“....ชาวนาไทยมีภาวะหนี้สินทำให้ต้องขายที่นาทำกินรวมถึงประสบปัญหาด้านผลผลิตข้าวเฉลี่ยต่อไร่ต่ำ เมื่อเทียบกับผลผลิตเฉลี่ยของประเทศเพื่อนบ้าน จึงมีความประสงค์ที่จะพัฒนาเพื่อเพิ่มผลผลิตข้าวทุกรูปแบบ
ซึ่งจุดสำคัญที่สุดอยู่ที่การพัฒนาพันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตสูง เพื่อชาวนาได้ใช้พันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตต่อพื้นที่สูงขึ้น สามารถดำรงอาชีพชาวนาได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน”
ข้างต้นนี้คือคำกล่าวของ โกมล จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท รวมใจพัฒนาความรู้ จำกัด ภายใต้มูลนิธิรวมใจพัฒนาพุ่งเป้า... “ระดมความรู้ แก้ปัญหาชาวนา” อย่างบูรณาการทุกมิติ
มุ่งเน้นงานปรับปรุงพันธุ์ข้าวผลผลิตสูง ตอบโจทย์ความต้องการของเกษตรกรชาวนาไทย มีนโยบายพร้อมทุนสนับสนุนทีมงานนักวิจัยดำเนินโครงการปรับปรุงพันธุ์ข้าวแบบครบวงจร ตั้งแต่การสร้างคู่ผสม คัดเลือกสายพันธุ์ ทดสอบพันธุ์ ตลอดจนผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี
เพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืนในอาชีพชาวนาไทยและวงการข้าวทั้งประเทศ
โครงการที่ว่านี้เดินหน้าเข้าสู่ปีที่ 7 แล้ว ยืนยันความสำเร็จได้จาก “พันธุ์ข้าว” ที่ได้ขึ้นทะเบียนพันธุ์ตาม พ.ร.บ.พันธุ์พืช พ.ศ.2518 กับกรมวิชาการเกษตร จำนวน 4 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์อาร์เจ 11 (RJ 11) ข้าวขาวพื้นแข็ง, พันธุ์อาร์เจ 22 (RJ 22) ข้าวขาวพื้นนุ่ม, พันธุ์อาร์เจ 44 (RJ 44) ข้าวขาวพื้นนุ่ม
และ...พันธุ์อาร์เจ 66 (RJ 66) ข้าวขาวพื้นนุ่ม
ประเด็นสำคัญมีว่า ข้าวพันธุ์อาร์เจ 22 (RJ 22) เป็นข้าวขาวพื้นนุ่มที่มีศักยภาพให้ผลผลิตในเขตพื้นที่นาชลประทานภาคกลางและภาคเหนือตอนล่างสูงสุดที่ 1,260 กก.ต่อไร่ และปัจจุบันเป็นข้าวพันธุ์ส่งเสริมตลาดข้าวนุ่มเพื่อการส่งออกคุณภาพดี
ถัดมา...ข้าวพันธุ์อาร์เจ 44 (RJ 44) ข้าวขาวพื้นนุ่ม ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดข้าวพันธุ์ใหม่เพื่อการพาณิชย์ ครั้งที่ 1/64 โดยกระทรวงพาณิชย์และสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
น่าสนใจว่า ข้าวพันธุ์นี้มีศักยภาพให้ผลผลิตสูงสุดในเขตพื้นที่นาชลประทานภาคกลางและภาคเหนือตอนล่างอยู่ที่ 1,300 กก.ต่อไร่ ซึ่งข้าวสารมีสีขาวใส อ่อนนุ่มเมื่อหุงสุก
ข่าววงในแจ้งว่า ในเร็ววันนี้ประมาณเดือนเมษายน 2567 จะประกาศขึ้นทะเบียน ในตัวข้าวพันธุ์ “อาร์เจ 33 (RJ33)” ข้าวพื้นแข็งผลผลิตสูง ที่มีศักยภาพจากการทดสอบเสถียรภาพการให้ผลผลิตในเขตนาชลประทานภาคกลางสูงถึง 1,310 กก.ต่อไร่ อายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 95 วัน ต้นแข็งไม่หักล้ม
ที่สำคัญ...ต้านทานโรคแมลง การันตีด้วยรางวัลชนะเลิศการประกวดข้าวพันธุ์ใหม่เพื่อการพาณิชย์ครั้งที่ 2/65 จากกระทรวงพาณิชย์และสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
อย่างไรก็ตาม การวิจัย...พัฒนาปรับปรุงพันธุ์ข้าวยังคงต้องเดินหน้าต่อไปเพื่อตอบโจทย์เกษตรกรชาวนา รวมถึงตอบสนองและต้านทานต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่แปรปรวน แน่นอนว่า “เมืองไทยยังเป็นประเทศอู่ข้าวอู่น้ำ” สายพันธุ์ข้าวที่ดีและเหมาะสม ย่อมมีส่วนสำคัญต่อการผลิตข้าวที่มีความยั่งยืน
ในปี 2567 คาดการณ์กันว่า...ปริมาณการส่งออก “ข้าว” จะอยู่ที่ 8.6 ล้านตัน ใกล้เคียงกับในปี 2566 ซึ่งอยู่ที่ราว 8.5 ล้านตัน จากอุปทานข้าวในตลาดโลกที่ยังตึงตัวจากปัจจัยเอลนีโญที่คาดว่าจะลากยาวไปจนถึงกลางปี 2567 ทำให้ประเทศคู่ค้าสำคัญยังคงมีการสะสมสต๊อกข้าว
แต่คาดว่านโยบายจำกัดการส่งออกข้าวของอินเดียที่ผ่อนคลายลง หลังจากสภาพอากาศในอินเดียที่เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 จะทำให้อานิสงส์จากการที่ผู้นำเข้าข้าวหันมานำเข้าข้าวไทยทดแทนอินเดียทยอยหมดลง
ส่วนราคาส่งออกข้าวขาว 5% ในปี 2567 เวิลด์แบงค์ (World Bank) ประเมินไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 6% เมื่อเทียบเป็นรายปีจากสต๊อกข้าวโลกที่ยังมีแนวโน้มลดลงและปัญหาความมั่นคงทางอาหาร
อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามผลกระทบจาก “ค่าเงินบาท” ที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ซึ่งอาจทำให้ราคาส่งออกขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้
น่าสนใจว่าท่ามกลางการแข่งขันนี้และภาวะปัจจัยเสี่ยงทางธรรมชาติเช่นนี้ หากต้นทุนการผลิตข้าวยังสูง ทั้งยังปลูกพันธุ์ข้าวที่ไม่ตอบโจทย์...ก็อาจไปไม่ถึงฝั่งฝันได้
ข้อมูลวิเคราะห์อนาคตข้าวไทย “Krungthai COMPASS” ระบุว่า ในระยะถัดไปธุรกิจข้าวไทยจะยังเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างจากสายพันธุ์ข้าวที่เริ่มไม่เป็นที่ต้องการของตลาด รวมทั้งต้นทุนการผลิตข้าวที่สูงกว่าคู่แข่ง ทำให้แข่งขันด้านราคาลำบาก และปัญหาอากาศเปลี่ยนแปลงที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น
ธุรกิจ “ข้าวไทย” ควรมุ่งพัฒนาการผลิตข้าวยั่งยืนและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อตอบโจทย์
“ข้าว” เป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศ ที่ผ่านมา...กระทรวงเกษตรฯเดินหน้าขับเคลื่อนพัฒนาข้าวไทยให้มีความก้าวหน้า ใช้หลัก “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” เน้นการพัฒนาตลาดทั้งในและต่างประเทศ การแปรรูป...การนำนวัตกรรมมาใช้ให้เกิดประโยชน์
นับรวมไปถึงผลิต “พันธุ์ข้าว” ที่มีความหลากหลายสนองความต้องการของตลาดโลก เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของข้าวไทยให้มากขึ้นอีกด้วย หน่วยงานที่เกี่ยวและภาคเอกชนมีการวิจัยพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์ข้าว พยายามร่วมกันคิดโดยใช้องค์ความรู้ที่มีนำมาศึกษาทดลองเพื่อพัฒนาสิ่งใหม่ๆ
อีกทั้งยุทธศาสตร์ข้าวไทยปี 63-67 กระทรวงพาณิชย์ก็มีวิสัยทัศน์ “ตลาดนำการผลิต” คือประเทศไทยจะต้องเดินหน้าไปสู่การเป็นผู้นำ ด้านการผลิต...การตลาดข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวคุณภาพของโลก
มุ่งแก้ปัญหา 2 ข้อ คือ...ปัญหาการแข่งขันราคา กับความหลากหลายของพันธุ์ข้าวมีน้อยเริ่มสู้ไม่ได้ ยุทธศาสตร์ข้าวไทยจึงเกิดขึ้น เพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น
เพื่อให้ “ต้นทุน” ต่ำลง ให้สามารถแข่งราคากับคู่แข่งในตลาดโลกได้
ปัจจุบันปัญหาที่ทำให้ “ชาวนา” ที่เป็นกระดูกสันหลังของไทยยังไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้คือ ผลผลิตที่ได้เพียงไร่ละ 400 กิโลกรัมเท่านั้น สวนทางกับต้นทุนการผลิตที่พุ่งสูงขึ้นทุกปี ทั้งค่าปุ๋ย ค่าแรง ค่าไถ ฯลฯ
ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ รมว.พาณิชย์ กล่าวไว้ว่า หากเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนาม ซึ่งสามารถพัฒนาพันธุ์ข้าวจนเพิ่มผลผลิตต่อไร่ได้ถึง 700-800 กิโลกรัม มีคุณภาพข้าวเทียบเท่ากับของไทย ทั้งๆที่ไทยปลูกข้าวมาตั้งแต่บรรพบุรุษ
“ข้าวไทยได้รับความนิยมมานาน เป็นข้าวที่เม็ดเรียงสวยงาม นุ่ม หอม เมื่อหุงข้าวจะมีกลิ่นหอมแม้ว่าข้าวอื่นจะมีกลิ่นหอมแต่ก็น้อยกว่าข้าวไทย ดังนั้นเพื่อรักษาความเป็นเบอร์ 1 ของข้าวไทย จึงต้องกลับมาดูเรื่องคุณภาพข้าว เพื่อให้มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำและคงคุณภาพเพื่อที่จะสู้กับตลาดได้”
ปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขคือ “การพัฒนาพันธุ์ข้าว” ซึ่งถือเป็นเรื่องเร่งด่วน เพื่อให้แข่งขันได้ในตลาดโลก...ในโลกนี้มีวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา หากเรายังชื่นชมความดีของเราแล้วยังนั่งอยู่ที่เดิม ในอนาคตก็จะไม่ทันเกม.