'Arm booster' นวัตกรรมกายภาพแขนฝีมือคนไทย แก้ปัญหาอุปกรณ์ราคาแพง ผลักดันการเข้าถึงเครื่องมือทางการแพทย์ หวังเสริมพลังใจและลดรายจ่าย ให้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง...
สกู๊ปวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมวันนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ชวนผู้อ่านทุกคนไปรู้จักกับเรื่องราวความเก่งของคนไทย ที่ร่วมใจกันพัฒนาเครื่องมือทางการแพทย์ เพื่อหวังแก้ปัญหาอุปกรณ์ราคาแพง และอยากให้คนไทยเข้าถึงการรักษาได้มากขึ้น
อุปกรณ์ที่เราพูดถึงมีชื่อว่า 'Arm booster' ถูกออกแบบและพัฒนาขึ้น เพื่อการทำกายภาพบำบัดแขนแบบ Bilateral สำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งผลงานนี้มีดีกรีที่ไม่ธรรมดา เพราะ เคยรับได้รางวัลชนะเลิศ Gold Medal จากงาน iCREATe 2022 ที่ฮ่องกง มาแล้วด้วย
...
นวัตกรรมนี้เป็น 1 ในซีรีส์วิจัยที่ทาง ผศ.ดร.บรรยงค์ รุ่งเรืองด้วยบุญ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางวิชาการ ด้านการออกแบบและพัฒนาต้นแบบทางวิศวกรรมอย่างสร้างสรรค์ หรือ CED-Square Innovation Center และอาจารย์ผู้ร่วมทีมวิจัย จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้สรรค์สร้างและพัฒนา
ที่บอกว่าเป็น ซีรีส์ เพราะงานวิจัยที่ CED-Square Innovation Center ทำขึ้น ไม่ได้มีแค่ Arm booster แต่ยังมีอุปกรณ์ทำกายภาพส่วนล่างมาก่อนแล้ว เช่น Space Walker นวัตกรรมช่วยเดินแบบพยุงน้ำหนักบางส่วน ที่เคยได้รับรางวัลระดับชาติ ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยฝึกเดินโดยที่ไม่ต้องกลัวล้ม เพิ่มความมั่นใจ เหมือนกับมีชีวิตใหม่ดีๆ อีกครั้ง
อย่ารอช้า… เชิญพบกับเรื่องราวแห่งการรังสรรค์ "นวัตกรรมไทย โดยคนไทย เพื่อคนไทย"
ทำไมต้องเลือกโรคหลอดเลือดสมอง :
หลังจากที่ ผศ.ดร.บรรยงค์ ได้รวมกลุ่มกับอาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ และอาจารย์จากสายวิทยาศาสตร์สุขภาพ เพื่อร่วมกันจัดตั้ง CED-Square Innovation Center จึงเริ่มพยายามมองหาว่าจะทำงานวิจัยอะไรที่สามารถนำไปสู่การแก้ปัญหาของประเทศไทยได้จริง
หัวหน้า CED-Square กล่าวว่า ทางทีมคิดว่าควรเล็งเป้าหมายไปที่เรื่อง สุขภาพ จึงเริ่มศึกษาว่าจะเป็นสุขภาพด้านไหนหรือช่วยอย่างไรดี การค้นคว้าครั้งนั้นทำให้พบว่า โรคหลอดเลือดสมอง เป็นปัญหาสุขภาพที่มีผลกระทบต่อประชาชนในประเทศสูงมาก
"ในแต่ละปีมีคนเป็นโรคหลอดเลือดสมอง เช่น เส้นเลือดตีบ เส้นเลือดแตก ซึ่งปีนึงมีคนไทยเป็นโรคนี้ประมาณ 3 แสนคน และทั้งหมดต่างล้วนต้องทำกายภาพ เพราะแม้ว่าจะไปหาหมอได้เร็ว ก็ยังมีอาการอัมพาตครึ่งซีกอยู่ดี"
จาก 2 ปัญหาหลัก สู่จุดเริ่มต้นพัฒนา Arm Booster :
แม้ว่าผู้ป่วยจากโรคดังกล่าวจะมีสูงมาก แต่ ผศ.ดร.บรรยงค์ และทีมวิจัยมองว่า อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ประเทศไทยมียังไม่ตอบโจทย์ต่อการรักษามากเท่าไร ซึ่งเหตุผลหลักๆ มีอยู่ 2 ข้อ ซึ่งเป็นปัญหาสืบเนื่องกัน ได้แก่ อุปกรณ์นำเข้าราคาสูง และความสม่ำเสมอของการกายภาพ
...
ผศ.ดร.บรรยงค์ ขยายความเรื่องนี้ให้เข้าใจว่า อุปกรณ์ส่วนใหญ่ที่ใช้ในการรักษาโรคหลอดเลือดสมอง ถือว่ามีราคาสูง เช่น หากนำเข้าจากประเทศแถบยุโรป ราคาจะอยู่ที่ประมาณ 15 ล้านบาท หรือบางประเทศอาจจะถูกลงมาเหลือ 10 ล้านบาท
ด้วยราคาที่สูงขนาดนั้น ทำให้อุปกรณ์การแพทย์นี้ ไม่สามารถกระจายสู่ชุมชนได้ แต่มักจะอยู่ตามโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ยกตัวอย่างหุ่นยนต์ฝึกเดินที่อาจจะมีอยู่แค่บางแห่ง เช่น สถาบันสิรินธร เพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ, โรงพยาบาลศิริราช, โรงพยาบาลรามาธิบดี หรือตามโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่
เมื่อทุกอย่างถูกกระจุกไว้ ปัญหาการเข้าไม่ถึงก็ตามมา ผศ.ดร.บรรยงค์ กล่าวว่า เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ไม่ต่อเนื่องและสม่ำเสมอ เพราะตามทฤษฎีการฝึกเดินต้องทำอย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ส่วนระยะเวลาที่ต้องกายภาพ ก็ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของแต่ละเคส อย่างต่ำประมาณ 3 เดือน บางรายอาจจะต้องทำถึง 1 ปี
...
กำลังใจที่หายไป จากปัญหาค่าใช้จ่ายที่สูง :
จาก 2 ปัญหาข้างต้น ก็ไปสู่เรื่องค่าใช้จ่าย ผศ.ดร.บรรยงค์ ให้ความเห็นว่า พอกลับมามองโลกแห่งความเป็นจริง การเดินทางบ่อยขนาดนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะค่าใช้จ่ายสูง ยิ่งอยู่ไกลก็ต้องจ่ายมากขึ้น พอเราเจอปัญหาแบบนี้ เรามาคุยกันแล้วพบว่า ปัญหานี้จะได้รับการแก้ไข ก็ต่อเมื่อเราพัฒนานวัตกรรมขึ้นมาสักอย่างหนึ่ง
"อีกอย่างคือปกติแล้วเวลาเป็นอัมพาตครึ่งซีก จะเหลือแขนข้างที่ดีอีกข้างหนึ่ง กลายเป็นว่าสุดท้ายผู้ป่วยก็ตัดใจ เพราะว่าอย่างน้อยก็สามารถใช้แขนข้างที่ดีได้ ยิ่งทำให้เปอร์เซ็นต์การฟื้นฟูของแขน น้อยกว่าการฝึกเดิน
เพราะการฝึกเดินเป็นกล้ามเนื้อมัดใหญ่ ซึ่งง่ายกว่าการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กอย่างแขนกับมือ นอกเหนือจากนั้นการฝึกเดินยังไงก็ต้องเดินทั้งสองข้าง เหมือนเป็นการบังคับไปในตัว ทำให้การฝึกแขนจะถูกถอดใจได้ง่ายกว่า แต่หากอุปกรณ์สามารถเข้าถึงได้ง่าย คนก็อาจจะมีกำลังใจฝึก"
จากปัญหาที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้ทีมวิจัยมีหลักการคิดค้นว่า ต้องใช้งานง่าย ดูแลรักษาง่าย แต่ในขณะเดียวกัน ประสิทธิภาพต้องอยู่ในระดับยอมรับได้
...
"ที่ต้องใช้งานง่าย และดูแลรักษาง่าย เพราะพอเราพูดถึง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงพยาบาลประจำอำเภอ หรืออื่นๆ บางที่อาจจะไม่มีนักกายภาพด้วยซ้ำ ทำให้คนที่ใช้งานจริงๆ อาจจะเป็นเจ้าหน้าที่ อสม. ส่วนนักกายภาพบำบัด หรือหมอฟื้นฟู อาจจะลงไปที่พื้นที่เพียงอาทิตย์ละครั้ง"
ใช้แรงที่มีแทนมอเตอร์ ทำให้ราคาอุปกรณ์ที่ใช้นั้นลดลง :
ผศ.ดร.บรรยงค์ บอกว่า ตอนที่เริ่มคิดไอเดียขึ้นมา แล้วไปศึกษาของที่มีอยู่ ทำให้พบว่าสิ่งที่ทำอุปกรณ์ซับซ้อนและมีราคาสูง คือ ระบบที่ใช้ Power Assist ซึ่งก็คือเครื่องได้ใช้มอเตอร์ 3-4 ตัว ในการควบคุมการเคลื่อนไหว คราวนี้ถ้าเราจะควบคุมแขนทั้งสองข้างอาจจะต้องใช้มอเตอร์ถึง 8 ตัว ความซับซ้อนเหล่านี้ จึงทำให้มันมีราคาแพง
ดังนั้น ทีมวิจัยจึงมองว่า แทนที่จะใช้มอเตอร์เป็นพาวเวอร์ในการขยับแขน ก็ใช้แขนข้างที่ดีที่ยังมีแรงปกติ ช่วยขยับแขนข้างที่ไม่ดี ซึ่งไอเดียนี้พบเห็นง่ายๆ ในการชักรอก ที่เขาเอาแขนข้างดี ชักรอกแขนข้างที่ไม่ดี แต่ปัญหาของแขนชักรอกนั้นอยู่ที่ว่า มันทำได้ทิศทางเดียวคือยกขึ้นกับยกลง ไม่สามารถกวาดไปข้างหน้าหรือข้างหลังได้ ทีมวิจัยจึงต้องออกแบบกลไกพิเศษ เพื่อช่วยให้สามารถเคลื่อนที่ได้หลายทิศทาง
"กลไลช่วยเคลื่อนที่หลายทิศทาง จะเป็นระบบชดเชยน้ำหนักแรงโน้มถ่วง คือ แทนที่น้ำหนักทั้งหมดนั้น คนที่ออกแรงยกจะต้องมาออกแรงยกโครงสร้าง เราก็ให้แรงสปริง เป็นตัวยกแรงโครงสร้างแทน เพราะโครงสร้างจะเบา หลักๆ แล้วเครื่องของเราจึงจะออกแรงแขนข้างดีเพื่อยกข้างไม่ดี ส่วนน้ำหนักของโครงสร้างอื่น จะถูกชดเชยด้วยการใช้ระบบสปริงเข้ามาช่วย"
ปัญหาจากแนวคิดการชักรอก และการใส่เซนเซอร์ช่วยเพื่อช่วยกระตุ้น :
ผศ.ดร.บรรยงค์ กล่าวว่า ปัญหาในระบบชักรอกคือ นักกายภาพบำบัดจะไม่สามารถรู้ได้เลยว่า ผู้ป่วยออกแรงข้างที่อ่อนแอเท่าไร เพราะว่าอาจจะไม่ออกแรงเลยก็ได้ เนื่องจากใช้แขนข้างที่ดีช่วยดึงขั้นดึงลงอย่างเดียว ซึ่งการทำแบบนั้นจะทำให้ประสิทธิภาพของการฟื้นฟูนั้นลดลง
"เราจึงใส่เซนเซอร์ Load Cell บริเวณมือจับทั้ง 2 ข้าง และส่งข้อมูลประมวลผลผ่าน DAQ ด้วย LabVIEW โปรแกรม เมื่อผลถูกประมวลเรียบร้อย จะแสดงผ่านหน้าจอขณะผู้ป่วยกำลังฝึก
ทำให้ผู้ฝึกหรือนักกายภาพบำบัดเห็นว่า ผู้ฝึกได้ออกแรงแขนด้านที่อ่อนแอไหม โดยเทียบกับแขนข้างที่ดี เช่น ถ้าพยายามออกแรงเท่ากับแขนข้างที่ดี ไฟเขียววัดแรงอาจจะขึ้นมาเต็มหลอดเลย แต่ถ้าออกแรงน้อย ไฟเขียวจะลดลงมา"
หัวหน้าศูนย์ CED-Square กล่าวต่อว่า ไฟนี้กลายเป็นตัวกระตุ้นในการเตือนให้ออกแรง เพื่อจะได้เสริมให้ร่างกายพัฒนา เพราะคนเราเวลาอยากหายจากโรคอยู่แล้ว แต่บางทีด้วยสภาพร่างกาย เขาก็อาจจะทำไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเห็นผลหรือไม่ จนทำให้ไม่มีกำลังใจ แต่ระบบทั้งหมดที่เราพูดมาจะช่วยให้เขาเห็นภาพชัดขึ้น
สิ่งที่ทำให้ Arm Booster ตอบโจทย์กว่าเครื่องที่มีอยู่เดิม :
ผศ.ดร.บรรยงค์ บอกว่า ถ้าเทียบกับการฝึกทั่วไปแล้ว การฝึกแบบนั้นจะเป็นมีท่าเดียวต่อหนึ่งเครื่อง กล่าวคือ หากฝึกยืดแขนไปข้างหน้าก็จะมีเครื่องนึง แต่หากจะฝึกยกแขนขึ้นข้างบนก็ต้องใช้อีกเครื่องนึง แต่ของเราเป็นการรวมการฝึกทุกท่าไว้ในเครื่องเดียวกัน ซึ่งจะไปช่วยลดราคาอุปกรณ์ลงด้วย
นอกจากนั้น เวลาฝึกทำกายภาพ มนุษย์ควรจะฝึกสองแขนไปพร้อมกัน เนื่องจากสมองมีภาพจำว่าคนเราใช้แขนทั้งสองข้างอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นจึงมีงานวิจัยออกมาอีก เพื่อสนับสนุนเทคนิคการฝึกกายภาพโดยใช้แขนคู่ เรียกว่า Bilateral technique
"โดยปกติเราจะเห็นการฝึกเฉพาะข้างที่อ่อนแรง ส่วนฝั่งที่ดีก็อยู่เฉยๆ แต่เทคนิคนี้จะฝึกทั้งด้านดีและอ่อนแรงไปพร้อมกัน มันจะช่วยฟื้นฟูภาพจำในสมองให้ดีขึ้น และช่วยบริหารกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัว เพราะว่าถ้าเราใช้แขนสองข้าง กล้ามเนื้อแกนกลางลำตัวจะถูกกระตุ้นให้ใช้งานด้วย ทำให้การทรงตัวดีขึ้น และการกำหนดตำแหน่งในการเอื้อมแขน ก็จะทำได้แม่นยำขึ้นเช่นเดียวกัน"
Arm Booster สามารถเคลื่อนไหวได้ 3 ระนาบการเคลื่อนไหว เคลื่อนที่ได้ใน 3 ทิศทาง (3 Degree of Freedom) คือ ยืดแขน (Y-Direction), ยกแขน (Z-Direction) และกางแขน (X-Direction)
การทดลองอุปกรณ์และเปรียบเทียบผล :
ผศ.ดร.บรรยงค์ กล่าวว่า Arm Booster ได้ทำการทดสอบจากการใช้งานจริงแล้ว ซึ่งตอนทดสอบได้แบ่งผู้เข้าร่วมออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 9 คน เปรียบเทียบโดยการใช้เครื่อง กับการใช้นักกายภาพบำบัด
ที่ต้องใช้เครื่องเปรียบเทียบกับคนก็เพราะว่า ตามทฤษฎีแล้วการฝึกทั้ง 2 แบบ ควรได้ผลดีในระดับใกล้เคียงกันเพราะ "อุปกรณ์ไม่ได้มีขึ้นเพื่อแทนที่นักกายภาพ แต่ถูกออกแบบมาเพื่อลดภาระนักกายภาพ"
หลากจากทำกายภาพและเก็บข้อมูลผ่านไป 8 สัปดาห์ ผลของทั้ง 2 กลุ่ม ออกมาใกล้เคียงกัน แต่กลุ่มที่ใช้อุปกรณ์จะเห็นผลเร็วกว่า โดยประมาณสัปดาห์ที่ 4 ก็จะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลง นี่จึงแสดงให้เห็นว่าภาระงานของนักกายภาพบำบัดจะลดลงอย่างชัดเจน
"ถ้าวันนึงนักกายภาพลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง อาจจะได้ประมาณ 4-5 เคส แต่หากใช้อุปกรณ์นี้อาจจะได้ถึง 10 เคสต่อวัน ทางด้านผู้เข้ารับบริการก็ไม่ต้องรอนาน ลองนึกภาพว่าถ้าต้องเดินทางไกล แล้วยังต้องเข้าคิวนานเพื่อรอการฝึก ใจก็จะห่อเหี่ยว ท้อ ซึ่งอาจจะทำให้ประสิทธิภาพร่างกายลดลงอีก"
การกระจายสู่ชุมชน และการประเมินราคาเบื้องต้น :
เมื่อการทดสอบเรียบร้อยแล้ว CED-Square Innovation Center ก็พัฒนาพัฒนาปรับปรุงให้เครื่องเหมาะกับการกระจายไปทดลองใช้งาน ผศ.ดร.บรรยงค์ ระบุว่าตอนนี้ส่งให้ทดลองใช้แล้วสองแห่ง ได้แก่ ศูนย์การแพทย์และฟื้นฟูบึงยี่โถ จ.ปทุมธานี และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองสีดา จ.สระบุรี
และเป็นเรื่องที่น่ายินดีอีกครั้ง เมื่อล่าสุด CED-Square ได้รับการสนับสนุนทุนจัดสร้าง Arm Booster อีกหนึ่งเครื่องจากองค์การเภสัชกรรม (อภ.) โดยเครื่องนี้จะถูกส่งมอบให้กับ ศูนย์พัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุเทศบาลเมืองแสนสุข จ.ชลบุรี
"ช่วงนี้ถ้ามีสถานที่หรือศูนย์ไหนพอจะมีงบประมาณสนับสนุน และอยากติดต่อเพื่อนำไปใช้ สามารถติดต่อเข้ามาได้ครับ เพราะตัวงานพร้อมใช้แล้ว เพราะทั้งสามตัวที่ได้กล่าวมา ก็ได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยงานภายนอก เช่น เครื่องที่ส่งไปศูนย์การแพทย์และฟื้นฟูบึงยี่โถ ก็เป็นทุนวิจัยชุมชนจากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์"
หัวหน้าศูนย์ CED-Square บอกว่า ตอนนี้ Arm Booster กำลังเข้าสู่การทดสอบมาตรฐานเครื่องมือแพทย์ ซึ่งผ่านไปหลายขั้นตอนแล้ว หากผ่านทั้งหมดเรียบร้อยจะสามารถใช้งานเชิงพาณิชย์ได้ต่อไป
ทีมข่าวฯ สอบถามว่า ราคาเครื่องนี้จะอยู่ที่ประมาณกี่บาท?
ผศ.ดร.บรรยงค์ ตอบว่า โดยเบื้องต้นสิทธิบัตรนี้เป็นของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักศึกษาที่ทำวิจัยมีแผนที่จะทำเป็นสตาร์ทอัพ (Strat-Up) โดยการเจรจาขอซื้อเพื่อใช้องค์ความรู้ต่อยอดในการพัฒนาเชิงพาณิชย์ ราคา Arm Booster ที่ถูกประเมินไว้เบื้องต้นจะอยู่ที่ประมาณ 3-4 แสนบาท
"ต้นทุนของเครื่องก็ต้องได้มาตรฐานเครื่องมือแพทย์ เพราะเวลาเราจะใช้จริง มันก็จะมีมาตรฐานนี้คอยกำกับ อย่างไรก็ตามถือว่าราคาถูกลงเยอะมาก หากเทียบกับเครื่องกายภาพทั่วไป"
นวัตกรรม Arm Booster ผลิตทรัพยากรมนุษย์คุณภาพ :
นวัตกรรมทางการแพทย์ของไทยครั้งนี้ ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ผลของความทุ่มเทไม่ได้ผลิตได้เพียง Arm Booster แต่หัวหน้า CED-Square มองว่าทุนนี้ได้ผลิตทรัพยากรบุคคลด้วย
"จากทุนนี้เราสามารถผลิตบัณฑิตได้สองคน คือ บัณฑิตระดับปริญญาเอกหนึ่งคน และระดับปริญญาโทหนึ่งคน ซึ่งปริญญาโทเป็นสาขาวิศวกรรมเครื่องกล ส่วนปริญญาเอกเป็นสาขาวิศวกรรมการแพทย์ นอกจากนั้น ยังมีนิสิตปริญญาตรีคนอื่นๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องและเรียนรู้ประสบการณ์ตรงนี้อีกด้วย
ถือได้ว่าเป็นความสำเร็จอีกอย่างหนึ่งของความตั้งใจก่อตั้ง CED-Square เพราะจากงานวิจัยจะเห็นว่าเป็นการผสมหลายแขนงวิชาเข้าด้วยกัน ซึ่งเป็นแนวทางที่เราพยายามส่งเสริมให้เกิดการวิจัยข้ามศาสตร์ เช่น บัณฑิตคนที่จบสาขาวิศวกรรมการแพทย์ เขาก็มีพื้นฐานจากการกายภาพบำบัด"
แผนพัฒนาในอนาคต :
ตลอดระยะเวลากว่า 5 ปี ที่ทีมวิจัยได้คิดค้นพัฒนา Arm Booster จนกระทั่งวันนี้ไปได้ไกลอย่างที่ทุกคนวาดฝันไว้แล้ว อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.บรรยงค์ บอกกับเราว่า พวกเขายังมีแผนพัฒนาเจ้าเครื่องนี้ให้ดีขึ้นกว่าเดิมอีก
โดยในอนาคตอาจจะมีการเพิ่ม 'ระบบเกม' เข้าไปในเครื่อง เพื่อทำให้ผู้เข้ารับกายภาพ รู้สึกว่านี่ไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อ เปลี่ยนความเซ็งให้กลายเป็นความสนุก ลบภาพจำเดิมๆ ที่ต้องฝึกแค่กับหน้าจอ
นอกจากนั้น อาจจะมีการเพิ่ม 'ระบบประมวลผล' ที่สามารถส่งผลออนไลน์ให้นักกายภาพบำบัดได้ถึงที่ทำงาน แทนการต้องเดินทางเข้ามาดูที่เครื่องเพียงอย่างเดียว ซึ่งจะทำให้นักกายภาพบำบัดช่วยวิเคราะห์ผลได้ง่ายขึ้น ลดเวลาการเดินทาง เพิ่มความสะดวกในการทำงานอีกด้วย
นอกจากนั้นอาจจะมีระบบการประมวลผลที่สามารถส่งผลออนไลน์ ไปให้กายภาพบำบัด ที่โรงพยาบาลประจำอำเภอ หรือโรงพยาบาลศูนย์ แทนการที่จะต้องมาดูที่เครื่องอย่างเดียว อาจจะเป็นการส่งข้อมูลออนไลน์
พัฒนาวิจัยไทย เพื่อลดความเสี่ยง :
เมื่อถามว่า ในอนาคตอยากเห็นภาพงานวิจัยและนวัตกรรมของไทยเป็นอย่างไรบ้าง?
ผศ.ดร.บรรยงค์ แสดงทรรศนะว่า ส่วนแรกขอพูดถึงเรื่องการพัฒนางานวิจัย เราอยากให้ผู้วิจัยเริ่มโฟกัสสิ่งที่เป็นปัญหาของประเทศก่อน ส่วนตัวจะแนะนำตลอดว่า การทำงานงานวิจัยมีอยู่สองทาง อย่างแรกคือสิ่งที่เราอยากทำ อย่างที่สองเป็นสิ่งที่เราควรทำ ซึ่งก็คืองานวิจัยที่เป็นปัญหาของบ้านเรา ลองดูว่าอะไรคือสิ่งที่ทำแล้วสามารถตอบโจทย์ปัญหาของบ้านเราได้
"ด้วยหลักการแล้ว ถึงแม้ว่าจะเป็นปัญหาเดียวกัน แต่เมื่อเงื่อนไขสภาพแวดล้อมต่างกัน เช่น ปัญหาเรื่องหนึ่งในประเทศไทยกับในยุโรป ก็จะมีทางออกที่ต่างกัน ไม่ควรเอาทางออกของเขามาแก้ปัญหาบ้านเรา แม้อาจจะทำได้แต่คงไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ฉะนั้นโดยหลักการเราต้องทำงานวิจัยแก้ปัญหาของเราเองด้วย"
หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศฯ แสดงความคิดเห็นต่อว่า ส่วนที่สองในเรื่องของการแพทย์ ผมมองว่าถ้าเมื่อไรที่เราสามารถพัฒนานวัตกรรม หรือเทคโนโลยีได้เอง จะเป็นการความเสี่ยงของประเทศ
"ตัวอย่างที่ชัดเจนคือเรื่องวัคซีนโควิด เมื่อเราไม่มีนวัตกรรมของตัวเอง ทำให้ต้องรอวัคซีนจากประเทศที่เขามี ซึ่งมันคือความเสี่ยง กว่าจะได้ของแต่ละครั้ง เราอยู่คิวที่เท่าไรก็ไม่รู้"
อย่างไรก็ดีผมมีความเชื่อว่า ผู้บริหารประเทศหรือคนที่เกี่ยวข้อง คงเริ่มเห็นปัญหาเรื่องนี้แล้ว เพราะแต่ก่อนอาจจะไม่เห็นภาพว่าเสี่ยงอย่างไร ในเมื่อเรามีเงินซื้อและนำเข้าได้ แต่พอมีปัญหาเกิดขึ้นจริง เช่น วัคซีนโควิด มันแสดงให้เห็นแล้วว่า "บางทีมีเงินอย่างเดียวก็อาจจะซื้อไม่ได้"
"สองส่วนที่ผมกล่าวมา แค่อยากบอกว่าเราต้องกลับมามองตัวเอง การพัฒนาเทคโนโลยีหรือนวัตกรรม ไม่ว่าในระดับใดก็เป็นสิ่งที่ดีทั้งนั้น ไม่อยากให้เรายืมจมูกคนอื่นหายใจไปตลอด ต้องลงทุนกับอนาคต ก่อนที่มันจะกลายเป็นความเสี่ยง" ผศ.ดร.บรรยงค์ รุ่งเรืองด้วยบุญ กล่าวส่งท้ายก่อนบทสนทนานี้จะจบลง
ทีมข่าวฯ ต้องขอแสดงความยินดีอีกครั้ง เพราะเมื่อวันศุกร์ ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 ทีมวิจัยเพิ่งได้รับ รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปีงบประมาณ 2567 ระดับดีมาก จาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
อ่านบทความที่น่าสนใจ :