รมว.ธรรมนัส เผย เตรียมแผนช่วยเหลือแรงงานไทยในอิสราเอลกลับบ้าน ด้วยโครงการส่งเสริมฝีมือแรงงานเกษตรไทยในต่างแดนกลับคืนถิ่น มั่นใจด้วยทักษะและศักยภาพ ร่วมเป็นกลุ่มเกษตรกรดาวรุ่งยุคไฮเทค เพื่อขับเคลื่อนภาคการเกษตรของไทย

ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์สงครามการสู้รบระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตแล้วรวมมากกว่า 3,600 คน ซึ่งปัจจุบัน มีแรงงานไทยอาศัยอยู่ในประเทศอิสราเอลประมาณ 3 หมื่นราย โดยอยู่ในพื้นที่ใกล้ฉนวนกาซา ซึ่งเป็นพื้นที่สู้รบ และขณะนี้ มีผู้แจ้งความประสงค์ต้องการกลับมายังประเทศไทยแล้วประมาณ 6,000 คน โดยส่วนใหญ่เป็นแรงงานเกษตร

รมว.กระทรวงเกษตรฯ กล่าวต่อว่า จากข้อมูลพบว่า ในปี 2566 ประเทศไทยได้จัดส่งแรงงานไทยไปทำงานภาคเกษตรที่รัฐอิสราเอล จำนวน 6,500 คน ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงมีการเตรียมความพร้อมทุกด้านในการดูแลคนไทยกลุ่มแรงงานเกษตร ที่อพยพกลับจากประเทศอิสราเอล และที่สำคัญคือ กลุ่มแรงงานเกษตรดังกล่าว นับว่าเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในระดับสูง เพราะได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์และความรู้ต่างๆ ด้านเทคโนโลยีการเกษตรจากประเทศอิสราเอล ซึ่งเป็นเมืองแห่งเกษตรกรรมที่ทันสมัย ที่สามารถพลิกฟื้นทะเลทรายด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม จนเป็นประเทศผู้นำด้านเกษตรในปัจจุบัน จึงถือได้ว่าเป็นโอกาสสำคัญในการนำความรู้และประสบการณ์มาปรับใช้เพื่อร่วมยกระดับและขับเคลื่อนภาคเกษตรกรรมของไทยมาปรับใช้และต่อยอดในการประกอบอาชีพเกษตร

ร้อยเอกธรรมนัส กล่าวอีกว่า สำหรับการส่งเสริมกลุ่มแรงงานภาคเกษตรจากอิสราเอล กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เตรียมโครงการ ส่งเสริมฝีมือแรงงานเกษตรไทยในต่างแดนกลับคืนถิ่น โดยวางแนวทางและจะมีการพิจารณาจากทักษะ ความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ และความต้องการ โดยหลักๆ แบ่งเป็น 3 แนวทางตามความสมัครใจ ได้แก่

...

1.ปั้นสู่ครูพี่เลี้ยง ซึ่งกลุ่มดังกล่าว จะเป็นกลุ่มที่มีความรู้ มีความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ และทักษะที่สูง สามารถมาร่วมในการถ่ายทอดองค์ความรู้ ประสบการณ์ ทักษะต่างๆ เพื่อสร้างกลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ Young Smart Farmer / Smart Farmer สร้างแรงจูงใจให้กับเกษตรกรในการประกอบอาชีพเกษตร
2.ป้อนสู่กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตร โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่ต้องการแรงงานเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมตามความต้องการในด้านต่างๆ
3.ปูทางอาชีพสู่บ้านเกิด โดยจะให้การสนับสนุนกลุ่มแรงงานที่ต้องการกลับบ้านในภูมิลำเนา ต่อยอดในการประกอบอาชีพ เช่น การเข้าถึงทุนในการประกอบอาชีพ สนับสนุนปัจจัยการผลิต การเข้าถึงองค์ความรู้ต่างๆ เพื่อพัฒนาทักษะ การหาตลาดรองรับ หรือการเข้าร่วมเป็น Smart Farmer เข้าร่วมกลุ่มแปลงใหญ่ วิสาหกิจชุมชนต่างๆ หรือโครงการต่างๆ ตามความต้องการและความเหมาะสม เป็นต้น

รมว.กระทรวงเกษตรฯ กล่าวด้วยว่า เราพร้อมในการช่วยเหลือและส่งเสริมกลุ่มแรงงานภาคเกษตรจากอิสราเอลที่กลับมายังประเทศไทย โดยได้เตรียมโครงการ ส่งเสริมฝีมือแรงงานเกษตรไทยในต่างแดนกลับคืนถิ่น ซึ่งนอกจากจะเป็นการช่วยเหลือรองรับกลุ่มแรงงานเกษตรแล้ว ยังเป็นโอกาสอันดีของไทย ในการส่งเสริม สนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านเกษตร ร่วมกันสร้างเกษตรกรคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ ทักษะ และประสบการณ์กลับเข้าสู่ภาคการเกษตรไทยใน เพื่อร่วมกันยกระดับเพิ่มขีดความสามารถ และขับเคลื่อนภาคเกษตรไทยไปด้วยกัน ซึ่งหลังจากนี้ จะได้มีการแจ้งรายละเอียดต่างๆ เพิ่มเติมต่อไป.