เขื่อนลำแชะ จ.นครราชสีมา เร่งสำรองน้ำไว้ใช้หน้าแล้ง ผอ.เขื่อนฯ แจ้งจำเป็นต้องงดปล่อยน้ำทำนาปรัง หลังภาวะเอลนีโญทำฝนตกเข้าอ่างน้อยน้ำเหลือเพียง 50% ของความจุ แต่จะใช้น้ำเพื่อรดสวนผลไม้ได้
เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2566 นายพงศ์ฤทธิ์ ชื่นอารมณ์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำแชะ จ.นครราชสีมา กล่าวถึงการบริหารจัดการน้ำภายในอ่างเก็บน้ำลำแชะ อ.ครบุรี ในช่วงหน้าแล้งที่กำลังจะมาถึงนี้ว่า ขณะนี้ ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำลำแชะ มีน้ำกักเก็บอยู่ที่ 155 ล้าน ลบ.ม. จากความจุ 275 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 53.71 เปอร์เซ็นต์ของความจุอ่าง ซึ่งต่างจากปีที่ผ่านมา ที่มาน้ำเต็มความจุกักเก็บ สำหรับการวางแผนในการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งที่จะมาถึงนี้ ได้วางแผนใช้น้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ โดยรอบอ่าง ผ่านคลองชลประทาน ระยะทาง 38 กิโลเมตร จำนวน 15 ล้าน ลบ.ม. ใช้เพื่อการอุปโภค-บริโภค ผลิตน้ำประปา ของ อบต. ประปาส่วนภูมิภาคครบุรี และการประปาเทศบาลนครนครราชสีมา จำนวน 7 ล้าน ลบ.ม. ใช้เพื่อการเกษตร ดูแล ไม้ผล ไม้ยืนต้น จำนวน 10 ล้าน ลบ.ม. ใช้เพื่ออุตสาหกรรม จำนวน 1 ล้าน ลบ.ม. และเพื่อการระเหย รั่วซึม จำนวน 15 ล้าน ลบ.ม. รวมทางอ่างได้เตรียมน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง 48 ล้าน ลบ.ม.
ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำแชะ กล่าวต่อว่า ได้มีการคาดการณ์ว่าในช่วงวันที่ 1 พ.ค. 2567 อ่างเก็บน้ำลำแชะจะมีน้ำกักเก็บ ประมาณ 147 ล้าน ลบ.ม. และในช่วงเวลาดังกล่าวคาดว่าน่าจะมีฝนตกลงมาบ้าง ซึ่งจะทำให้มีน้ำเพียงพอต่อการเป็นน้ำต้นทุนสำหรับเกษตรกรในการทำนาในช่วงฤดูฝนปี 2567 จำนวนกว่า 98,500 ไร่ ส่วนการทำนาปรังในปี 2566 นี้ ทางอ่างเก็บน้ำลำแชะจำเป็นต้องงดการส่งจ่ายน้ำเพื่อทำนาปรัง แต่จะใช้น้ำในการดูแลไม้ผล ไม้เศรษฐกิจของอำเภอครบุรี โดยเฉพาะทุเรียนที่มีการปลูกเป็นจำนวนมากในพื้นที่อำเภอครบุรี
...
"จากภาวะเอลนีโญทำให้ฝนที่ตกลงมาภายในอ่างเก็บน้ำแชะ ซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำจากอุทยานแห่งชาติทับลาน น้อยกว่าค่าเฉลี่ยต่อปี ที่ 1,080 มม. แต่ปีนี้ตกเพียง 700 มม. ทำให้น้ำไหลเข้าอ่างน้อย จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ โดยน้ำอุปโภค-บริโภค มีเพียงพออย่างแน่นอนในปีนี้" นายพงศ์ฤทธิ์ กล่าว.