ชุมพรจัดอบรมเสริมทักษะนักตัด นักคัดทุเรียนคุณภาพ ตัวแทนจากสวนและล้งต่างๆ กว่า 200 คน เพื่อส่งเสริมและพัฒนาสินค้าเกษตรอัตลักษณ์จังหวัด หลังมีพื้นที่ให้ผลผลิตตลอดทั้งปีแล้วกว่า 2 แสนไร่

เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 66 นายวิสาห์ พูลศิริรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรม โครงการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าเกษตรอัตลักษณ์ชุมพร กิจกรรมอบรมฝึกปฏิบัติ นักตัด นักคัด ทุเรียนคุณภาพ เพื่อเพิ่มทักษะการเก็บเกี่ยวทุเรียนคุณภาพของเกษตรกรผู้ผลิตและผู้ตัดทุเรียน โดยมีตัวแทนจากเกษตรกรสมาชิกแปลงใหญ่ทุเรียน 28 กลุ่ม และตัวแทนนักตัดจากจุดรับซื้อ (ล้ง) และเกษตรกรชาวสวน กว่า 200 คน เข้าร่วมโครงการฯ ณ โรงแรมมรกต ทวิน อ.เมือง จ.ชุมพร

สำหรับกิจกรรมประกอบด้วย การให้ความรู้ในการผลิตทุเรียนคุณภาพเพื่อการส่งออก ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการสุกแก่ของทุเรียน ทุเรียนคุณภาพตามมาตรฐานความต้องการของตลาด เทคนิคการตัดและคัดทุเรียนแบบมืออาชีพ มาตรฐานทุเรียน และช่องทางการตลาดทุเรียนไทย การประเมิน การคัด และการตัดทุเรียนในสวนทุเรียน การวิเคราะห์เปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียน

...

นายวิสาห์ พูลศิริรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร กล่าวว่า ชุมพรเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกทุเรียนเป็นอันดับ 1 ของภาคใต้ และเป็นอันดับ 2 ของประเทศ รองจากจังหวัดจันทบุรี ในปี 2565 พืชทุเรียนเป็นพืชเศรษฐกิจหลัก สร้างรายได้ให้จังหวัดชุมพรไม่น้อยกว่าสามหมื่นสองพันล้านบาท จุดเด่นที่สำคัญของทุเรียนจังหวัดชุมพร คือ รสชาติดี อร่อย หวาน มัน ได้รับรองมาตรฐานการผลิต GAP เป็นผลไม้ที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของจังหวัด มีผลผลิตออกสู่ตลาดเกือบทั้งปี

ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร กล่าวต่อว่า จังหวัดชุมพรมีมาตรการไม่ให้มีทุเรียนด้อยคุณภาพส่งออกไปยังผู้บริโภค เพื่อรักษาภาพลักษณ์และตลาดการส่งออกให้ยั่งยืนทางด้านเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร มีคุณภาพมาตรฐานของทุเรียนเป็นภาพลักษณ์โดดเด่น และยอมรับจากผู้บริโภคในประเทศและต่างประเทศ

ด้าน นายสุบรรณ์ รักษ์ทอง เกษตรจังหวัดชุมพร เปิดเผยว่า จังหวัดชุมพรมีเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน จำนวน 25,078 ครัวเรือน มีพื้นที่ปลูกทุเรียนในปี 2566 จำนวน 279,254 ไร่ เนื้อที่ให้ผล 221,768 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 1,224 กิโลกรัมต่อไร่ และคาดว่าในปี 2566 จะมีผลผลิตออกสู่ตลาดประมาณ 271,470 ตัน กระจายผลผลิตไปยังผู้บริโภคภายในประเทศและต่างประเทศ ที่สำคัญคือการส่งออกทุเรียนผลสดไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของทุเรียน ด้วยวิธีการกระจายผลผลิตผ่านผู้ประกอบการ (ล้ง)

...

เกษตรจังหวัดชุมพร กล่าวอีกว่า จังหวัดชุมพรเป็นตลาดสำคัญของทุเรียน เนื่องจากมีล้งรับซื้อทุเรียนมากที่สุดของภาคใต้ โดยมีจำนวนล้งมากกว่า 400 แห่ง จึงถือได้ว่าจังหวัดชุมพรมีตลาดรองรับการส่งออกใหญ่ที่สุดของภาคใต้ และจากสถานการณ์การผลิตทุเรียนของจังหวัดชุมพรในแต่ละปี มักประสบปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ หรือทุเรียนอ่อน ออกสู่ตลาดในทุกฤดูกาลผลิต ทำให้ความเชื่อมั่นในด้านคุณภาพทุเรียนของจังหวัดชุมพรลดลง ส่งผลกระทบต่อปริมาณและราคาการส่งออก และปริมาณการบริโภคภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพรจึงมอบให้สำนักงานเกษตรจังหวัดชุมพร ดำเนินงานโครงการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าเกษตรอัตลักษณ์ชุมพร กิจกรรมอบรมฝึกปฏิบัติ “นักตัด นักคัด ทุเรียนคุณภาพ” เพื่อเพิ่มทักษะการเก็บเกี่ยวทุเรียนคุณภาพของเกษตรกรผู้ผลิตและผู้ตัดทุเรียนขึ้น.