คณะกรรมการ กยท.เร่งแก้ปัญหาส่งออก บินด่วนไปกรุงบรัสเซลส์ หารือกับคณะทูตไทยรับมือการเตรียมบังคับใช้กฎหมาย EUDR ที่อาจกระทบต่อการส่งออกยางพาราของไทย เพื่อช่วยดูแลชาวสวนยางฯ รายย่อย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สืบเนื่องจากที่สหภาพยุโรปได้ออกประกาศเตรียมบังคับใช้กฎหมาย EU Deforestation-free Products Regulation (EUDR) สำหรับสินค้าและผลิตภัณฑ์ยางพารา ซึ่งการยางแห่งประเทศไทย หรือ กยท. ได้ให้ความสำคัญ และติดตามมาตรการ EUDR มาอย่างต่อเนื่อง พร้อมดำเนินมาตรการสร้างความร่วมกันระหว่างภาครัฐ ทั้งกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ รวมถึงหน่วยงานของสหภาพยุโรป เพื่อให้ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางของไทยสามารถส่งออกได้ตามมาตรฐานดังกล่าว เพื่อประโยชน์ของเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศ
ล่าสุด เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2566 ที่ผ่านมา คณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (บอร์ด กยท.) นำโดย ดร.กวีฉัฏฐ ศีลปพิพัฒน์ ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย นายวีรวัฒน์ ยมจินดา นายสำเริง แสงภู่วงษ์ กรรมการการยางแห่งประเทศไทยทางการค้าและอุตสาหกรรม และนายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ได้เดินทางไปยังกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม และได้เข้าพบ นายเสข วรรณเมธี เอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ และหัวหน้าคณะผู้แทนไทยประจำสหภาพยุโรป และนายพรเทพ ศรีธนาธร อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายเกษตร) ผู้อำนวยการสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป เพื่อหารือประเด็นเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงานร่วมกัน ในการขับเคลื่อนการตรวจสอบย้อนกลับ พร้อมติดตาม เจรจาความคืบหน้าประเด็นสหภาพยุโรปออกประกาศเตรียมบังคับใช้กฎหมาย EUDR ณ สถานเอกอัครราชทูตไทย กรุงบรัสเซลส์
ในการหารือ คณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย ได้เน้นย้ำถึงความพร้อมของประเทศไทย และการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมในการผลิตสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า เฉกเช่นประชาคมโลก แต่ประเด็นยางพารา เป็นสินค้าเศรษฐกิจที่มีผลกระทบต่อเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยเป็นจำนวนมาก ดังนั้น เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อย และสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ประกอบการ กยท. จึงพร้อมร่วมมือทุกภาคส่วนเพื่อเตรียมการในเรื่องดังกล่าว อีกทั้งประเทศไทยมีกฎหมายที่สามารถตรวจสอบรับรองสินค้าที่ไม่ได้มีการรุกป่า ดังนั้น ในขณะที่สหภาพยุโรปกำลังร่างแนวทาง ซึ่งมีเวลาค่อนข้างจำกัดและจะส่งผลต่อการดำเนินงานของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของยางพาราทั้งระบบ
...
ดร.กวีฉัฏฐ ศีลปพิพัฒน์ ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในโอกาสนี้ ประเทศไทย ในฐานะผู้ผลิตยางพารารายใหญ่ของโลก หวังนำร่องในการทดสอบระบบตรวจสอบย้อนกลับของสินค้ายางพารา เพื่อประเมินขั้นตอนและกระบวนการที่ชัดเจนที่มุ่งเน้นประโยชน์แก่ทั้งผู้ผลิต และผู้บริโภค ตลอดห่วงโซ่อุปทาน.