โควิดทำพิษ เศรษฐกิจซบเซา! 'ตลาดน้ำอัมพวา' ฟุบไม่ฟื้น เสน่ห์เลือนหาย-นักท่องเที่ยวลด-ยอดขายหด-จำใจปิดร้าน และทางแก้ไขที่ผู้ประกอบการยังมองไม่เห็น...
'ตลาดน้ำอัมพวา' แหล่งท่องเที่ยวสัมผัสวิถีชีวิตชุมชน ที่เคยรุ่งเรืองและได้รับความนิยม วันนี้เหลือเพียงความเงียบ จนเกือบจะสงบ ประตูห้องเช่าหลายคูหาที่เคยมีร้านค้า ถูกล็อกด้วยแม่กุญแจ โดยไม่มีใครรู้ว่า พวกมันจะถูกเปิดอีกครั้งเมื่อไร
เดิมทีสถานที่แห่งนี้เป็นตลาดน้ำโบราณ ที่ได้รับการฟื้นฟูเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเมื่อปี 2547 และประสบความสำเร็จตามมุ่งหวัง มากกว่า 10 ปี ที่อัมพวากลายเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยว จนกระทั่งเกิดการระบาดของโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจของตลาดต้องหงุดชะงัก แม้ว่าปัจจุบันโรคจะเริ่มจางหาย แต่บรรยากาศและเศรษฐกิจของอัมพวาก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
ประมาณ 10.00 น. ของวันศุกร์ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ เดินจากลานจอดรถไปตามทางขนาดเล็กที่มุ่งสู่ริมคลอง แม้ว่าสองข้างทางจะเต็มไปด้วย 'ผู้ขาย' และของฝากจากอัมพวา เช่น ขนมไทย น้ำตาลมะพร้าว มะพร้าวแก้ว ฯลฯ แต่ก็ยังไร้วี่แววของ 'ผู้ซื้อ' และ 'นักท่องเที่ยว'
...
ทีมข่าวฯ เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ทางเดินริมคลอง (ทางไปโครงการอัมพวา ชัยพัฒนานุรักษ์) ก็พบกับความเงียบ เรือยนต์หลายลำจอดนิ่งรอผู้มาใช้บริการ ส่วน 'เรือพาย' นั้น ไม่มีให้เห็นเลยเสียด้วยซ้ำ ผิดกับรูป 'ตลาดน้ำอัมพวา' ที่เคยค้นหาในอินเทอร์เน็ต ราวกับว่านี่ไม่ใช่ที่เดียวกัน เมื่อเดินตามทางไปเรื่อยๆ เห็นว่ามีร้านเปิดเพียงไม่กี่ร้าน แต่ละร้านก็แทบจะไม่มีลูกค้านั่งอยู่
'อัมพวา' ก่อน-หลัง โควิด :
ริมทางเดิน ทีมข่าวฯ พบ คุณยายคนหนึ่ง นั่งข้างโต๊ะขายหมวกหน้าห้องแถวที่ปิดประตูเป็นแนวยาว ทราบภายหลังว่าเป็นร้านของคนที่เธอรู้จัก คุณยายคุยกับเราโดยไม่เผยชื่อ เธอเล่าว่า หลังจากเกิดโควิด-19 ตลาดแห่งนี้ก็เงียบลงเรื่อยๆ กระทั่งเกิดภาพอย่างที่เห็นในปัจจุบัน ร้านค้าและร้านอาหารหลายร้านต้องปิดตัวลง เพราะทนพิษเศรษฐกิจไม่ไหว
คุณยายเล่าด้วยท่าทีที่มั่นใจ และน้ำเสียงอันหนักแน่นว่า "อัมพวาเคยขึ้นสู่จุดสูงสุดมาแล้วเป็น 10 ปี ก่อนโควิดเวลาประมาณนี้คนเดินกันแน่น ของขายดีมาก ทั้งในเรือและบนบก ชาวบ้านเอาอะไรมาขายก็ขายได้ ทุกวันนี้จะขายอะไรก็ยาก คนมาเดินน้อยลง ฝั่งนี้คนแทบจะไม่มาเลย แล้วตอนนี้ที่เที่ยวเยอะขึ้น ตลาดน้ำก็เยอะขึ้น คนขับรถเป็น มี GPS เขาอยากไปไหนก็ไปกันได้… ยังไงที่นี่ก็ไม่มีทางฟื้น กู่ไม่ขึ้นแล้ว ไม่ใช่ว่าไม่อยากให้มันดีขึ้น แต่มองไม่เห็นหนทาง"
'โฮมสเตย์' หนึ่งในธุรกิจของตลาดน้ำอัมพวาที่เคยรุ่งโรจน์ จากเดิมที่ต้องจองห้องพักล่วงหน้า 1-2 เดือน ตอนนี้กลับตาลปัตร นักท่องเที่ยวสามารถมาเปิดห้องพักได้เลย และยังมีห้องว่างเหลือพอจะต้อนรับคนอื่นๆ อีกด้วย
...
'คุณประยงค์' ผู้ประกอบการ เรือนคุณยายเชื้อ โฮมสเตย์ กล่าวกับทีมข่าวฯ ถึงผลกระทบจากโควิดว่า "เมื่อก่อนอะไรก็ดี แต่พอเกิดโควิดทุกอย่างก็แย่ไปหมด กินเวลา 2 ปีเต็มๆ พอกลับมาเปิดให้พักได้ คนก็มาน้อยลงแล้ว โซนขายของก็ขายได้แค่โซนเดียว เพราะอีกโซนเงียบ ร้านค้าที่เคยเปิดจึงหายไปหมด ส่วนเรือพายขายของในน้ำก็ไม่มี เพราะขายของกันไม่ได้เหมือนเดิม"
นอกจากโควิดจะทำให้อัมพวาซบเซา การมีแหล่งท่องเที่ยวในประเทศ รวมถึงรีสอร์ตกับโรงแรมเพิ่มมากขึ้น คุณประยงค์มองว่า สิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นอีกสาเหตุ ที่ทำให้คนเลือกไปที่อื่นมากกว่าที่อัมพวา
...
มุมมองนักท่องเที่ยว :
สำหรับนักท่องเที่ยว 'อัมพวา' ยังคงมีเสน่ห์ในตัวเอง แม้วันนี้จะเงียบเหงาไปบ้างหากเทียบกับอดีต แต่ถ้าได้รับการประชาสัมพันธ์ที่ดีอีกสักครั้ง หรือการร่วมมือแก้ไขปัญหาจากทุกฝ่ายอย่างจริงจัง 'อัมพวา' ก็อาจจะกลับมารุ่งเรืองอีกครั้งก็ได้…
วัยรุ่นชาวแม่กลองโดยกำเนิดอย่าง 'เอก' วันนี้มาตลาดน้ำอัมพวา ในฐานะนักท่องเที่ยวคนหนึ่ง สำหรับเขาแล้ว ที่นี่ไม่ได้เปลี่ยนไปสักเท่าไร หลายอย่างยังคงคล้ายกับภาพความทรงจำที่มีอยู่ แต่สิ่งหนึ่งที่วันนี้อาจจะแปลกตาบ้างสำหรับเขา ก็คือความซบเซา "ผมก็ไม่รู้ว่าเหตุผลแท้จริงที่ทำให้อัมพวาซบเซาลงคืออะไร แต่ถ้าพูดถึงเรื่องเศรษฐกิจ มันก็น่าจะย่ำแย่ทั่วโลก"
เราถามต่อว่า ในฐานะคนแม่กลอง นอกจากเรื่องเศรษฐกิจแล้ว คิดว่าอัมพวากำลังเจอปัญหาอะไรอยู่ เอกบอกกับทีมข่าวฯ ว่า ปัญหาที่อัมพวาเจอน่าจะคล้ายกับ 'เพลินวาน' จากที่เคยโด่งดัง แต่พอถึงจุดหนึ่งคนก็น้อยลงมากๆ อาจจะเพราะว่าไม่มีอะไรให้ดึงดูด คนที่ไม่เคยไปก็รู้สึกว่าอยากไป แต่พอได้ไปจริงๆ แล้ว ก็อาจจะไม่ได้ประทับใจ
...
เอกได้พูดเสนอแนะถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จากความคิดเห็นส่วนตัวของเขาว่า "คนที่เขาไปเที่ยวต่างจังหวัด เขาอาจคาดหวังจะได้เจอวัฒนธรรมที่แปลกใหม่ หรือเป็นวิถีชาวบ้าน ผมมองว่ายังมีโอกาส ที่รัฐหรือหน่วยงานผู้เกี่ยวข้องจะช่วยอัมพวาได้ อย่างแรกเราต้องให้ความรู้พื้นฐานของแต่ละชนชาติกับผู้ค้าก่อน อะไรคือสิ่งที่ควรปฏิบัติ และไม่ควรปฏิบัติ
หลังจากนั้น อยากให้เข้ามาศึกษากันจริงๆ ว่าเสน่ห์ของอัมพวาคืออะไร แล้วดึงจุดขายนั้นออกมาให้ได้ เพื่อให้คนมาแล้วรู้สึกประทับใจ และอยากจะบอกต่อ เพื่อชวนให้คนที่พวกเขารู้จักมาเที่ยว
และการท่องเที่ยวก็ควรมากับการอนุรักษ์ เพื่อสร้างความยั่งยืน ธรรมชาติต่างๆ ของอัมพวาที่เคยดี ก็อยากให้รักษาไว้ด้วย ให้ธรรมชาติ วิถีชีวิต และการท่องเที่ยว ทุกอย่างขับเคลื่อนไปด้วยกัน วันหนึ่งอัมพวาอาจจะฟื้นตัวขึ้นมาอีกครั้งก็ได้"
'คริส' มาตลาดน้ำอัมพวาอยู่บ่อยครั้ง เขามองว่าที่นี่มีเสน่ห์และวิถีชีวิตบางอย่างที่น่าสนใจ อย่างไรก็ตาม เขายอมรับว่าตลาดแห่งนี้เปลี่ยนแปลงไปบ้าง เสน่ห์บางอย่างจางหายไป เช่น เรือพายขายของ ที่เคยมีให้เห็นอยู่เต็มคลอง แต่วันนี้ไม่เหลือให้เห็นสักลำ
ในฐานะผู้หลงรักและชื่นชอบอัมพวา คริสหวังให้อัมพวาได้รับการประชาสัมพันธ์ที่ดีในอนาคตอีกสักครั้ง เพราะเขาเชื่อว่า อัมพวามีเอกลักษณ์และตัวตนของตัวเองอยู่แล้ว อีกทั้งตลาดเคยโด่งดังและเป็นที่รู้จัก การจะกู้ชื่อเสียงนั้น จึงอาจจะไม่ใช่เรื่องที่ยากในมุมมองของเขา
'บอล' และ 'ฝน' มาเที่ยวอัมพวาเป็นครั้งแรก เขายอมรับว่ารู้สึกผิดหวังอยู่เล็กน้อย เพราะไม่เหมือนที่เคยเห็นในรูป แต่สถาปัตยกรรมบางอย่างก็ยังคงมีเสน่ห์ที่น่าสนใจ รวมถึงราคาอาหารและของฝากก็ค่อนข้างสมเหตุสมผล
ทีมข่าวฯ ได้เล่าปัญหาพิษเศรษฐกิจให้พวกเขาฟังอย่างสั้นๆ พวกเขาเข้าใจและเห็นใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งยังแสดงความหวังดีผ่านกับเราว่า หวังว่าอัมพวาจะผ่านพ้นวิกฤตินี้ และฟื้นบรรยากาศแบบในรูป ที่พวกเขาเคยเห็นจากอินเทอร์เน็ตได้อีกครั้ง
ความพยายามของผู้ประกอบการ และเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว :
"แต่ก่อนลูกค้าเข้ามานั่งในร้าน โดยที่เราแทบไม่ต้องเรียก แต่หลังจากโควิด ลูกค้าน้อยลงมากๆ แม่ค้าทุกคนจึงต้องพยายามกันมากขึ้น เพราะอยากขายของได้ อย่างร้านของเรา ก็ต้องทำทุกอย่างเพื่อเรียกลูกค้าให้เข้าร้าน
บางครั้งต้องเปิดแอร์ไว้ทั้งวัน ตกแต่งร้านเพิ่ม หรือพยายามหาวิธีอื่นๆ เพื่อดึงดูดให้ลูกค้าเข้ามานั่งในร้าน ถึงลูกค้าจะมาน้อยแต่ก็ต้องทำ ดีกว่าไม่ได้อะไรเลย" คำพูดของ 'คุณแหม่ม' ผู้จัดการร้านตำถาด สาขา 3 ที่ต้องการอยากจะสื่อสารถึงความพยายามของผู้ค้าทุกคน ที่ต่อสู้กับพิษของเศรษฐกิจมาโดยตลอด
คุณแหม่ม มองว่า เศรษฐกิจของตลาด เพิ่งเริ่มฟื้นตัวเมื่อช่วงต้นปี 2566 แต่รายได้ก็ยังไม่เหมือนเดิม เธอเปรียบเทียบคร่าวๆ เป็นเปอร์เซ็นต์ว่า ก่อนช่วงโควิด รายได้ประมาณ 90% แต่ตอนนี้เหลือเพียง 40-50% เท่านั้น
ทางด้าน 'คุณก้อย' เจ้าของร้าน เตี๋ยว ตก กะลา ก็พยายามต่อสู้มาโดยตลอดเช่นกัน ก่อนจะมีโควิด-19 เธอเคยเป็นเจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยวในตลาดแห่งนี้ถึง 3 ร้านด้วยกัน ไม่ว่าคุณจะเดินท้ายตลาด กลางตลาด หรือต้นตลาด ก็ต้องเจอร้าน 'เตี๋ยว ตก กะลา' ที่แน่นไปด้วยลูกค้า
แต่จำนวนลูกค้าและผู้มาเยือนที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้คุณก้อยแบกรับค่าใช้จ่ายทั้งหมดไม่ไหว จึงต้องยอมจำใจปิดบริการไป 2 ร้าน นำเงินเก็บที่มีและแรงที่เหลือ มาทุ่มเทให้กับร้านสุดท้ายที่มีอยู่ เพื่อให้ธุรกิจ ตัวเอง และพนักงานของร้านยังสามารถไปต่อได้
คุณก้อยกล่าวด้วยแววตาที่ดูเศร้าว่า "โควิดทำพิษเยอะเหมือนกัน เมื่อก่อนขายดีมากจนเรามีทุนเปิดร้านถึง 3 สาขา มีเงินเก็บไว้ใช้ยามจำเป็น พอวันหนึ่งที่ทุกอย่างมันแย่ไปหมด เราก็ทำใจอยู่สักพัก ที่จะต้องยุบ 2 สาขา เราไม่อยากเสียร้าน เพราะเสียดายทุกอย่างที่พยายามสร้างมา แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ พยายามสู้จนถึงที่สุดแล้ว สุดท้ายก็ต้องจำใจปิด ช่วงนี้ถือว่าขายของพออยู่ได้ ไม่ได้ดีมากเหมือนแต่ก่อน แต่ก็ยังดีกว่าไม่ได้อะไรเลย"
ไม่ไกลจากร้านของคุณก้อยมากนัก 'คุณเกรียง' กำลังเรียกเชิญชวนให้คนลงเรือชมบรรยากาศของแม่น้ำและวัด ด้วยน้ำเสียงและรอยริ้มที่ร่าเริง ในอัตราค่าบริการคนละ 50 บาท หลังจากเธอสามารถเรียกลูกค้าได้ครบตามที่ต้องการ ทีมข่าวฯ จึงได้เดินเข้าไปพูดคุยกับเธอ
คุณเกรียงยอมรับว่า ตลาดน้ำอัมพวาย่ำแย่ขึ้นเยอะมาก ถึงจะเริ่มดีขึ้นและพออยู่ได้ แต่หากจะคาดหวังให้ครึกครื้นเหมือนก่อนโควิด คงเป็นไปไม่ได้…
"สมัยก่อนเราไม่ต้องมาเรียกให้เหนื่อยแบบนี้ เรือแทบจะวิ่งไม่พอด้วยซ้ำ เดี๋ยวนี้กระท่อนกระแท่น ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง เวลาได้ก็ได้น้อย ไม่น่าจะดีเหมือนเดิมได้อีก เพราะวันวานไม่หวนคืนแล้ว
ที่ทำอยู่ก็ได้กำไรน้อยมาก อย่างเมื่อกี้ที่เรือออกไป เราเก็บลูกค้าได้ 400 บาท ต้องให้ค่าคนขับ 100 บาท ค่าน้ำมัน 150 บาท เราเหลือ 150 บาท โดยที่ยังไม่ได้คิดค่าเสื่อมอุปกรณ์ต่างๆ ขนาดไม่คิดก็แทบจะไม่เหลืออยู่แล้ว แต่ยังไงก็ยังต้องวิ่งเรืออยู่ ให้พอมีกินมีใช้ ถ้าเราหยุดเราก็ไม่มีรายได้ ลูกน้องก็ไม่มีเงินซื้อข้าวกิน" ในขณะที่คุณเกรียงพูดคุยเล่าถึงปัญหาต่างๆ เธอก็ยังคงมีรอยยิ้ม และเสียงหัวเราะให้ทีมข่าวฯ เสมอ นี่คงเป็นรอยยิ้มของ 'นักสู้' แห่งตลาดน้ำอัมพวาอีกคนหนึ่ง
สิ่งที่อยากให้หน่วยงานรัฐช่วยเหลือ :
ระหว่างการพูดคุย ทีมข่าวฯ ได้ถามถึงความต้องการของชาวบ้าน ที่อยากให้รัฐ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาช่วยแก้ปัญหาเรื่องนี้ ต่างมองและให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ "ไม่รู้ และมองภาพไม่ออกว่าจะให้ช่วยยังไง"
แม้ว่าจะไม่สามารถระบุความต้องการ ที่อยากให้รัฐช่วยเหลือออกมาเป็นข้อๆ ได้ แต่พวกเขาก็ยังมีความหวังลึกๆ ว่าเศรษฐกิจที่นี่จะกลับมาดีอีกครั้ง เพื่อรักษาและฟื้นฟูให้ตลาดน้ำอัมพวายังคงอยู่ต่อไป
"เราก็บอกไม่ถูกว่าจะให้ช่วยอะไร หรือช่วยยังไง แต่ถ้ามีนโยบาย หรือมาตรการที่ช่วยได้จริงๆ ก็คงจะดี เพราะเราอยากให้ตลาดกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง เราเห็นบรรยากาศของตลาดเป็นแบบนี้ ใจหนึ่งก็แอบกังวลเหมือนกันนะ ไม่รู้ว่าถ้าเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ วันหนึ่งอาจจะต้องปิดร้านกันทั้งตลาดก็ได้" คุณก้อยกล่าวกับทีมข่าวฯ
ฟื้นฟู และพัฒนาเสน่ห์อัมพวา :
ทีมข่าวฯ ได้เข้าพูดคุยกับ 'นายกฤษฎี กลิ่นจงกล' หรือ 'เต้ย' นายกเทศมนตรีตำบลอัมพวา เพื่อพูดคุยถึงแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 'ตลาดน้ำอัมพวา' ทั้งในส่วนที่ดำเนินการแล้ว กำลังดำเนินการ และแผนในอนาคต…
นายกฤษฎี กล่าวว่า ตลาดน้ำอัมพวาได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโควิด-19 และตอนนี้เศรษฐกิจเองก็ยังไม่ดีขึ้น อีกทั้งที่ผ่านมาตลาดไม่เคยถูกจัดระเบียบ จึงอาจมีปัญหาบางอย่างที่ถูกซุกซ่อนไว้ เช่น การโก่งราคา เรือขับเร็ว ฯลฯ
ตนจึงคาดว่า ในส่วนแรกจะทำการประชาสัมพันธ์และฟื้นฟู ให้ตลาดกลับมามีเศรษฐกิจที่ดีอีกครั้ง หลังจากทุกอย่างดีขึ้น จึงจะเริ่มจัดกายภาพเมือง ตนตั้งใจว่าจะไม่ทำทุกอย่างแบบกะทันหัน ตอนนี้ได้เริ่มดำเนินการไปบางส่วน เช่น ทำเส้นสีเหลือง เพื่อกำหนดขอบเขตในการวางของ เป็นต้น
นายกเต้ย ระบุว่า ที่ผ่านมาอัมพวาดำเนินการโดย 'ภาคประชาชน' ซึ่งคอยช่วยเหลือและขับเคลื่อนกันเอง จึงได้รวบรวมชาวบ้านอัมพวาที่มีความรักในท้องถิ่น ตั้งกลุ่มชื่อว่า 'อัมพวาเฉิดไฉไล' เพื่อคอยดำเนินการ และมีส่วนร่วมในการผลักดันพัฒนาท้องถิ่น อีกทั้งยังคอยหาเงินสนับสนุนการจัดกิจกรรมต่างๆ ซึ่งเงินในส่วนนี้จะไม่เกี่ยวข้องกับงบประมาณของราชการ
ตัวอย่างของกิจกรรมที่ถูกจัดขึ้นจากเงินสนับสนุนของกลุ่ม 'อัมพวาเฉิดไฉไล' ก็คือ การแสดงดนตรีกลางน้ำ ที่ใช้ชื่อว่า "คอนเสิร์ต คืนความรักให้อัมพวา" ซึ่งจัดขึ้นมาแล้วทั้งหมด 6 ครั้งด้วยกัน โดยแต่ละครั้งจะเชิญศิลปินที่มีชื่อเสียงมาร้องเพลง และมีการแสดงความสามารถจากเยาวชนในท้องถิ่น โดยหวังว่าจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้คนมาพักและท่องเที่ยว ซึ่งส่วนตัวนายกเต้ยมองว่า กิจกรรมนี้ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี และจะมีการจัดงานนี้เป็นครั้งที่ 7 ในวันที่ 3 ธันวาคม 2566 ซึ่งผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ แฟนเพจ คืนความรักให้อัมพวา
นอกจากนั้นเงินของกลุ่มฯ ยังนำมาใช้สำหรับการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โดยนำเงินจ้างผู้สูงอายุที่สามารถพายเรือได้ ให้นำของออกมาขาย อีกทั้งคอยรับนักท่องเที่ยวนั่งเรือชมธรรมชาติ และวิถีชีวิตตลอดคลองบางจาก ซึ่งเป็นคลองย่อยจากคลองอัมพวา
ช่วงที่ดำเนินการนั้น มีชาวบ้านนำของมาขายบนเรือ ทำให้ภาพบรรยากาศตลาดน้ำแบบเดิมกลับมาอีกครั้ง แต่โครงการนี้ได้หยุดดำเนินการไป 4 เดือน เนื่องจากคลองบางจากน้ำแห้ง และจะเริ่มกลับมาจัดกิจกรรมอีกครั้งในช่วง เดือนพฤศจิกายน
จากสถานการณ์คลองบางจากน้ำแห้ง นายกเต้ยจึงตั้งใจหาทุนสำหรับขุดลอกและปรับปรุงคลองบางจาก เพื่อให้การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์สามารถดำเนินการได้ตลอดปี เขาจึงผลักดันคลองบางจากเข้าโครงการ 1 จังหวัด 1 คลอง ซึ่งก็ได้รับการคัดเลือก และจะได้รับงบประมาณดำเนินการในอนาคต
นายกเต้ย ระบุว่า อัมพวาเป็นเมืองที่มีต้นทุนทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมสูง มีความเกี่ยวข้องกับรัชกาลที่ 2 แห่งราชวงศ์จักรี ตนจึงพยายามนำโขนเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2 และเป็นมรดกโลกของชาติ มาประยุกต์ใช้เป็นลูกเล่นเล็กๆ น้อยๆ เพื่อสร้างสีสันให้กับอัมพวา
อีกทั้งยังได้สรรหาครูโขน ครูรำ และครูนาฏศิลป์ มาสอนเด็กและเยาวชนในพื้นที่ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อเป็นการสืบสานวัฒนธรรมไทย อีกทั้งให้เด็กๆ ได้มีโอกาสแสดงความสามารถในงานต่างๆ ที่จัดขึ้น
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เงินทุนสำหรับทำกิจกรรมของกลุ่ม 'อัมพวาเฉิดไฉไล' กำลังจะหมดลง นายกเต้ยและทีมงานฯ ก็ต้องคิดวิธีสำหรับการหาเงินสนับสนุนต่อไป...
แผนพัฒนาในอนาคต :
'ต้นลำพู และ หิ่งห้อย' ถือเป็นอีกหนึ่งเสน่ห์ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยือนอัมพวา นายกเต้ยตั้งใจต่อว่า จะทำโครงการปล่อยหิ่งห้อยสู่ธรรมชาติ โดยการเรียนรู้วิธีเพาะพันธุ์ และประสานขอองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หลังจากนั้นจะ พัฒนาเส้นทางคลองบางจากให้เป็นแหล่งพายเรือชมหิ่งห้อยในยามค่ำคืน เนื่องจากบริเวณนี้มีต้นลำพูจำนวนมาก และไม่ไกลจากคลองอัมพวานัก ซึ่งเคยทดลองจัดกิจกรรมลักษณะนี้ และได้ผลตอบรับค่อนข้างดี
มีการปรับทัศนียภาพเมืองโดยการทำ 'สตรีทอาร์ต' ซึ่งเริ่มดำเนินการไปบางส่วน แต่ยังไม่แล้วเสร็จ รูปวาดต่างๆ ที่ถูกบรรจงลงสี เกิดจากฝีมือของคนในชุมชนและนักเรียนร่วมกันรังสรรค์ขึ้นมา
การจัดระเบียบการขายของ จะนำเทศกิจกลับมา และจะประสานงานขอความร่วมมือกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัด ในการให้ความรู้เรื่องสินค้า พร้อมกฎการติดป้ายราคากับผู้ประกอบการ เพื่อป้องกันปัญหาการโก่งราคา
สำหรับ การเดินเรือ มีแผนจะจัดตั้งชมรมผู้ประกอบการเรือ โดยได้เริ่มเข้าไปพูดคุยกับผู้ประกอบการบางส่วนแล้ว และได้รับการร่วมมือเป็นอย่างดี อีกทั้งจะประสานงานกับกรมเจ้าท่า เพื่อหาแนวทางป้องกัน และดำเนินการกับผู้กระทำความผิด ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
ในส่วนของ การกระตุ้นเศรษฐกิจ และสร้างรายได้ให้กับชุมชน นายกเต้ยตั้งใจว่า จะตั้งแผงขายของ และเรือขายของผูกไว้ริมน้ำ ให้เยาวชนในพื้นที่ได้นำของมาขาย เพื่อสร้างรายได้ให้กับพวกเขา อีกทั้งเป็นการสร้างบรรยากาศตลาดริมน้ำ ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง นอกจากนั้นยังมีแผนจะประสานงานกับวัดใกล้เคียง เพื่อขอใช้พื้นที่สำหรับจอดรถทัวร์ของนักท่องเที่ยว และใช้รถกอล์ฟของวัดคอยรับนักท่องเที่ยวมาสู่ตลาด ซึ่งนี่เป็นแนวคิดสำหรับการดึงดูดกลุ่มทัวร์นักท่องเที่ยว
ระหว่างการสนทนา นายกเต้ยได้บอกกับทีมข่าวฯ ว่า ตนในฐานะนายกเทศมนตรีตำบลอัมพวา และเป็นคนอัมพวาตั้งแต่กำเนิด ยังมีแผนการพัฒนาต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะตั้งใจจะใช้เวลาในการดำรงตำแหน่ง เพื่อสร้างสรรค์และฟื้นฟู ให้ตลาดน้ำดำเนินสะดวก กลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง อยากให้คนในชุมชนมีรายได้ และยืนได้ด้วยตัวเอง
แม้ว่าวันนี้ 'ตลาดน้ำอัมพวา' จะเงียบเหงาซบเซา แต่เสน่ห์และความน่าหลงใหล ยังคงมีให้เห็นอยู่บ้าง อีกทั้งหน่วยงานท้องถิ่นก็กำลังพยายามจะฟื้นฟูที่แห่งนี้ ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ซึ่งเราก็ต้องติดตามกันต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร
แต่ตอนนี้สิ่งที่ทุกคนสามารถทำได้ ก็คือการลองออกไปเยี่ยม 'อัมพวา' สักครั้ง…
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
ภาพ : เอกลักษณ์ ไม่น้อย #ThairathPhoto
อ่านบทความที่น่าสนใจ :