พบประมงเครื่องมือผิดกฎหมาย ทำประมงอ่าวปากพนัง-ปากนคร อย่างเสรี พบขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่า 2 พันลำ แต่เหลือ จนท.เพียงหน่วยเดียว ทำให้รับมือไม่ไหว กลุ่มประมงถูกกฎหมาย ชี้ คุกคามทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างรุนแรง จนกลุ่มประมงถูกกฎหมายแทบอยู่ไม่ได้แล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณปากน้ำอ่าวปากนคร อำเภอเมือง เชื่อมต่อกับอ่าวปากพนัง อำเภอปากพนัง นครศรีธรรมราช มีการพบเห็นเรือประมงพื้นบ้านที่ล้วนแต่มีการใช้เครื่องมือผิดกฎหมาย แขนที่ยื่นออกมาทางหัวเรือเรียกว่า เรืออวนรุนหัว เป็นเครื่องมือต้องห้ามสำหรับการทำประมงชายฝั่ง เช่นเดียวกับอีกหลายลำที่เห็นได้ชัดเจนจากชายฝั่ง คือ เรือที่มีตะแกรงเหล็กสำหรับคราดหอยหน้าดิน ที่สามารถเข้าออกปากอ่าวได้อย่างเสรี มีการใช้เครื่องมือเหล่านี้อย่างเป็นปกติ บ้างกำลังเดินทางออกไปในอ่าว บ้างทำประมงเสร็จแล้วกำลังกลับเข้าฝั่งและลอยลำล้างอุปกรณ์เครื่องมือ
โดยเฉพาะเครื่องมือทั้ง 2 ประเภทนี้ เป็นเครื่องมือต้องห้ามทำประมงในเขตชายฝั่ง หรือเขตอนุรักษ์สัตว์น้ำ ตามมาตรา 36 แห่งพระราชกำหนดการประมง 2558 และแก้ไขเพิ่มเติม 2560 ซึ่งหากถูกจับกุมมีระวางโทษปรับสูงนับแสนบาท แต่กลุ่มประมงพื้นบ้านที่ใช้เครื่องมือต้องห้ามเหล่านี้เป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะในเขตชายฝั่งอ่าวปากนคร อ่าวปากพญา อ่าวปากพูน ในเขตเมืองนครศรีธรรมราช และอ่าวปากพนัง ซึ่งมีพื้นที่ติดต่อกันหลายร้อยตารางกิโลเมตร
...
ข้อมูลจากกลุ่มการทำประมงเชิงอนุรักษ์ในพื้นที่ระบุว่า การทำประมงของกลุ่มที่พยายามอนุรักษ์ทรัพยากร สืบเนื่องจากแผนปากพนังโมเดล สมัย คสช. ได้เปิดยุทธการฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำอ่าวปากพนัง ปราบปรามกลุ่มประมงผิดกฎหมาย และสร้างแนวทางในการทำประมงเชิงอนุรักษ์อย่างจริงจัง แต่ 4 ปีที่ผ่านมา การบูรณาการที่เคยเข้มแข็งจากหลายหน่วยงานยุติลง ทำให้ประมงผิดกฎหมายที่เหลือไม่มากแล้ว กลับทวีเพิ่มมากขึ้นกว่า 2 พันลำในปัจจุบัน หรือเพิ่มขึ้นกว่า 50% ของเรือที่มีอยู่ในอ่าว แต่ไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ เนื่องจากปัจจุบันมีหน่วยปราบปรามประมงทะเลปากพนังเพียงหน่วยงานเดียว มีเจ้าหน้าที่ไม่ถึง 10 นาย และเชื้อเพลิงมีจำกัดที่จะนำเรือตรวจการณ์ออกปฏิบัติการอย่างต่อเนื่องได้ ไม่เกิน 3 วันต่อ 1 เดือน ขณะที่กลุ่มประมงถูกกฎหมายมีรายได้ลดลงอย่างมาก จากเดิมเฉลี่ยสูงถึงวันละ 1 พันบาท เป็นอย่างน้อย ปัจจุบันเหลือเพียง 300 บาทเท่านั้น จากการทำลายแหล่งสัตว์น้ำในพื้นที่ชายฝั่งจากกลุ่มประมงเครื่องมือผิดกฎหมายเหล่านี้
ชาวประมงพื้นบ้านรายหนึ่ง ระบุว่ากลุ่มที่ทำประมงแบบอนุรักษ์หวังไว้ทำมาหากินจนถึงลูกหลาน กำลังประสบปัญหายากลำบากมาก เครื่องมือเสียหายจากคนพวกนี้ แต่ไม่สามารถทำอะไรได้มีทั้งลอบไอ้โง่ หรือ ลอบตัวหนอน เรืออวนรุน เรือคราดหอยเถื่อน หากไปอยู่ใกล้ของเขามีทั้งการคุกคามทั้งในทะเลทั้งบนบกในหมู่บ้าน คนที่ทำประมงถูกกฎหมายกลายเป็นแกะดำ ราชการช่วยอะไรไม่ได้
...
ขณะที่ เรือทำประมงผิดกฎหมาย หรือพวกนายทุนรับซื้อสินค้าอาหารทะเลบางคน ลงทุนว่าจ้างคนในพื้นที่ลงขันกันลำละ 300-500 บาท ต่อลำ รวมกัน 5-10 ลำ เพื่อคนเฝ้าดูต้นทางเจ้าหน้าที่ 1-2 คน มีรายได้ต่อคืนสูงถึง 3-5 พันบาท นำเรือออกไปทำทีตกเบ็ดใกล้ๆ กับที่ตั้งเรือปราบปรามประมงทะเล คอยเฝ้าเจ้าหน้าที่หากมีการนำเรือออก จะแจ้งให้เรือที่จ้างมาทราบ และให้เร่งกลับเข้าฝั่งทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานยากมากขึ้น
นอกจากนั้น ชาวประมงซึ่งไม่กล้าที่จะเปิดเผยตัวเอง เนื่องจากเกรงผลกระทบจากกลุ่มประมงผิดกฎหมาย ยังยืนยันว่า ภาคราชการหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทอดทิ้งปัญหา มีคนทำงานด้านการเมืองเข้ามาแทรกแซง ใช้อำนาจข้าราชการบางหน่วยเข้ากดดันให้ เจ้าหน้าที่ปราบปรามประมงทะเล ที่ออกมาตั้งฐานตามจุดสำคัญๆ ต่างเพื่อกดดันกลุ่มผิดกฎหมายต้องถอนกำลังกลับที่ตั้งปกติ ในแม่น้ำปากพนังชั้นใน ทำให้สะดวกต่อการทำประมงผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่ทำงานได้อย่างยากลำบาก.