รมว.เกษตรฯ เปิดสัมมนาชาวประมงพื้นบ้านประเทศไทย ครั้งที่ 9/2566 ที่ระนอง เพื่อร่วมหาทางออกปัญหาประมงพื้นบ้าน ส่งเสริมการต่อยอดอาชีพอย่างยั่งยืน และสร้างกลไกบริหารจัดการ และฟื้นฟูทรัพยากรประมงทะเล

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดการสัมมนาชาวประมงพื้นบ้านประเทศไทย ครั้งที่ 9/2566 พร้อมทั้งรับฟังปัญหาความเดือดร้อนจากตัวแทนสมาชิกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย โดยมี ผู้บริหารในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้บริหารส่วนราชการจังหวัดระนอง และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ สถานีวิจัยเพื่อการพัฒนาชายฝั่งอันดามันมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หาดประพาส ต.กำพวน อ.สุขสำราญ จ.ระนอง

...

สำหรับการประชุมสมัชชาชาวประมงพื้นบ้านประเทศไทยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ และหาแนวทางการประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านให้คงอยู่อย่างยั่งยืนระหว่างสมาชิกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านกว่า 67 กลุ่ม ซึ่งอาชีพประมงพื้นบ้านเป็นกลุ่มอาชีพที่กระทรวงเกษตรฯ เล็งเห็นถึงความสำคัญ และมุ่งพัฒนาแนวทางการประกอบอาชีพอย่างรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ ด้านเครื่องมือประมง และด้านเรือที่ใช้ในการทำประมง ตลอดจนแหล่งเงินทุน และการต่อยอดผลิตภัณฑ์ประมง เพื่อเพิ่มมูลค่าของสัตว์น้ำ สร้างความมั่นคงในอาชีพประมงพื้นบ้านอย่างยั่งยืน  

นอกจากนี้ยังได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาข้อเสนอนโยบายการประมง และพัฒนาคุณภาพชีวิตประมงพื้นบ้าน เพื่อหาทิศทางในการช่วยเหลือพี่น้องประมงพื้นบ้าน ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ และภาคประชาชน ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมประมงได้ดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อส่งเสริมและต่อยอดการประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านให้แก่ชาวประมงในพื้นที่จังหวัดระนอง และจังหวัดใกล้เคียง ตามแนวทางนโยบาย

“เกษตรกรต้องอยู่ดี สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ทรัพยากรเกษตรยั่งยืน” ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกอบด้วย
1) การสร้างกลไกความร่วมมือเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรประมงทะเล เพื่อฟื้นฟูการประมงทะเล และอุตสาหกรรมการประมง
2) การผลักดันให้ประมงพื้นบ้านมีการขึ้นทะเบียนผู้ทำการประมงอย่างถูกกฎหมาย
3) การจัดทำแผนบริหารจัดการทรัพยากรให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน
4) การฟื้นฟูทรัพยากร และแหล่งประมง อาทิ การผลิตพันธุ์สัตว์น้ำเพื่อปล่อยสู่ธรรมชาติปีละ 100-150 ล้านตัว และการจัดสร้างปะการังเทียมมากกว่า 500 แห่ง ใน 20 จังหวัดชายฝั่งทะเล เป็นต้น
5) การส่งเสริม และการสร้างมูลค่าแก่สินค้าประมงพื้นบ้าน เป็นการยกระดับผลิตภัณฑ์แปรรูปประมงอย่างมีมาตรฐาน สร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค อาทิ การออกตราสัญลักษณ์ประมงธงเขียวสำหรับสินค้าประมง
6) การส่งเสริมองค์ความรู้สำหรับการต่อยอดอาชีพ ตลอดจนแนวทางการเพิ่มช่องทางการตลาดสินค้าให้แก่พี่น้องชาวประมงพื้นบ้าน เพื่อโอกาสในการเพิ่มรายได้อย่างทั่วถึง

...

“สำหรับปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวประมง กระทรวงเกษตรฯ ไม่เคยนิ่งนอนใจ ในขณะนี้ได้เร่งจัดทำกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับภาคประมง จำนวน 19 ฉบับ พร้อมเร่งหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาให้การประมงพาณิชย์ และประมงพื้นบ้าน สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเท่าเทียม” รมว.ธรรมนัส กล่าว.