เก็บตก รมว.เกษตรฯ ลงพื้นที่ จ.เชียงราย พบกลุ่มเกษตรกร โดยเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนลำไย 8 จังหวัดภาคเหนือ รวมตัวมายื่นร้องทุกข์ ขอรัฐบาลเร่งรัดเงินชดเชยราคาลำไยรอบปี 64/65 ที่ค้างจากรัฐบาลก่อน ไร่ละ 2,000 บาท และผลักดัน พ.ร.บ.ลำไย

จากกรณีวานนี้ (10 ก.ย. 2566) ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะ ลงพื้นที่ตรวจติดตามการดำเนินงานการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ตาช้าง ต.ป่าแดด อ.แม่สรวย จ.เชียงราย โดยมี นายศรัณยู มีทองคำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นายสุรเดช สมิเปรม รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน คณะผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หัวหน้าส่วนราชการ เข้าร่วม ตลอดจนกลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำลำนำแม่กื้ด เครือข่ายเกษตรกรชาวสวนลำไย 8 จังหวัดภาคเหนือ ชมรมสหกรณ์โคนมภาคเหนือ จำกัด และกลุ่มเกษตรกรที่มารอให้การต้อนรับ

การลงพื้นที่ของ รมว.เกษตรฯ เพื่อติดตามความคืบหน้าของโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ตาช้าง จ.เชียงราย ซึ่งผ่านความเห็นชอบจาก ครม. เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 66 ครม. ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทานเป็นผู้ดำเนินโครงการ กรอบวงเงินงบประมาณ 1,325 ล้านบาท โดยมีแผนงานระยะเวลาโครงการ 3 ปี ระหว่างปี 2568-2570 ตัวเขื่อนจะเป็นเขื่อนดินถมชนิดแบ่งส่วน (Zone Type) ความจุกักเก็บน้ำได้ 32 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยเขื่อนหัวงานและอ่างเก็บน้ำของโครงการตั้งอยู่บริเวณบ้านใหม่เจริญ ต.ป่าแดด อ.แม่สรวย จ.เชียงราย พื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ป่าทั้งหมดรวม 1,696 ไร่ 2 งาน 37 ตร.ว.

...

หากโครงการดังกล่าวดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ จะเป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับใช้ในการอุปโภคบริโภคของราษฎร 4,775 ครัวเรือน เป็นแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรในพื้นที่ ต.ป่าแดด อ.แม่สรวย และพื้นที่บางส่วนของ ต.ศรีถ้อย และ ต.แม่พริก อ.แม่สรวย สามารถส่งน้ําช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรฤดูฝน 17,200 ไร่ ส่งผลในเรื่องผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 2,843 ครัวเรือน ประชากร 14,626 คน

จ่าสิบเอกนิกร บุญชัย ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนลำไย 8 จังหวัดภาคเหนือ และตัวแทนเกษตรกร จำนวนประมาณ 800 ราย เข้ายื่นหนังสือต่อ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขอให้ ครม. ช่วยเร่งรัดเงินเยียวยาชาวสวนลำไย ไร่ละ 2,000 บาท ซึ่งค้างคามาตั้งแต่สมัยรัฐบาลก่อน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับชาวสวนลำไย

จ.ส.อ.นิกร กล่าวว่า เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 65 คณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ หรือ ฟรุ๊ตบอร์ด (Fruit Board) ซึ่งมี รมว.เกษตรฯ เป็นประธาน ได้มีมติให้มีการเยียวยาเกษตรกรผู้ปลูกลำไยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ในอัตราไร่ละ 2,000 บาท ไม่เกิน 25 ไร่/ครัวเรือน กรอบวงเงิน 3,821.54 ล้านบาท และในวันที่ 6 ก.พ. 66 รมว.เกษตรฯ ได้มีการลงนามขออนุมัติโครงการ โดยใช้แหล่งเงินทุนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) และให้จัดสรรงบประมาณปี 67 และปีถัดไปคืน ไม่เกิน 3 ปี พร้อมดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจริง แต่ต่อมาทางสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้สอบถามความเห็นไปยังกระทรวงการคลัง และได้รับการตอบรับว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ใช้เงินทุนไปกับโครงการต่างๆ ของกระทรวงจนเต็มจำนวนไปแล้ว จึงไม่สามารถนำเงินทุนจาก ธกส. มาใช้กับโครงการเยียวยาให้กับชาวสวนลำไยได้ จนกระทั่งมี พรก.ยุบสภา ในวันที่ 20 มี.ค. 66 เรื่องการเยียวยาชาวสวนลำไย จึงยังไม่คืบหน้าจนถึงทุกวันนี้

...

"ในการรวมตัวยื่นหนังสือร้องทุกข์ต่อ รมว.เกษตรฯ ในวันนี้ ก็เพื่อขอให้ทาง ครม. ได้เร่งรัดนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของ ครม. เพราะมีเกษตรกรที่เดือดร้อน และรอเงินช่วยเหลือจากภาครัฐอยู่กันเป็นจำนวนมาก ซึ่งหลังจากได้รับเอกสารข้อเรียกร้องจากชาวสวนลำไยไปแล้ว รอ.ธรรมนัส ก็ได้รับปากว่า จะนำเรื่องปัญหาความเดือดร้อนดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. อย่างเร่งด่วน แต่ต้องรอดำเนินการภายหลังจากนายกรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาในวันที่ 11-12 ก.ย.นี้ ให้เสร็จสิ้นก่อน" ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนลำไย 8 จังหวัดภาคเหนือ กล่าว

...

เกษตรกรชาวสวนลำไย 8 จังหวัดภาคเหนือ ยังเรียกร้องให้ รมว.เกษตรฯ เร่งรัดร่าง พ.ร.บ.ลำไย ผ่านรัฐสภา ซึ่ง พ.ร.บ.ลำไย มีสาระที่สำคัญเพื่อใช้เป็นกฎข้อบังคับที่ให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ผลิต ผู้บริโภค ผู้ประกอบการ (ผู้ส่งออก, โรงงาน) ปกป้องผลประโยชน์ให้แก่เกษตรกรผู้ผลิตลำไย เป็นเครื่องมือบังคับใช้กำหนดขนาดของลำไยให้เหมาะสมกับราคา โดยกำหนดให้ขนาดของเครื่องคัดเกรดของลำไยต้องได้มาตรฐาน มีขนาดที่ชัดเจน เช่น ลำไย เกรด AA มีขนาดเท่ากับ 27 มิลลิเมตร เกรด A มีขนาด 25 มิลลิเมตร และราคาจะต้องได้รับการควบคุมไม่ให้แตกต่างกันจนเกินไป

นอกจากนี้ จัดให้มีกองทุนลำไยเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกลำไย และจัดตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการควบคุมปริมาณการผลิตลำไยให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ของตลาด โดย พ.ร.บ.ลำไย จะคุ้มครองและให้ความเป็นธรรม ด้านราคา ปัจจัยการผลิต ตลอดจนการให้ความช่วยเหลือจากภาครัฐแก่พี่น้องเกษตรกรชาวสวนลำไย ซึ่งมีพื้นที่การปลูกทั่วประเทศ 33 จังหวัด ประมาณ 1.3 ล้านไร่ เกษตรกรกว่า 2 แสนครอบครัว.