เปิดข้อมูล “อุโมงค์ลับใต้ดิน” ของกลุ่มฮามาสในดินแดนฉนวนกาซา หนึ่งในภัยคุกคามต่ออิสราเอล...
"อุโมงค์ลับใต้ดิน" ในพื้นที่ฉนวนกาซา ซึ่งปัจจุบันคาดว่าน่าจะถูกใช้เป็นสถานที่ควบคุมตัวประกันชาวต่างชาติในสงครามอิสราเอลและกลุ่มติดอาวุธฮามาสในปัจจุบันมีความเป็นมาอย่างไร? เป็นภัยคุกคามต่ออิสราเอลมากน้อยแค่ไหนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน วันนี้ “เรา” ไปร่วมกันสำรวจข้อมูลที่เชื่อมโยงปริศนาในบรรทัดด้านบนร่วมกันดู
ข้อมูลเครือข่ายอุโมงค์ลับใต้ดินในพื้นที่ฉนวนกาซา :
จากรายงานของ RAND Corporation องค์กรที่ปรึกษาหน่วยงานภาครัฐไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ซึ่งได้ออกบทวิเคราะห์ผลการเปิดปฏิบัติการ “Operation Protective Edge” ของ กองทัพอิสราเอล (The Isreal Defense Forces) หรือ “IDF” ซึ่งเป็นการเปิดปฏิบัติการภาคพื้นดินในพื้นที่ฉนวนกาซา เพื่อมุ่งทำลายอุโมงค์ลับใต้ดินดังกล่าว ในปี 2014 ระบุว่า เครือข่ายอุโมงค์ใต้ดินซึ่งมีขนาดความกว้างประมาณ 1 เมตร และอยู่ในระดับความลึกตั้งแต่ 50-80 เมตรนั้น มีเส้นทางเชื่อมต่อกันเป็นใยแมงมุม เป็นระยะทางยาวมากกว่า 100 กิโลเมตร ใต้พื้นที่ 360 ตารางกิโลเมตร ของ “ฉนวนกาซา”
...
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง : อิสราเอล ฮามาส ยุทธศาสตร์และราคาที่ต้องจ่าย
จุดเริ่มต้นการก่อสร้างอุโมงค์ลับใต้ดิน :
ตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นมา กลุ่มฮามาสได้เริ่มขยายการขุดอุโมงค์ลับเดิมซึ่งถูกใช้เป็นสถานที่หลบซ่อนตัวจากการไล่ล่าของกองทัพอิสราเอลมาตั้งแต่ช่วงปลายยุค 60 ให้มีระยะทางและความลึกเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ก่อนจะมีการดำเนินการก่อสร้างอย่างจริงจังในปี 2006 หลังฮามาสชนะการเลือกตั้งจนมีอำนาจเหนือดินแดนฉนวนกาซาอย่างสมบูรณ์ โดยมีอัตราความคืบหน้าในการสร้างอุโมงค์เฉลี่ยประมาณ 3-6 เดือน ต่อระยะทางประมาณ 800 เมตร
ปัจจุบันอุโมงค์ลับใต้ดินดังกล่าว ซึ่งส่วนใหญ่ทอดยาวอยู่ใต้อาคารที่พักอาศัยของประชาชนในพื้นที่ฉนวนกาซา ถูกนำมาใช้ทั้งเป็นฐานบัญชาการ, คลังแสง, เส้นทางการซุ่มโจมตีกองทหารอิสราเอล, ลักลอบขนอาวุธและกำลังคนเข้าสู่พื้นที่ฉนวนกาซา, ที่หลบซ่อนตัวจากการโจมตีทางอากาศให้กับกลุ่มติดอาวุธฮามาส และล่าสุดมีการคาดการณ์ว่าน่าจะถูกใช้เป็นสถานที่ควบคุมตัวประกันต่างชาติประมาณ 240 คน ที่ถูกจับกุมตัวมาตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม โดยจนถึง ณ ขณะนี้ (1 พ.ย. 23) เงื่อนไขที่กลุ่มฮามาสเรียกร้องต่ออิสราเอล คือ ให้ปล่อยนักโทษชาวปาเลสไตน์ประมาณ 6,000 คน
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง : 4 อุปสรรค การรบภาคพื้นดินในฉนวนกาซา
กลุ่มฮามาสเริ่มใช้อุโมงค์ลับใต้ดินโจมตีอิสราเอลเมื่อไร? :
หลังเครือข่ายอุโมงค์ลับใต้ดินเริ่มมีระยะทางที่ทั้งยาวไกลและซับซ้อนมากขึ้น กลุ่มฮามาสรวมถึงกลุ่มติดอาวุธชาวปาเลสไตน์ต่างๆ จึงได้เริ่มใช้มันเป็นเส้นทางในการลอบเข้าไปโจมตีกองทัพอิสราเอลอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อได้เห็นว่าการโจมตีด้วยจรวดต่อเป้าหมายต่างๆ ในอิสราเอลเริ่มได้ “ผลลัพธ์” ที่น้อยลงเรื่อยๆ จากการที่ “IDF” ได้นำระบบป้องกันภัยทางอากาศ “Iron Dome” ซึ่งมีอัตราความสำเร็จในการสกัดกั้นภัยคุกคามได้สูงถึง 97%! เข้าประจำการตั้งแต่ปี 2011
โดยปฏิบัติผ่านการใช้เส้นทางอุโมงค์ลับใต้ดินที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของกลุ่มฮามาส คือการ “ลอบเร้นมุดใต้ดิน” เข้าไปโจมตีกองทหารอิสราเอลในปี 2006 ซึ่งสามารถจับกุมทหาร 1 นายมาเป็นตัวประกัน ก่อนจะกดดันและบีบบังคับให้รัฐบาลอิสราเอล ต้องยอมปล่อยตัวนักโทษชาวปาเลสไตน์ถึง 1,000 คน เพื่อแลกเปลี่ยนกับทหาร 1 นายที่ถูกจับเป็นตัวประกัน จนเป็นผลสำเร็จในปี 2011
...
นอกจากนี้ กลุ่มฮามาสยังเคยได้ว่าจ้างแรงงานถึง 900 คนให้ทำงานเต็มเวลา เพื่อแลกกับค่าจ้างเฉลี่ยสูงถึง 100,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อคน เพื่อขุดอุโมงค์ใต้ดิน ถึง 3 เส้นทาง เพื่อเชื่อมต่อข้ามพรมแดนเข้าไปยังประเทศอิสราเอลจนเป็นผลสำเร็จภายในระยะเวลาเพียง 3 เดือนเท่านั้น โดยอุโมงค์แรกมีระยะทางข้ามจากแนวชายแดนฉนวนกาซาเข้าไปถึงพื้นที่ประเทศอิสราเอลยาว 1.8 กิโลเมตร, อุโมงค์ที่สอง มีระยะทางยาว 3.1 กิโลเมตร ส่วนอุโมงค์ที่สาม มีระยะทางยาว 450 เมตร
...
ซึ่งในเวลาต่อมา อุโมงค์ใต้ดินทั้ง 3 เส้นทางนี้ สามารถ “สร้างภัยคุกคาม” ให้กับ “ชุมชนชาวอิสราเอล” ที่ตั้งอยู่ห่างจากชายแดนฉนวนกาซา 4 กิโลเมตร ได้มากถึง 20 หมู่บ้าน หลังมีการเปิดปฏิบัติการส่งกองกำลังติดอาวุธ “ลอบเร้นโจมตี” โดยที่ฝ่ายอิสราเอลแทบไม่ทันได้ตั้งตัวด้วย
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง : เปิดขุมกำลังทัพอิสราเอล ก่อนดีเดย์บุกฉนวนกาซา
อิสราเอลรู้หรือไม่ว่ามีอุโมงค์ลับใต้ดินในพื้นที่ฉนวนกาซา? :
การเลือกใช้กลยุทธ์ขุดอุโมงค์ลับใต้ดิน ไม่ใช่เป็นเรื่องแปลกใหม่สำหรับอิสราเอล เนื่องจากที่ผ่านมากองทัพอิสราเอลต้องเผชิญหน้ากับการ “ลอบเร้นโจมตี” ในลักษณะเช่นนี้มาแล้วหลายครั้ง เพียงแต่ในช่วงเวลานั้น สำนักงานด้านความมั่นคงของอิสราเอล หรือ “Shin Bet” ซึ่งแม้จะรู้ดีว่ามีอุโมงค์ลับใต้ดินในพื้นที่ฉนวนกาซา แต่กลับ “ล้มเหลว” ในการวิเคราะห์และเข้าใจในโครงข่ายการทำงานอย่างเป็นระบบของอุโมงค์ลับใต้ดินดังกล่าว ซึ่ง “ผิดแผก” ไปจาก อุโมงค์ลับใต้ดิน “ดั้งเดิม” ซึ่งมักจะถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้สำหรับ “การลอบเร้นโจมตีเพียงครั้งเดียว”
อย่างไรก็ดี แม้ที่ผ่านมากองทัพอิสราเอลจะเพียรพยายามนำเทคโนโลยีขั้นสูงต่างๆ มากมายมาใช้ เพื่อช่วยในการค้นหาเครือข่ายอุโมงค์ใต้ดินที่ว่านี้ แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังคง “ไม่ได้ผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจ” เนื่องจาก การสำรวจด้วยวิธีสัญญาณเรดาร์ (Ground Penetrating Radar) หรือ GPR สามารถสำรวจ “ความลึกใต้ดินได้อย่างจำกัด” ขณะที่เทคโนโลยีเครื่องบันทึกคลื่นเสียงสั่นสะเทือน หรือ Geophone ที่แม้จะสามารถนำมาใช้ในกรณี “ตรวจสอบเสียงสั่นสะเทือนจากการขุดอุโมงค์ใต้ดินได้” แต่มันใช้ไม่ได้ผลกับเครือข่ายอุโมงค์ใต้ดินที่ขุดเสร็จสมบูรณ์แล้ว
...
นอกจากนี้ กองทัพอิสราเอล ยังได้พยายามพัฒนาเทคโนโลยีที่ถูกนำไปใช้สำหรับอุตสาหกรรมขุดหาน้ำมันใต้ดินมาใช้ นั่นคือ การวัดค่าความไหวสะเทือน (Seismic Survey) ด้วยการจุดระเบิดใต้พื้นดิน ให้เกิดคลื่นความไหวสะเทือนวิ่งลงไปกระทบชั้นหินใต้ดินแล้วสะท้อนกลับขึ้นมาเข้าเครื่องรับสัญญาณ เพื่อค้นหาอุโมงค์ลับดังกล่าว แต่ก็ยังไม่ได้ผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจนัก
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง : ฉนวนกาซา ภายใต้สงครามและการปิดล้อม
อิสราเอล เริ่มค้นพบ อุโมงค์ลับใต้ดินได้อย่างไร? :
ในเมื่อเทคโนโลยีสมัยใหม่ “ใช้ไม่ได้ผล” กองทัพอิสราเอลจึงหันไปใช้ “กลยุทธ์เดิม” นั่นคือการทำงานของเจ้าหน้าที่ข่าวกรอง และการออกลาดตระเวนของกองทหาร จนกระทั่งสามารถค้นพบอุโมงค์ลับใต้ดินหลายแห่งที่เชื่อมต่อเข้ามายังประเทศอิสราเอลในช่วงประมาณปี 2009
ซึ่งข้อมูลที่ว่านี้ ทำให้ IDF ตัดสินใจเปิดปฏิบัติการทางทหารที่มีชื่อว่า “Operation Protective Edge” ซึ่งเป็นการปฏิบัติการภาคพื้นดินบุกเข้าไปดินแดนฉนวนกาซา เพื่อสำรวจและทำลายอุโมงค์ลับใต้ดินดังกล่าว โดยเฉพาะส่วนเชื่อมต่อที่รุกล้ำเข้าไปในประเทศอิสราเอล
โดยระหว่างเปิดปฏิบัติการ “Operation Protective Edge” กองทัพอิสราเอลประเมินว่าอุโมงค์ลับใต้ดินดังกล่าว น่าจะมีระยะทางยาวมากกว่า 100 กิโลเมตร และมีจุดข้ามพรมแดนไปยังประเทศอิสราเอลได้มากถึง 32 จุด แต่ส่วนใหญ่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยมีเพียง 22 จุดเท่านั้นที่สามารถข้ามไปยังพรมแดนอิสราเอลได้ โดยหลังจากมีการทำแผนที่และทำลายอุโมงค์ลับใต้ดินลงได้ “บางส่วน” เรียบร้อยแล้ว กองทัพอิสราเอลจึงได้ถอนกำลังทหารออกจากฉนวนกาซาและจบปฏิบัติการ “Operation Protective Edge” ลงในที่สุด
ความเสียหายจากสงครามอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ตั้งแต่วันที่ 7-31 ต.ค. 23 โดยอ้างอิงรายงานจากองค์การสหประชาชาติ :
ปัจจุบันจำนวนผู้เสียชีวิตสะสม "ชาวปาเลสไตน์" อยู่ที่ 8,525 ศพ ในจำนวนนี้เป็น เด็ก 3,542 ศพ ผู้หญิง 2,187 ศพ หรือคิดเป็น 67% ของจำนวนผู้เสียชีวิต จำนวนผู้บาดเจ็บอยู่ที่ 21,543 คน และสูญหายอีก 1,950 คน ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิต "ชาวอิสราเอลและชาวต่างชาติ" อยู่ที่ 1,400 ศพ บาดเจ็บ 5,400 คน
หากแต่ที่น่าเศร้า คือ จำนวนประชากรในดินแดนฉนวนกาซาทั้งหมด 2,098,389 คนนั้น ล่าสุดพิษภัยของสงครามได้ทำให้มีผู้พลัดถิ่นฐานชาวปาเลสไตน์มากถึง 1.4 ล้านคนแล้ว! โดยในจำนวนนี้ มากกว่า 689,000 คน ปัจจุบันพักพิงในศูนย์อพยพ 150 แห่ง ส่วน 121,750 คน พักพิงอยู่ในอาคารสาธารณะและโรงพยาบาล ขณะที่อีกมากกว่า 83,000 คน ต้องพักพิงอยู่ในโรงเรียน และอีกมากกว่า 550,000-600,000 คน ถูกส่งไปอยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง