สมาพันธ์ปศุสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ออกแถลงการณ์ ชี้ ประกาศนำเข้าสินค้ากากถั่วเหลือง ปี 2563-2566 กำลังจะหมด 31 ธ.ค. 66 แต่ยังไม่ได้รับการเสนอในที่ประชุม ครม. คาดนำเข้าไม่ทัน จะส่งผลให้กระทบหนัก ไม่มีวัตถุดิบผลิตอาหารจนกระทบไปทั้งระบบ

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล เลขาธิการสมาพันธ์ปศุสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ กล่าวว่า ประเทศไทยต้องนำเข้าสินค้ากากถั่วเหลืองปีละเกือบ 3 ล้านตัน เพื่อผลิตอาหารสัตว์ เนื่องจากไทยผลิตถั่วเหลืองได้เพียงปีละ 2-3 หมื่นตัน ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ สินค้ากากถั่วเหลืองอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการนโยบายอาหาร กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นผู้พิจารณากำหนดนโยบายและมาตรการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ (กากถั่วเหลือง ปลาป่น และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์) โดยมีกำหนดพิจารณาคราวละ 3 ปี และประกาศนำเข้ากากถั่วเหลืองปี 2563-2566 กำลังจะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธันวาคมนี้ ซึ่งต้องผ่านการพิจารณาโดย ที่ประชุม ครม. ก่อนเข้าสู่กระบวนการอื่นๆ ต่อไป

เลขาธิการสมาพันธ์ฯ กล่าวต่อว่า สมาพันธ์ฯ ได้มีหนังสือติดตามความคืบหน้าการดำเนินการออกประกาศดังกล่าวไปแล้วหลายฉบับ ตั้งแต่ฉบับแรกเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2566-ฉบับที่ 2 เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2566-ฉบับที่ 3 เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2566 แต่ยังไม่เป็นผล จนกระทั่งวันที่ 20 ตุลาคม 2566 จึงมีการประชุม คณะกรรมการนโยบายอาหาร ครั้งที่ 1/2566 เพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าว โดยกระทรวงพาณิชย์ มีหนังสือเสนอประกาศดังกล่าว เข้า ครม.ในวันที่ 2 พ.ย. 2566 แต่ปัจจุบันเรื่องดังกล่าวก็ยังไม่ถูกบรรจุเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งกินเวลาร่วม 2 เดือนแล้ว ล่าสุด จะถูกบรรจุวาระเข้าในการประชุม ครม. วันที่ 12 ธันวาคม ที่ผ่านมา แต่สุดท้ายกลับมีการถอนวาระดังกล่าวออกโดยไม่ทราบสาเหตุ และแจ้งว่าจะบรรจุเข้าที่ประชุม ครม.อีกครั้งในวันที่ 26 ธันวาคม 2566 ซึ่งเป็นวันประชุม ครม.วันสุดท้ายของปี 2566 และเป็นไปไม่ได้เลยที่การประกาศนำเข้ากากถั่วเหลืองจะดำเนินการได้ทัน เพราะภายหลังจากผ่านที่ประชุม ครม.แล้ว จะต้องมีกระบวนการออกประกาศยกเว้นอากรของกระทรวงการคลังอีกขั้นตอนหนึ่ง

...

นายพรศิลป์ กล่าวอีกว่า ข้อมูลขณะนี้พบว่า วันที่ 3 ม.ค. 2567 จะมีเรือขนถ่ายสินค้ากากถั่วเหลืองเข้าสู่ประเทศไทยเป็นลำแรก และตลอดเดือนมกราคม 67 จะมีเรือนำเข้ากากถั่วเหลืองจำนวน 4 ลำ รวมปริมาณ 2.1 แสนตัน ซึ่งความเสียหายที่จะเกิดขึ้น หากประกาศนำเข้ากากถั่วเหลืองออกไม่ทัน ได้แก่ 1) เรือที่ขนถ่ายสินค้ากากถั่วเหลืองที่จะเข้ามาไทยจะไม่สามารถขนถ่ายสินค้าได้ และมีค่าใช้จ่าย (Demurrage Charge) วันละ 2.5 แสนบาท/ลำเรือ และเดือน ม.ค. มีเรือเข้ามาพร้อมกัน 4 ลำ จะมีค่าใช้จ่ายรวม 1 ล้านบาท/วัน นับไปทุกวันจนกว่ารัฐบาลจะออกประกาศ และ 2) ต้องเสียค่าใช้จ่ายในส่วนของอัตราดอกเบี้ยสูญเปล่า กรณีประกาศลดหย่อนอัตราภาษีของกระทรวงการคลังออกล่าช้า กรณี ม.ค. 67 มีรายการเข้ามาจำนวน 2.1 แสนตัน มูลค่านำเข้าประมาณ 4,200 ล้านบาท มูลค่าภาษีที่ต้องสำรองจ่ายจะสูงถึง 336 ล้านบาท และมีอัตราดอกเบี้ยสูญเปล่า 1.68 ล้านบาท/เดือน ระยะเวลาขอคืนภาษี 6 เดือน คิดเป็นอัตราดอกเบี้ยสูญเปล่าในเดือน ม.ค. รวม 10.08 ล้านบาท

เลขาธิการสมาพันธ์ฯ กล่าวด้วยว่า ทั้งหมดเป็นความเสียหายที่ไม่ได้เกิดจากผู้ประกอบการ แต่เกิดจากความล่าช้าของรัฐ ที่สำคัญ ความเสียหายต่อเนื่องยังมีอีกมาก หากเกิดการหยุดชะงักของกระบวนการผลิตอาหารสัตว์ เพราะไม่มีวัตถุดิบในการผลิต อันจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังผู้บริโภค และกระทบต่อการส่งออกสินค้า เนื้อไก่ และกุ้ง ซึ่งมีมูลค่าทั้งระบบรวมกันกว่าหนึ่งล้านล้านบาท ดังนั้น ทางที่ดีที่สุดในขณะนี้คือ รัฐบาลต้องออกประกาศดังกล่าวเป็นการเร่งด่วน เพื่อจำกัดความสูญเสียให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด

ล่าสุด สมาพันธ์ฯ ได้ทำหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2566 ยื่นถึงนายกรัฐมนตรี เร่งรัดประกาศดังกล่าวอีกครั้ง เพื่อระงับความสูญเสียต่อภาคธุรกิจอาหารสัตว์และปศุสัตว์

อนึ่ง สมาชิกสมาพันธ์ปศุสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ประกอบด้วย 1) สมาคมปศุสัตว์ไทย 2) สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ 3) สมาคมผู้ผลิตและแปรรูปสุกรเพื่อการส่งออก 4) สมาคมกุ้งไทย 5) สมาคมผู้ผลิต ผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ 6) สมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลาไทย 7) สมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ 8) สมาคมส่งเสริมผู้ใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ 9) สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย 10) สมาคมผู้เลี้ยงเป็ดเพื่อการค้าและการส่งออก 11) สมาคมสัตวบาลแห่งประเทศไทย 12) สมาคมผู้เลี้ยงไก่พันธุ์ 13) สมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อ 14) สมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย และ 15) สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย.