ชลประทาน รายงานภาพรวมอ่างเก็บน้ำใน จ.นครราชสีมา ล่าสุด น้ำเก็บกักภาพรวมทั้งจังหวัดมีน้อย ใช้การได้ไม่ถึง 40% ชี้ เหตุจากสภาพอากาศแปรปรวนจากเอลนีโญ และขอประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด และจัดเตรียมสำรองน้ำไว้ใช้ยามแล้ง

เมื่อวันที่ 19 ก.ย.2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สำนักงานชลประทานที่ 8 โดยโครงการชลประทานนครราชสีมา รายงานสภาพน้ำเก็บกักในอ่างเก็บน้ำของจังหวัดนครราชสีมาว่า ในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 4 แห่ง และขนาดกลาง 23 แห่ง มีปริมาตรน้ำเก็บกักปัจจุบัน อยู่ที่ 488.38 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 40.14% แต่เป็นน้ำใช้การได้เพียง 425.90 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 36.90% เท่านั้น ซึ่งเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว มีปริมาตรน้ำเก็บกักมากเกือบเท่าตัว โดยปี 2565 มีปริมาตรน้ำเก็บกัก อยู่ที่ 911.76 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 74.94% และเป็นน้ำใช้การได้ 849.28 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 73.58%

โดยทั้งหมดเป็นผลพวงมาจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ทำให้เกิดภาวะฝนทิ้งช่วงนาน ซึ่งอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ว่า เอลนีโญทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้น และอาจเกิดภัยแล้งรุนแรงในหลายพื้นที่ สำหรับประเทศไทย เอลนีโญจะมีกำลังแรงช่วงปลายฝนนี้ ต่อเนื่องไปจนถึงฤดูร้อนปีหน้า ซึ่งขณะนี้แม้ว่าจะยังอยู่ในช่วงฤดูฝน แต่ปริมาณฝนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย มีน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำไม่มากนัก จึงทำให้ปริมาตรน้ำเก็บกักภาพรวมทั้งจังหวัดมีน้อย เฉลี่ยเหลือใช้การได้ไม่ถึง 40% ดังกล่าว

...

โดยอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 23 แห่งของจังหวัดนครราชสีมา ขณะนี้มี 7 แห่ง ที่มีปริมาตรน้ำเก็บกักคงเหลือไม่ถึง 30% ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยบ้านยาง อ.เมืองนครราชสีมา, อ่างเก็บน้ำลำสำราย อ.ปักธงชัย, อ่างเก็บน้ำห้วยซับประดู่ อ.สีคิ้ว, อ่างเก็บน้ำห้วยปราสาทใหญ่ อ.ด่านขุนทด, อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร ตอนล่าง อ.โนนไทย, อ่างเก็บน้ำหนองกก อ.พระทองคำ และอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำเค็ม อ.บัวใหญ่ ซึ่งในจำนวนนี้ อ่างเก็บน้ำห้วยปราสาทใหญ่ อ.ด่านขุนทด และอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำเค็ม อ.บัวใหญ่  เหลือน้ำใช้การได้ไม่ถึง 10% ในขณะที่อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 4 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ.สีคิ้ว, อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย, อ่างเก็บน้ำมูลบน อ.ครบุรีและอ่างเก็บน้ำลำแชะ อ.ครบุรี ก็พบว่า เหลือน้ำเก็บกักเฉลี่ยทั้ง 4 แห่ง อยู่ที่ 363.63 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 41.07% และเป็นน้ำใช้การได้ 326.19 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 38.46% เท่านั้น 

อย่างก็ตาม ทางชลประทานได้ติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำในปัจจุบันอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มีความต่อเนื่องและทันต่อเหตุการณ์ สำหรับใช้เป็นข้อมูลในการแจ้งเตือน และใช้เป็นแนวทางในการบริหารจัดการน้ำอย่างเหมาะสม จึงขอให้ประชาชนได้ใช้น้ำอย่างประหยัด รู้คุณค่า และเก็บสำรองน้ำไว้ใช้ในครัวเรือนด้วย เพราะฝนที่ตกในช่วงนี้มาจากอิทธิพลของร่องมรสุม และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ไม่ใช่อิทธิพลของพายุ ซึ่งพายุหมุนเขตร้อนในระยะนี้ยังไม่มีสัญญาณการก่อตัว แต่อาจจะมีความกดอากาศต่ำ ก่อตัวทางตะวันออกของฟิลิปปินส์ จึงทำให้สภาพอากาศค่อนข้างแปรปรวน ขอให้เตรียมรับมือกับสถานการณ์ด้วย.

...