ก.เกษตรฯ โดยกรมการข้าว เร่งขับเคลื่อน BCG หนุนนาเปียกสลับแห้ง ช่วยเกษตรกรลดต้นทุนค่าปุ๋ย ค่าน้ำ คัดเมล็ดพันธุ์คุณภาพดี เพิ่มผลผลิตต่อไร่ และลดการปล่อยคาร์บอนฯ เพื่อให้เหมาะกับสภาพภูมิอากาศผันผวน เตรียมขยายผล เสริมความมั่นคงให้อาชีพชาวนา
เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2566 ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรฯ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ สนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (BCG) ทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) คือ ใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจหมุนวียน (Circular Economy) ซึ่งจะคำนึงถึงการนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้เต็มประสิทธิภาพ ควบคู่ไปเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) คือ การใช้เทคโนโลยีการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุล มั่นคง และยั่งยืน โดยให้หน่วยราชการในสังกัดศึกษาวิจัยสร้างนวัตกรรมให้สอดคล้องกับ BCG
ขณะเดียวกันต้องไม่กระทบผลผลิต และเป็นวิธีที่นำไปปฏิบัติได้จริง โดยในการศึกษาฯ ได้คำนึงถึงการประเมินประสิทธิภาพด้านการใช้น้ำในนาข้าวเป็นสำคัญ ร่วมด้วยปัจจัยในการเพาะปลูก เช่น ดิน เมล็ดพันธุ์ฯ การดูแลนาข้าว ปัจจัยทางด้านสภาพแวดล้อมให้สอดคล้องกับสภาพการปลูกจริงของเกษตรกร ซึ่งทางคณะผู้วิจัยจึงเลือกวิธีการทำนาแบบนาเปียกสลับแห้ง และทำการเลือกเมล็ดพันธุ์ที่เหมาะสมกับพื้นที่
...
ด้าน นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า ศูนย์ข้าวชุมชน มีเป้าหมายในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพที่ชัดเจน โดยมีแนวทางการพัฒนาศูนย์ข้าวชุมชนทั่วประเทศว่า อยากให้เกษตรกรทั่วประเทศรวมกลุ่มกัน แล้วจัดตั้งเป็นกลุ่ม หรือวิสาหกิจชุมชน ไม่ใช่เฉพาะเรื่องข้าวเท่านั้น แต่แนวทางการรวมกลุ่มยังใช้ได้กับการทำเกษตรด้านอื่นๆ เพื่อให้เกิดการต่อรองด้านราคากับนายทุน หรือพ่อค้า และเมื่อมีการรวมตัวกันได้ จะป้องกันการเอาเปรียบด้านราคาและการตลาด และเมื่อเข้มแข็งมากพอ ก็สามารถกำหนดราคาขายเองได้ ส่งผลให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
อธิบดีกรมการข้าว กล่าวอีกว่า ตนเองอยากให้ชาวนาหันมาปฏิวัติการทำนาสู่ความยั่งยืน หรือ BCG MODEL ที่เป็นการทำนาแบบประณีต เลิกใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมี ยาฆ่าแมลง ทำให้ได้ข้าวที่ดีมีคุณภาพ ปลอดสารพิษ ดีต่อสุขภาพ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมแนะนำให้ใช้จุลินทรีย์ และสาหร่ายแกมเขียว มาผสมผสานในการเพาะปลูก อีกทั้งนำองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการน้ำแบบเปียกสลับแห้งมาถ่ายทอดให้กับชาวนา เพราะการทำนาแบบเปียกสลับแห้งนั้นจะช่วยลดก๊าซมีเทนในดินที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ ที่เป็นการตระหนักถึงความสำคัญของการรณรงค์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อลดภาวะโลกร้อน เน้นย้ำการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม และสร้างคาร์บอนเครดิตให้ชาวนานำไปสร้างรายได้เสริม
นายณัฏฐกิตติ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับกรมการข้าวได้เข้ามาสนับสนุนในเรื่องเครื่องจักร เช่น เครื่องอบข้าว ที่ทำให้ทางศูนย์ข้าวฯ มีศักยภาพในการเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวได้เป็นอย่างดี ช่วยลดภาระในการตากข้าว ที่เกษตรกรบางรายไม่มีพื้นที่ และบางครั้งก็เกิดความเสียหายจากฝนตก ทำให้ข้าวชื้น ไม่แห้ง เมื่อมีเครื่องอบข้าว ทำให้ลดปัญหาเหล่านี้ลงไปได้ เราจึงต้องเร่งเข้ามาสร้างความยั่งยืนให้แก่เกษตรกร ไม่อยากให้เกษตรกรใช้วิถีชีวิตแบบเดิมๆ ที่ภาครัฐต้องช่วยเหลือประคองตลอดทำให้เกษตรกรไม่แข็งแรงสักที แต่ถ้าให้เครื่องไม้เครื่องมือ หรือสิ่งที่ศูนย์ข้าวชุมชนไม่มี เช่น ยุ้งฉาง หรือ ไซโลเก็บข้าว กลุ่มสมาชิกก็นำข้าวมาฝากกับทางศูนย์ฯ ก็จะช่วยสร้างรายได้เสริมขึ้นมา และเป็นการสร้างความยั่งยืนมากกว่า “เพราะเราคือครอบครัวเดียวกัน เราจะไม่ทิ้งกันแน่นอน”.