"ธรรมนัส" ลั่นฆ้องเปิดปฏิบัติการพิเศษ "พญานาคราช" ร่วมกำลังฉลามขาว พญาไท สารวัตรเกษตร ลุยตรวจป้องกันและปราบปราม ตรวจยึด ดำเนินคดี สินค้าเกษตรผิดกฎหมาย ย้ำค้นได้ทุกที่ไม่ต้องรอหมาย
ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดปฏิบัติการพิเศษ “พญานาคราช” ป้องกันและปราบปรามสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย โดยมี นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอภัย สุทธิสังข์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วม ณ ศูนย์เอกซเรย์และเทคโนโลยีศุลกากร สำนักงานศุลกากร ท่าเรือกรุงเทพฯ ซึ่งการจัดงานดังกล่าว กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมประมงจัดขึ้น เพื่อประกาศสงครามกับสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย
ภายในงานมีการมอบธงและปล่อยขบวนชุดปฏิบัติการพิเศษ 4 ชุด ได้แก่ พญานาคราช (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์) ฉลามขาว (กรมประมง) พญาไท (กรมปศุสัตว์) สารวัตรเกษตร (กรมวิชาการเกษตร) ออกปฏิบัติการฯ พร้อมเปิดทุกกระบวนการตรวจสอบการนำเข้าสินค้าประมง ตั้งแต่การ X-Ray ตู้สินค้าประมงนำเข้าเพื่อวิเคราะห์ตรวจสอบสินค้าภายในตู้ และการเปิดตู้คอนเทนเนอร์เพื่อตรวจสอบสินค้าประมงนำเข้า ตลอดจนนำเสนอนิทรรศการกระบวนการตรวจสินค้าเกษตรนำเข้า (พืช ประมง ปศุสัตว์) ให้ได้เรียนรู้และเข้าใจอย่างถูกต้อง
...
ร้อยเอก ธรรมนัส กล่าวว่า นับจากนี้ ชุดปฏิบัติการพิเศษ “พญานาคราช” จะดำเนินการตรวจสอบสินค้าภาคการเกษตรทุกประเภทที่นำเข้าสู่ราชอาณาจักรแบบผิดกฎหมาย ที่ไม่ผ่านขั้นตอนของศุลกากร กรมประมง กรมปศุสัตว์ และกรมวิชาการเกษตร โดยจะใช้ชุดปฏิบัติการนี้ในการป้องกัน ปราบปราม ตรวจยึด และดำเนินคดี อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายผมและท่านไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการเรื่องนี้อย่างเข้มข้น ซึ่งจะเห็นการปราบปรามอย่างจริงจังภายใต้การทำงานของทั้ง 4 หน่วยงาน ที่สามารถเข้าตรวจค้นได้ทุกที่โดยไม่ต้องขอหมายศาล
ด้านนายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า หลังจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะที่ปรึกษาและเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพิเศษป้องกันและปราบปรามสินค้าเกษตรผิดกฎหมายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ (พญานาคราช) เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2566 ประกอบด้วย ผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองทัพไทย สำนักงานอัยการสูงสุด กรมปศุสัตว์ กรมประมง และกรมวิชาการเกษตร จำนวนกว่า 70 นาย เพื่อร่วมบูรณาการปราบปรามการลักลอบนำเข้าและส่งออกสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย ทั้งด้านพืช ประมง ปศุสัตว์ และกำหนดนโยบาย แนวทาง มาตรการในการขับเคลื่อนการปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรผิดกฎหมายให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เนื่องจากการลักลอบนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ถือเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยชุดปฏิบัติการพญานาคราช ภายใต้การกำกับดูแลและขึ้นตรงกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะดำเนินการเร่งรัด ตรวจสอบ ติดตาม จับกุมผู้ลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย เสริมทัพความเข้มแข็งให้กับชุดปฏิบัติการพิเศษ (เดิม) ของกรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมวิชาการเกษตร และต้องมีการรายงานผลการทำงานให้รัฐมนตรีฯ ทราบทุก 15 วัน
...
รองอธิบดีกรมประมง กล่าวต่อว่า สำหรับในปี 2565 ประเทศไทยมีผลผลิตประมงที่ได้จากการจับจากธรรมชาติและจากการเพาะเลี้ยงทั้งหมด 2.39 ล้านตัน และมีการนำเข้าสินค้าประมงปริมาณ 2.19 ล้านตัน มูลค่า 158,431 ล้านบาท โดยสินค้านำเข้าหลัก ได้แก่ ปลาสดแช่เย็นแช่แข็ง ปริมาณ 808,539 ตัน ทูน่าสดแช่เย็นแช่แข็ง 727,709 ตัน หมึกสดแช่เย็นแช่แข็ง 182,049 ตัน เพื่อบริโภคภายในประเทศและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับส่งออกจำหน่ายไปยังต่างประเทศ โดยมีปริมาณการส่งออกสินค้าประมงรวม 1.60 ล้านตัน มูลค่า 229,123 ล้านบาท ซึ่งสินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ ทูน่ากระป๋อง 76,633 ล้านบาท กุ้งและผลิตภัณฑ์ 52,623 ล้านบาท อาหารแมวและสุนัขกระป๋อง 18,063 ล้านบาท ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้มีการสุ่มเปิดตรวจสินค้า พบการกระทำความผิดตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวมจำนวนทั้งสิ้น 6 คดีในปี 2565 และพบการกระทำผิด 9 คดี ในปี 2566 (ข้อมูล ณ วันที่ 27 พ.ย. 66) โดยส่วนใหญ่เป็นคดีการลักลอบนำเข้าสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำโดยไม่ได้รับอนุญาต
นายบัญชา กล่าวด้วยว่า การปราบปรามสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย เป็นนโยบายสำคัญเร่งด่วนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ทุกหน่วยงานพร้อมยกระดับการปฏิบัติการตรวจสอบสินค้าเกษตรอย่างเข้มแข็ง โดยในส่วนของสินค้าประมงได้สั่งการให้ทุกด่านตรวจประมงเพิ่มประสิทธิภาพมาตรการตรวจสอบนำเข้าสินค้าอย่างเข้มงวด เปิดตรวจสินค้าสัตว์น้ำแช่แข็งที่นำเข้าจากประเทศเสี่ยงสูง 100% (จากเดิมจะเปิดตรวจ 30%) โดยได้กำหนดไว้ 2 แนวทาง คือ (1) การเปิดตรวจ ณ ด่าน หรือท่าเทียบเรือ และ (2) การตรวจสอบ ณ สถานประกอบการ (โรงงานหรือห้องเย็น) ด้วยการซีล (Seal) ตู้คอนเทนเนอร์ไปยังสถานประกอบการ เพื่อควบคุมและตรวจสอบคัดแยกชนิดและปริมาณที่นำเข้าจริงตรงตามที่สำแดงในเอกสารจนมั่นใจว่าสัตว์น้ำนั้นเป็นไปตามที่ได้รับอนุญาต จึงจะอนุญาตให้เข้าสู่กระบวนการผลิตหรือจำหน่ายต่อไป รวมถึงจะมีการบูรณาการประสานกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และ ปปง. เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล พร้อมสั่งกำชับให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานดำเนินการตามกฎหมายและมาตรฐานการปฏิบัติงานอย่างเข้มแข็ง หากตรวจสอบพบเจ้าหน้าที่รายใดเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการลักลอบนำสินค้าทุกชนิดเข้าสู่ประเทศอย่างผิดกฎหมาย กรมประมงจะดำเนินการลงโทษทางวินัยอย่างถึงที่สุด
...
นอกจากนี้ เพื่อเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสอบการนำเข้าสินค้าประมงตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงสถานที่เก็บรักษา กรมประมงได้ออกประกาศ ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 แจ้งขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบกิจการห้องเย็นเก็บรักษาสัตว์น้ำ ที่ยังไม่ได้แจ้งการประกอบกิจการต่อกรมประมง ให้มาแจ้งต่อกรมประมง ณ สำนักงานประมงจังหวัดหรือประมงอำเภอในพื้นที่ ตั้งแต่บัดนี้ไปจนถึงวันที่ 12 ธันวาคม 2566 เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาการลักลอบนำเข้าและส่งออกสินค้าประมงที่ผิดกฎหมาย.