คุยกับปราชญ์เกษตรตาคลี ทำนา ทำไร่ เจ๊ง สุดท้ายจบที่พืชผสมผสาน 1 ไร่ คืนทุนใน 6 เดือน มีเงินแสนใช้ทุกปี...

เวลานี้ “ค่าของชีพ” ถือว่าสูงมากสำหรับคนเมือง หากไร้บ้าน ไร้ที่ดินปลูกพืช เป็นมนุษย์เงินเดือน หากอยู่ในย่านธุรกิจ เชื่อว่าแต่ละวันหมดเงินมากกว่า 300-400 บาท นี่คือ “ชีวิต” ที่ค่อนข้างอยู่ยากขึ้นทุกวัน

ทางออกจาก “วังวน” นี้ บางคนเลือกหันมาทำเกษตร ขอแค่ที่ดินผืนน้อย ก็สามารถลดค่าใช้จ่ายได้ ส่วนวิธีการจะเป็นอย่างไร วันนี้ “เรา” มี 1 ต้นแบบมาแนะนำ

“กำนันปกรณ์ คำหล้า” ปราชญ์ภูมิปัญญาชาวบ้าน เกษตรกรใน ต.ตาคลี อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ มาบอกเล่าเคล็ดลับการทำเกษตรให้อยู่ได้ เหลือใช้

ขุดทอง “ซาอุฯ” หาเงินในสมรภูมิรบ “อิรัก-อิหร่าน”

กำนันปกรณ์ บอกเล่าความหลังให้ฟังว่า เราเองก็เป็นลูกหลานเกษตรกรคนหนึ่ง ที่เห็นพ่อแม่ทำนามาตั้งแต่เด็กๆ แต่ก็ทำแล้วบางปีก็ขาดทุน บางปีก็มีกำไร ชีวิตวนเวียนอยู่แบบนี้ เรียกว่าชีวิตวนเวียนอยู่กับการเป็นหนี้สิน ถึงแม้พ่อแม่จะพอมีที่ดินเป็นของตัวเองบ้างก็ตาม

...

ในเวลาต่อมา... เมื่อเริ่มเป็นหนี้ เราก็ต้องหาเงินเพิ่มเติม ด้วยการขายแรงกาย ไปทำงานที่ซาอุฯ หรือในสมรภูมิสงครามอย่างประเทศอิรัก ซึ่งตอนนั้นอิรักกับอิหร่านกำลังรบกันอยู่ เขาขาดคนสร้างตึก สร้างอาคาร เราไปทำงานที่นั่น รวย...ได้เงินก้อนกลับมา เมื่อได้เงินแล้ว ก็เอาไปซื้อที่ดินไว้ คิดว่าเวลานั้น “ฉันรวยแล้ว” เมื่อกลับมา ก็มาทำการเกษตร...และก็เจ๊งกับเกษตร

“เราทำเกษตรตามพ่อแม่ ปลูกพืชเชิงเดี่ยว ทำนา ก็ขาดทุนไปกับค่าปุ๋ย ค่ายา และราคาผลผลิตตกต่ำ เราทำเอง ไม่ได้ “จ้าง” เขาอย่างเดียว เวลานั้นเราทำเกษตรด้วยวิธีการผิดๆ ลงทุนมากมายไปกับปุ๋ยเคมี ทำให้ดินเสื่อม ขาดทุน...”

เราเป็นหนี้จากข้าวหลายแสนบาท ทำนาเราได้ข้าวมาเกวียนหนึ่ง แต่ได้เงินถังละ 30-40 บาท เกวียนละ 3,000-4,000 บาท จากนั้นก็มาทำไร่ข้าวโพด อ้อย เจ๊งอีก คราวนี้ก็ต้องขายไร่ ขายนา เพื่อใช้หนี้

เปลี่ยนแนวคิด ชีวิตเปลี่ยน ทิ้งปุ๋ยเคมี ใช้ปุ๋ยอินทรีย์

กำนันปกรณ์ เล่าว่า หลังเจ๊งมาต่อเนื่องจากทำนา ทำไร่ กระทั่งมาเจอแนวคิด “สวนผสม” ของในหลวงรัชกาลที่ 9 เราจึงเริ่มเปลี่ยนความคิด กับโครงการเกษตรพอเพียง ท่านสอนในทฤษฎี 30 30 30 10 เรื่องการใช้พื้นที่การเกษตร ทำ 1 ไร่ให้เกิดประโยชน์ 3-4 อย่าง วันนั้นจึงเริ่มต้นขุดบ่อ ทำสวน

จากนั้นก็มารู้จักเพื่อนที่ใช้ระบบปุ๋ยอินทรีย์ ปรากฏว่าเมื่อทำแบบนี้ ดินก็ฟื้นตัว ปลูกพืชอะไรก็เจริญงอกงาม เมื่อเราปลูกพืชได้ดี ชาวบ้านในพื้นที่ก็เริ่มให้การยกย่อง และเลือกให้เราเป็น “ผู้ใหญ่บ้าน” และเมื่อทำงานผู้ใหญ่บ้าน เดินหน้าช่วยเหลือชุมชนศรัทธาในการทำงานของเรา ก็กลายเป็น “กำนัน” ในเวลาต่อมา

“ผมเริ่มต้นด้วยการปลูกมะม่วง มะขามเทศ ผัก พริก แซมๆ กันไป เวลารดน้ำผัก ต้นพริกก็ได้ไปด้วย ต้นมะม่วงก็ได้ด้วย เรียกว่าการทดลองปลูกในที่ดินของเราเอง โดยอาจจะเริ่มต้นจากที่ดิน 1 ไร่ หรือ 2 ไร่ก่อน การที่เราลงมือทำเอง มันช่วยลดค่าใช้จ่ายมาก ไม่เหมือนกับการทำนา เพราะทำเอง ใช้แรงงานตัวเองไม่ไหว...” ปราชญ์เกษตรตาคลี กล่าวและว่า

เราทำตามสิ่งที่ในหลวงท่านบอก ปรากฏว่าเราได้ประโยชน์จากการทำหลายอย่าง โดยมีการปลูกพืช 3 ระยะ คือ ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว

ระยะสั้น : ผักชี กวางตุ้ง

ระยะกลาง : พริก มะเขือ ถั่วฝักยาว

ระยะยาว : กลุ่มผลไม้ต่างๆ ชมพู่ ฝรั่ง

“พืชที่ปลูกตามระยะต่างๆ เราก็มีผลผลิตเก็บเกี่ยวขาย เรียกว่าแค่ประมาณ 3-6 เดือน ก็เริ่มได้ทุนคืนแล้ว ยกตัวอย่าง ชมพู่ ท่านให้น้ำทุกวัน คือ รดน้ำให้ผัก ชมพู่ที่ปลูกไว้ก็ได้ด้วย หรือเมื่อเก็บผักเสร็จแล้ว ก็ให้น้ำกับต้นพริก ชมพู่มันก็แอบกินไปด้วย ที่ใครบอกว่าต้องปลูกถึง 3 ปี ถึงจะให้ลูก แต่สิ่งที่เราทำ คือ ให้น้ำ ให้ปุ๋ยอินทรีย์ตลอด ถ้าเราปลูกแบบนี้มันก็จะโตเร็วกว่าปกติ โดยเป็นการเร่งแบบธรรมชาติ ไม่ใช้สารเคมี มีไส้เดือนพรวนดินให้”

...

ปลูกพืชต่อ 1 ไร่ รายได้หลักแสนบาท สบายๆ

กำนันปกรณ์ เผยว่า หากเราทำแบบนี้ เราจะมีรายได้สบายๆ ต่อ 1 ไร่ 1 แสนบาท แบบชิลๆ เพราะเงินที่ได้มานั้น เราได้แบบเต็มๆ ส่วนเงินที่เสียไปกับชีวิตประจำวันเราเสียน้อย หากทำบัญชีครัวเรือนเพิ่มเติม ก็ยิ่งทำให้เรารู้รายรับ รายจ่าย มีการจัดการที่ดีกว่าเดิม รู้ว่าอะไรควรจ่าย ไม่ควรจ่าย

“เงินแสนกว่าบาทนั้น เราได้เงินใช้แบบไม่ต้องกู้ยืมใคร มันเหลือเก็บไม่มาก แต่เราไม่เป็นหนี้ใคร ที่ผ่านมาผมเห็นคนเป็นหนี้แก๊งหมวกกันน็อกกันมาก ทั้งที่พอมีที่ดิน แต่กลับปล่อยให้รกร้างว่างเปล่า เสียดาย เขาไม่ได้ทำประโยชน์อะไร กลับกัน มีลูกบ้านผมคนหนึ่ง จากที่มีที่ดิน 1-2 งาน ปลูกพืชผสมผสาน มีเงินค่อยๆ ขยายที่ไปเรื่อย”

กำนันปกรณ์ เน้นย้ำว่า การทำกินนั้นต้องรู้จักเก็บเอง ขายเอง ต้องรอบจัด ต้องเก่งด้วยตัวเอง อย่า “ยืมจมูกคนอื่นหายใจ” เวลาทำงานเราต้องให้ความสำคัญรอบด้าน ทั้งปลูกและขาย

“เดี๋ยวนี้การขาย เราต้องทำให้ “ตลาด” มาหาคน ตอนแรกผมก็ส่งตลาดใหญ่ระดับประเทศ เราวิ่งหาตลาด แต่ตอนนี้เราวิ่งไปขายคนกินเลยดีกว่า ตลาดนัดขายของทำให้เขารู้จัก เมื่อเขารู้จัก เขาจะมาหาเราเอง เราขายของดีๆ คนจัดตลาดนัดก็อยากให้เราไปขาย เวลานี้คนก็มาหาซื้อของถึงสวนเราเลย มาถาม...กำนัน มีผักขายไหม เรียกว่ามีเงินเก็บทุกวัน 300-400 บาทถึงสวน ทั้งที่เรายังไม่ออกไปไหน ยังไม่รวมผลผลิต กลุ่มผลไม้ ที่ขายได้เป็นตันๆ”

...

เศรษฐกิจพอเพียง ไม่ได้แปลว่าจน 

อดีตกำนันตำบลตาคลี ที่ผันตัวมาเป็นเกษตรกรวัยเกษียณเต็มตัว ทิ้งท้ายว่า เราเองน้อมนำแนวคิดของพ่อหลวง ร.9 ท่านสอนเสมอว่า ทำอะไรก็ต้องรู้จักมีภูมิคุ้มกัน มีเหตุและผลรองรับ การที่ท่านบอกว่า “หลักเศรษฐกิจพอเพียง” นั้น ไม่ได้แปลว่าให้เราอยู่อย่างคนจน แต่เราอยู่อย่างพอประมาณ

“ผมมีรถอยู่หลายคัน ผมซื้อได้ผมก็ซื้อ ลูกเราหลายคนก็ต้องดูแล รถก็ซื้อมาใช้ในการทำงาน ระบายของที่จะขาย เราได้อยู่อย่างสบายใจ ไม่เป็นหนี้ใคร หรือถ้าจะเป็นหนี้ก็ต้องมีเหตุมีผล”

นายปกรณ์ กล่าวว่า ช่วงชีวิตที่ผ่านมา เราทำเกษตรมาหลายอย่าง บางครั้งเจอคนไทยด้วยกันหลอกกันเอง เช่น ให้ปลูกพืชชนิดนี้สิ เอาพันธุ์จากผมไปปลูก ปลูกแล้วจะรับซื้อหมด แต่ถึงเวลาไม่มีที่ขาย ยกตัวอย่าง คนที่ปลูกใบกระท่อม ตอนนี้โดนไปเท่าไร ขายกิ่งพันธุ์ พอขายได้แล้ว ไม่กลับมาซื้อ เสียหายไปเท่าไร

“เวลาเขาขายให้เรา เขาไม่ได้ให้ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง ฉะนั้น คนที่เป็นมือใหม่ คิด และก่อนลงมือทำการเกษตร ต้องมีใจรัก ศึกษาข้อมูลให้ดี อย่ามองว่าคนอื่นทำ หรือบอกเราว่า ทำแล้วดี ต้องพิจารณาให้ดี ตั้งต้นง่ายๆ ว่า ไปดูรอบๆ หมู่บ้าน รอบๆ ตลาด ว่าเขาซื้อ เขากินอะไร ปลูกสิ่งที่เขากิน ลองผิด ลองถูกได้ คนที่คิดจะทำอาชีพการเกษตร ต้องทำด้วยตัวเอง” กำนันปกรณ์ กล่าว

...

อ่านบทความที่น่าสนใจ