หนุ่มการตลาด พลิกชีวิต ขายต้นไม้ป่าเศรษฐกิจ ที่พี่ชายปลูก ขายเล่นๆ เดือนเดียว 2 แสน จริงจังพีกสุด 30 ล้าน/ปี แนะเคล็ดลับ สำรวจกระแสตลาด เบื้องหลังความสำเร็จ ....

ต้องยอมรับว่า คนรุ่นใหม่สมัยนี้ให้ความสนใจกับอาชีพอิสระ มากกว่าการเป็น “มนุษย์เงินเดือน” และหนึ่งในอาชีพที่พวกเขาให้ความสนใจ คือ การเป็นเกษตรกร แน่นอนว่า แนวคิดเขาเหล่านั้น ย่อมแตกต่างจากคนรุ่นก่อน บางคนเลือกใช้ชีวิตสโลว์ไลฟ์ งานเกษตร คือ การพักผ่อนที่ทำเงินได้ แต่บางคนก็ทำธุรกิจเกษตร เพื่อความร่ำรวย โดยใช้ “องค์ความรู้” สมัยใหม่มาใช้เป็นหนทางสู่ความสำเร็จ และวันนี้ก็มีอีก 1 อาชีพเกษตรที่กำลังเติบโต นั่นคือ ตลาดต้นไม้ป่าเศรษฐกิจ 

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้พูดคุยกับ “อรรถ” หรือ นายอรรถกร เอี่ยมเจริญ หนุ่มนักการตลาด เจ้าของธุรกิจ “มนทรีสวนป่า” ที่เดิมทีเขาตั้งใจ “ขายเล่นๆ” โดยเอาต้นไม้ของพี่ชายที่ชอบปลูกต้นไม้ และเรียนจบมาด้านนี้ ปรากฏว่า เขาสามารถทำเงินได้ 2 แสน!! 

...

อรรถ เล่าให้ฟังว่า จุดเริ่มต้นของธุรกิจนี้ มาจาก 5 ปีก่อน... 

เดิมทำงานสายครีเอทีฟ การตลาด ในบริษัทโฆษณาแห่งหนึ่ง ขณะเดียวกัน พี่ชาย จบมหาวิทยาลัยเกษตรฯ รักในการปลูกต้นไม้ โดยเฉพาะ “สวนป่า” เขาปลูกที่ จ.ราชบุรี เมื่อกลับบ้านทุกครั้ง จะเห็นพี่ชายปลูกต้นไม้ไว้เต็มสวน 

ไหนๆ ก็ปลูกแล้ว ก็ใช้ความรู้การตลาดจัดการกับมันเสียหน่อย.. อรรถ จึงลองทำการตลาดออนไลน์ให้ ผลปรากฏว่าแค่เพียงเดือนเดียว สามารถขายต้นไม้ป่าเศรษฐกิจเหล่านี้ได้เงิน 2 แสนบาท!! 

“เฮ้ย..นี่แค่ทำเล่นๆ นะได้เงินกว่า 2 แสน ถ้าขายประจำ จะเป็นอย่างไร....” 

อรรถ เล่าว่า หลังประสบความสำเร็จในการขาย จึงเลือกที่จะตั้งบริษัทเป็นเรื่องเป็นราว มีการรับสมัครงานเข้ามาอย่างต่อเนื่อง จนมีพนักงานกว่า 30 คน รายได้จากการขายก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งพีกที่สุดมีรายได้ปีหนึ่งทะลุ 30 ล้านบาท 

“มันช่วงวิกฤติโควิดระบาด คนเริ่มหันมาปลูกต้นไม้มากขึ้น ทำให้เราสามารถขายต้นไม้ได้มากมาย ซึ่งยอดการขายก็มีทั้งช่วงขายดี และ ขายได้ ถือว่าเป็นไปตามจังหวะและเวลา” 

เบื้องหลังความสำเร็จ รู้กระแส ก่อนทำการตลาด 

นายอรรถกร เผยเบื้องหลังก่อนจะเริ่มทำบริษัทจริงจังว่า เขาได้สำรวจตลาดก่อน ว่าสิ่งที่ร้านต้นไม้เขาขาย เขาเน้นไปที่พันธุ์ไม้อะไร โดยมุ่งไปที่ร้านต้นไม้ที่ขาย “พันธุ์ไม้ป่าเศรษฐกิจ” เราสังเกตเห็นว่า แต่ละร้านโชว์ต้นไม้อะไรมากเป็นพิเศษ หากเขาโชว์ต้นไม้พันธุ์นี้มาก แปลว่า “ตลาด” ต้องการต้นไม้พันธุ์นั้นมาก  

นอกจากนี้ อีกทางหนึ่ง คือ เข้าไปดูในแอปฯ ขายของออนไลน์ เราจะเห็นว่าตัวไหนโชว์และขายดี เราก็จะเลือกต้นไม้พันธุ์นั้นเข้ามาเสริม 

“ผมเอาหลักการตลาดเข้ามาจับ ผสมกับการคัดสรรต้นไม้ที่คนสนใจ...” อรรถ สรุปเคล็ดลับการจับกระแสต้นไม้ 

เจ้าของธุรกิจมนทรีสวนป่า บอกว่า เวลานี้กระแสฮิต คือ ต้นสนฉัตร ต้นล่ำซำ ประดู่แดง หรือแม้แต่ยางนา โดยเฉพาะยางนา เขานิยมใช้เพื่อราดเชื้อเห็ด เอามาใช้ในการปลูกเห็ดระโงก เห็ดเพาะ มันจะงอกงาม 

ต้นยางนานั้น ตัวเมล็ดของเขาจะอยู่ในจาว และในจาว มันจะมีอะไรคล้ายแป้ง รูปร่างมันเป็นเมล็ดคล้ายมีปีกห้อย ซึ่งมันจะร่วงช่วงนี้ถึงสิ้นเดือนเมษายน ซึ่งแป้งในลูกปีกบินนี่แหละ หากปล่อยไว้เกิน 2 สัปดาห์ มันก็ไม่สามารถขยายพันธุ์ได้ ดังนั้น หากเป็นบ้านที่รวมกลุ่มกันเพาะพันธุ์กล้าไม้ เขาจะช่วยกันลงแขกเก็บ เราเองก็มีการกระจายให้กับซัพพลายเออร์ เพื่อจ้างชาวบ้านช่วยกันเก็บ เหมือนเป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชน 

เครือข่าย สวนป่าเศรษฐกิจ ทั่วประเทศ

นายอรรถกร ยอมรับว่า นอกจากปลูกเพื่อขายแล้ว เขายังมีวิธีการรวบรวมเครือข่ายทั่วประเทศด้วย สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะต้นไม้บางชนิด ทางบริษัทเราไม่มี หรือปลูกไม่ได้เนื่องจากต้นไม้บางชนิดจะปลูกขึ้นเฉพาะบางพื้นที่ เราก็จะร่วมมือกับชุมชนต้นไม้อื่นๆ 

...

“การถือครองต้นไม้จำนวนมากนั้นต้องใช้ต้นทุนอยู่ เวลาเราจะผลิตพันธุ์ต้นไม้ จะผลิตพันธุ์ละหลักพันถึงหมื่นต้น ดังนั้น หากจะผลิตทุกสายพันธุ์ มันจึงเยอะเกินไป ดังนั้น การมีพันธมิตรกันระหว่างกลุ่ม จึงเป็นสิ่งจำเป็น เพราะจะประหยัดต้นทุนในการเก็บรักษา ซึ่งมันมีค่าถอนหญ้า ดูแลเมล็ดพันธุ์ ถุงดำ ฯลฯ” 

หนุ่มนักธุรกิจต้นไม้ สวนป่าฯ เผยว่า ช่วงหลังเราเลือกผลิตไม้ที่ไม่ค่อยมีใครทำ ซึ่งหากเรามี จะสามารถดันราคาได้ เช่นกลุ่มพันธุ์ไม้ที่ปลูกชายทะเล อาทิ หูกวาง ต้นสนทะเล เนื่องจากประเทศเรานั้นมีพื้นที่ติดทะเลเยอะ ดังนั้น กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ รีสอร์ตต่างๆ เช่น บางแสน มีคาเฟ่เยอะมาก เขาจะต้องการพันธุ์ไม้เหล่านี้ และเวลาเขาลงทุนทำรีสอร์ต เขาจะซื้อจำนวนมาก ส่วน “ไม้ตลาด” เช่น สักทอง พะยูง ยางนา เราจะเน้นซื้อเข้ามากกว่า... 

“เงินจากการขายไม้ตลาด จะเป็นเงินสำหรับใช้จ่ายภายในบริษัท เช่น ค่าจ้างพนักงาน แต่ส่วนกำไรส่วนมากจะมาจากพันธุ์ไม้หายากที่เราผลิตเอง ซึ่งจะเป็นกลุ่มพรีเมียมไซต์และเกรด ซึ่งกลุ่มนี้จะแลกมากับ “ค่าดูแลรักษา” ที่มากขึ้น เพราะเมล็ดพันธุ์บางชนิดก็แพงมาก มีความเสี่ยงในเรื่องการลงทุนสูง เพาะพันธุ์ยาก” นี่คือหลักการบริหารในแนวคิดของคนหนุ่มไฟแรง

...

การตลาด + การเกษตร และห่วงโซ่เศรษฐกิจสีเขียว 

นักธุรกิจหนุ่ม มีความเชื่อว่า การเกษตรสำหรับประเทศไทย มันเป็นของคู่กัน ที่ผ่านมาทางรัฐบาลเองก็ค่อนข้างสนับสนุนเกี่ยวกับ BCG เศรษฐกิจสีเขียวที่ยั่งยืน ซึ่งศักยภาพประเทศไทยสามารถไปโตได้ในระดับโลก ขณะที่ผู้ประกอบการที่ส่งออกพันธุ์ไม้ไปยังต่างประเทศ แต่ละปีสามารถดึงเม็ดเงินเข้าประเทศได้จำนวนมหาศาล ซึ่งเม็ดเงินดังกล่าว ก็เริ่มต้นตั้งแต่เกษตรกรในระดับชาวบ้านจนถึงระดับสูง ซึ่งคนที่อยู่ในห่วงโซ่เศรษฐกิจสีเขียวนี้มีเยอะมาก ตั้งแต่คนปลูก คนขุด คนส่ง ซึ่งมันใช้ทั้งความรู้และเงินลงทุน กว่าจะจบขั้นตอนได้ มันใช้เวลาพอสมควร

เมื่อฟังมาถึงตรงนี้ เราก็สงสัยว่า “สิ่งที่ขาด” ในเวลานี้ คืออะไร... นายอรรถกร ชี้ว่า know-how บางอย่าง เช่น ต้นศรีตรัง เราจะขนส่งไปต่างประเทศอย่างไรให้ต้นไม้ชนิดนี้รอด... เพราะเวลาขนส่ง อาจจะต้องขนส่งผ่านตู้คอนเทนเนอร์ 1 เดือน ต้นนี้เป็นต้นที่ใบร่วงง่าย และที่ผ่านมา ยังไม่เคยเห็นใครทำสำเร็จ 

“ต้นไม้บางพันธุ์มันเซนซิทีฟมาก ฉะนั้น การขนส่งไปยังต่างประเทศ อาจจะต้องพึ่งพาการวิจัย เพื่อหาวิธีขนส่งให้รอด...” 

...

ส่วนตัวมองว่า ไทยควรจะมี “ฮับเซ็นเตอร์” องค์ความรู้มาแชร์ เป็นศูนย์เรียนรู้ แต่ที่ผ่านมา มีการพูดคุยไปถึงสภาอุตสาหกรรม ซึ่งหลายๆ ส่วนก็อยากจะมา “แย่งเค้ก” แต่ไม่แชร์ข้อมูลองค์ความรู้กัน กลายเป็นว่า ผู้ประกอบการที่เคยส่งต้นไม้ไปปลูกที่ซาอุดีอาระเบีย เขาจึงเตือนว่าระวังต้นไม้ไม่ตรงปก หรืออาจตายระหว่างทางได้...ดังนั้น สิ่งที่หวัง คือ การแชร์องค์ความรู้เหล่านี้ ซึ่งในปัจจุบันยังเห็นการแชร์ความรู้เหล่านี้น้อยอยู่ เพราะหากมองอีกมุมหนึ่งมันก็คือ “ความลับทางธุรกิจ” ซึ่งเรื่องบางเรื่อง บางองค์กรก็ไม่อยากให้ใครรู้ ยกเว้น เป็นการปลูกป่าเพื่อขายคาร์บอนเครดิต

สำหรั สิ่งที่ต้องระมัดระวังในการปลูกป่า คือ กลุ่มแมลง เช่น ตั๊กแตน หนอน เพลี้ย ซึ่งเมื่อเจอแล้ว จะไม่ถึงขั้นตาย แต่จะโตไม่เต็มที่ตามที่ตลาดต้องการ วิธีการแก้ไข คือ การใช้น้ำส้มควันไม้ฉีดพ่น 

โอกาส และการตลาด พันธุ์ไม้ป่าเศรษฐกิจ

อดีตหนุ่มการตลาด สังเกตว่า ตลาดในเมืองไทย เวลานี้ถือว่ายังดีอยู่ และคนก็มีกำลังซื้อ เช่น เวลานี้มีคนมาซื้อ ต้นไทรเกาหลี 500 ต้น โดยเขาไปประดับสนามกอล์ฟ สเกลงานเหล่านี้ เวลาจะซื้อ เขาก็ซื้อเยอะ เพียงแต่การปลูกต้นไม้ เราต้องกระจายความเสี่ยง เราต้องปลูกเหมือนป่า เพราะเราเองก็ไม่รู้ว่าพันธุ์ไม้ใดจะนิยมขึ้นมา เหมือนกับว่า เราซื้อหวย 

“หากปลูกแบบเชิงเดี่ยวแล้ว ตลาดเกิดตาย หรือไม่มีความนิยม เราจะเสียหายเยอะ เพราะการทุ่มตลาด คาดการณ์ว่าจะได้รับความนิยม ปรากฏว่าไม่นิยม มันจะกลายเป็นของล้นตลาด..” นายอรรถ กล่าวและว่า 

ที่ผ่านมา คนไทยตั้งแต่หลังโควิดที่ผ่านมา คนไทยมีความรู้ด้านเกษตรมากขึ้น เพราะเราจะเห็นว่า หลายคนก็เลือกกลับไปทำเกษตรตามวิถีของตนเอง เช่น คลองไส้ไก่ ปลูกผักกินเอง เราเห็นคนทำงานบริษัทจำนวนมากกลับมาทำเกษตร ส่วนหนึ่งมันก็เป็นเรื่องดี เพราะเป็นการสร้าง “ความมั่นคงด้านอาหาร” ในระยะยาว  

สำหรับผู้สนใจอยากทำเกษตรนั้น สิ่งที่แนะนำ คือ เราควรจับเกษตรที่ใกล้ตัว โดยที่เราไม่จำเป็นต้องลงทุนมาก เช่น ช่วงนี้เมล็ดยางนามันร่วง เราก็อาจเก็บเพาะพันธุ์ก่อนก็ได้... 

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านบทความที่น่าสนใจ