นอน
เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2567 ที่สำนักงานชลประทานที่ 6 ต.ในเมือง อ.เมืองขอนแก่น จ.ขอนแก่น นายวัลลพ กรรณิการ์ ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา สำนักงานชลประทานที่ 6 เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในภาพรวมปีนี้เพียงพอต่อการบริหารจัดการตลอดทั้งช่วงฤดูแล้งปีนี้ โดยขณะนี้มีปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ที่ 4,661 ล้าน ลบ.ม. หรือ 78% ไม่มีปัญหาเรื่องการเพาะปลูก สามารถสนับสนุนได้ทุกกิจกรรมตลอดฤดูแล้ง และสำรองถึงต้นฤดูฝนในช่วงเดือน ส.ค. อย่างแน่นอน
ผอ.ส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษาฯ กล่าวต่อว่า สถานการณ์น้ำในขอนแก่นซึ่งมีเขื่อนอุบลรัตน์เป็นเขื่อนขนาดใหญ่มีน้ำอยู่ 76% หรือ 1,800 ล้าน ลบ.ม. ส่วนเขื่อนระบายน้ำที่เกี่ยวเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนชนบทและเขื่อนมหาสารคามมีน้ำ 42.7 ลบ.ม. หรือ 107% ถือว่าน้ำอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก ส่วนปริมาณน้ำต้นทุนในขอนแก่นจากแหล่งเก็บกักน้ำทุกแหล่งรวมกันทุกที่จากความจุเก็บกัก 2,934 ล้าน ลบ.ม. ประมาณ 77% หรือปริมาณน้ำอยู่ 2,255 ล้าน ลบ.ม. ประมาณ 76% น้ำใช้การ 1,653 ล้าน ลบ.ม. ประมาณ 71% ทุกกิจกรรมในจังหวัดขอนแก่นไม่มีความเสี่ยงขาดแคลนน้ำอย่างแน่นอน และพร้อมสนับสนุนการประปาทุกแหล่งที่อยู่ในลำน้ำพอง ลำน้ำชีที่กรมชลประทานดูแลได้อย่างเพียงพอ
นายวัลลพ กล่าวอีกว่า สำหรับการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งหรือทำข้าวนาปรังปีนี้ไม่มีปัญหา ซึ่งจากพื้นที่ชลประทานทั้งหมด 2.46 ล้านไร่ เป็นเขตชลประทานดูแลประมาณ 1.27 ล้านไร่และ อปท. ดูแล 1.2 ล้านไร่ พบว่าปีนี้วางแผนเพาะปลูกประมาณ 1.2 ล้านไร่ ปัจจุบันเพาะปลูกไปแล้ว 958,000 ไร่ หรือ 77% คาดว่าภายในสิ้นเดือน ก.พ. น่าจะเพาะปลูกเต็ม 100% และไม่มีปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำ สามารถปลูกพืชได้เต็มศักยภาพ
...
ผอ.ส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษาฯ กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตามภายหลังจากที่การบริหารจัดการน้ำตามแผนฤดูแล้งที่จะสิ้นสุดฤดูแล้งวันที่ 30 เม.ย. นี้ เราจะมีน้ำต้นทุนในแหล่งเก็บกักที่กรมชลประทานดูแลและท้องถิ่นดูแลเหลือประมาณ 2,900 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณน้ำที่เยอะเกือบประมาณ 50% ของแหล่งเก็บกัก ดังนั้นขณะนี้ได้มีการวางแผนใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยสนับสนุนให้เกษตรกรเริ่มเพาะปลูกนาปรังโดยนำน้ำที่เหลือมาเตรียมแปลงและใช้น้ำฝนเป็นหลัก เพื่อจะบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำให้เป็นไปตามเกณฑ์และรองรับฝนใหม่ที่จะเข้ามาในฤดูฝนปีนี้อีกด้วย.