จากช่างยนต์ สู่ ปราชญ์เกษตร นราธิวาส ต้นแบบปลูกเกษตรอินทรีย์ อย่างยั่งยืน พร้อมคำแนะนำปลูกพืช 5 ระดับ ปลูกลองกอง มังคุด ระดับพรีเมียม ขายราคาสูงกว่าตลาด 5 เท่า...

การจะทำอะไรให้สำเร็จสักอย่างนั้น จำเป็นต้องอาศัย องค์ความรู้ ความอดทน และความพากเพียร นี่คือศาสตร์พระราชา ที่นายเมธี บุญรักษ์ ชาวบ้านซรายอ หมู่ที่ 1 ตำบลปาเสมัส อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส และถูกยกย่องให้เป็น ปราชญ์เกษตรเศรษฐกิจพอเพียง 2566 

เรียนช่างยนต์ ทำงานต่างแดน แต่โหยหาความอบอุ่น 

นายเมธี เล่าให้ฟังว่า ได้เรียนจบสาขาช่างยนต์ และมีโอกาสได้ไปทำงานที่ประเทศมาเลเซีย ราว 5 ปี ถือว่ารายได้ดีเลย แต่สิ่งที่ขาด คือ ความใกล้ชิดกับครอบครัวมันหายไป คิดมาตลอดว่า อยากจะหาอาชีพอะไรก็ได้มาทดแทน 

“การที่เราทำงานช่างเครื่องกลหนัก จะหางานในพื้นที่ นราธิวาส น่าจะยาก หากจะทำให้ตรงสายงานจริงๆ อาจต้องทำที่กรุงเทพฯ ท่าเรือน้ำลึก หรือนิคมอุตสาหกรรม ก็ถือว่าไกลบ้านอีก ฉะนั้น สิ่งที่ทำได้อย่างเดียว ตอนอยู่มาเลเซีย คือ การส่งเงินกลับ นี่คือ สิ่งที่ติดอยู่ในใจที่อยากกลับมาทำงานในบ้านเกิด”

...

ลุงเมธี เล่าย้อนความหลังว่า สิ่งที่นึกขึ้นได้ คือ ที่บ้านมีที่ดินมรดก อยู่ประมาณ 10 ไร่ บางส่วนก็ปล่อยทิ้งร้างเอาไว้ ฉะนั้น ก็เลยพยายามหาข้อมูล ก็พบว่า “ลองกอง” กำลังขายได้ราคาดี ก็เลยตัดสินใจเลือกที่จะทำการเกษตรดีกว่า....

เริ่มต้น ปลูก “ลองกอง” ผลผลิตเสียหาย 

ปราชญ์เกษตรฯ ยอมรับว่า ตอนที่ทำตอนนั้น คือ ไม่มีความรู้อะไรเลย และด้วยที่ทำงานควบคู่กับงานช่าง 

“อยากปลูกลองกอง มังคุด ก็ซื้อหนังสือลองกอง มังคุด มาอ่าน ซึ่งถามว่าเขาแนะนำวิธีได้ดีไหม คำตอบก็คือดี แต่วิธีการต่างๆ ที่บอก นั้น ต้องดูแลแบบใกล้ชิด แต่เรา..ไม่ได้ดูใกล้ชิด สุดท้ายผลผลิตเสียหมด เป็นโรคพืช โครงสร้างของดินไม่ดี เพราะก่อนหน้านี้เคยปลูกสับปะรด โดยใช้สารเคมีมาก ทำให้ดินจืด เราไม่มีความรู้ก็ปลูกต่อเลย ส่งผลให้ไม่เจริญเติบโต” 

นายเมธี ยอมรับว่า ตอนที่ทดลองทำเวลานั้น ใช้พื้นที่ทดลอง 2-3 ไร่ กอปรกับยังทำงานบริษัทไปด้วย ทำให้ทุกอย่างล้มเหลว เพราะขาดองค์ความรู้ มาเจอน้ำท่วม พื้นดินเป็นดินทราย แต่ก็ทำไปเรื่อยๆ ปลูกผลไม้บ้าง สวนยางบ้าง 

จากความล้มเหลวในช่วงแรก ทำให้นายเมธี กลับมาคิดว่า ทำไมบนป่าเขา ไม่มีใครใส่ปุ๋ย พรวนดิน ทำไมป่าไม้ ผลไม้ถึงโตได้...

“เราทดลองแล้วล้มเหลว มา 3-4 ปี จากนั้นก็เริ่มจะดีขึ้นในช่วง ปี 2535 โดยการทดลองต่างๆ และเรียนรู้ด้วยตัวเอง โดยที่ยังไม่ทราบองค์ความรู้ “ศาสตร์พระราชา” เพราะช่วงสมัยนั้น ยังไม่ค่อยมีคนรู้เรื่องนี้ ซึ่งศาสตร์ดังกล่าว จะเริ่มแพร่หลายในช่วงปี 40 สมัยวิกฤติต้มยำกุ้ง” 

เริ่มปลูกมังคุด ควบคู่กับต้นกล้วย พบผลสำเร็จ 99% 

นายเมธี เผยว่า หลังจากลองผิดลองถูก ก็เริ่มได้วิชาการเกษตรมาบ้าง จากนั้น จึงเริ่มปลูกมังคุด โดยมีต้นกล้วย ปลูกใกล้กันประมาณ 1.5 เมตรเพื่อแซม 

“ตอนที่ทำเวลานั้น ยังไม่รู้มาก่อนเลยว่า ในหลวง ร.9 ทรงเรียกวิธีการนี้ว่า 'ป่าเปียก' หลังจากปลูก 2 ปี พบว่า ปลูก 100 ต้น มีต้นตายเพียง 1 ต้น โดยต้นที่ตาย มีสาเหตุ คือ รากขาว เพราะติดมาจากต้นยางข้างๆ สวน การปลูกของเรา เรียกว่าไม่ได้ดูแลอะไรมาก จึงคิดว่าวิธีนี้เป็นวิธีที่ถูกต้อง ปลูกแบบนี้ได้ 5 ปี ก็พบว่า ต้นกล้วยเริ่มเบียดมังคุด ดังนั้นจึงต้องหาอะไรมาแซมเพิ่ม” 

...

ลุงเมธี เริ่มการทดลองใหม่ ด้วยการปลูกป่า จากนั้นก็เอา “ลองกอง” แซมเข้าไปในกรอบสี่เหลี่ยมของต้นมังคุด โดยการทดลองปลูกป่านั้น ไม่มีความมั่นใจ เพราะกลัวป่า จะบังแสงแดด 

“ตอนปลูกป่า ผมปลูกแบบแอบๆ เพราะไม่อยากให้คนรู้ เพราะหากทำไม่สำเร็จ จะได้อาย (หัวเราะ) เพราะเมื่อก่อนไม่มีใครทำแบบนี้ ขณะที่ป่าเราปลูกทีหลัง กว่าจะแซงมังคุด ลองกอง ก็น่าจะใช้เวลาเกือบ 10 ปี หากเราปลูกป่า กับไม้ผลอย่างมังคุด ลองกอง พร้อมกัน ป่าจะโตเร็วกว่า และมันจะแซง ทำให้เราไม่ได้ไม้ผล” 

แก้ปัญหาดินจืด ด้วยวิธีการธรรมชาติ 

ปราชญ์เกษตรนราธิวาส ยอมรับว่า หลังจากทดลองจนได้ผล จึงลาออกจากงานในช่วงปี 2546 กลับบ้านมาทำเกษตรจริงจัง ป่าที่เริ่มปลูกไว้เริ่มโต มังคุด ลองกอง ก็ออกผล และเริ่มกลับมาแก้ปัญหาที่เคยเจอในอดีต โดยเฉพาะ “ลองกอง” ซึ่งทีแรก คือ “ปล่อยทิ้ง” ด้วยวิธีการปลูกป่าเพิ่ม และเมื่อพอมีเวลา จึงหาข้อมูล ได้ไปเจอรายการทีวีที่มีการถ่ายทอดโครงการพระราชดำริ ที่เกี่ยวกับการปลูกหญ้าแฝก ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ทำให้เรามีความรู้ด้านเกษตรมากขึ้น ก็พบว่า สิ่งที่ทดลองทำนั้นมาถูกทางแล้ว 

...

“พระเจ้าอยู่หัว ทรงสอนว่า ปัจจัยสำคัญในการทำการเกษตรแบบธรรมชาติ มี 3 อย่าง คือ ดิน น้ำ และป่า เมื่อได้รู้แบบนี้ก็เดินหน้าลุยเลย!” 

ลุงเมธี เริ่มใช้หญ้าแฝก เพื่อแก้ปัญหาดินเสื่อมโทรม เราปลูกรอบโคนต้นลองกอง ปลูกป่าเพิ่ม ซึ่งปลูกป่า จะโตช้า เราใช้ให้หญ้าแฝก โดยเราปลูกแค่ 3-4 เดือน ก็เริ่มเห็นผลแล้ว เมื่อใช้หญ้าแฝก สภาพลองกอง เริ่มดีขึ้น 

จากนั้นเมื่อป่าเริ่มโตได้ 4-5 ปี ป่าสูง หญ้าแฝกเริ่มตาย กลายเป็นปุ๋ย ป่า ก็ทำหน้าที่อนุรักษ์ดินและน้ำต่อ 

หญ้าแฝกกลายเป็นปุ๋ย 2-3 ตัน โดยที่ไม่ต้องทำอะไร และทุกวันนี้แทบไม่ต้องใส่ปุ๋ยเลย มีเศษใบไม้ กลายเป็นปุ๋ยธรรมชาติใส่ให้ทุกวัน กลายเป็นปุ๋ยหมักธรรมชาติ 

วิธีการคัดสรรในการเลือกปลูกตามความเหมาะสม 

นอกจากวิธีการแก้ปัญหาดินจืดแล้ว ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ยังเผยเคล็ดลับการคัดเลือกพืชมาใช้ คือ ต้องดูตามความเหมาะสม โดยในหลวง ร.9 ท่านทรงแนะนำว่า การนำพืชต่างถิ่นมาปลูก ต้องศึกษานิสัยของพืชนั้นๆ ก่อน ซึ่งมันก็ตรงกับทฤษฎีสมัยใหม่ คือ ปลูกตามความเข้มของแสง 

...

“ลองกอง บ้านซีโป มีต้นกำเนิดที่ 'ตันหยงมัส' ซึ่งส่วนมากจะมีแต่เขากับป่า แต่เรานำมาดัดแปลงปลูกในเมือง (เมืองนราธิวาส) ฉะนั้น สิ่งที่ต้องทำ คือ เราต้องเลียนแบบตามธรรมชาติตามถิ่นที่อยู่ 

สิ่งที่จะทำต่อ คือ การต่อยอด เพราะในหลวง ท่านย้ำเสมอว่าต้องประยุกต์ใช้ จากนั้นก็นำ “ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” มาใช้เพิ่ม โดยการปลูกป่า 5 ระดับ ซึ่งส่วนมากจะเป็นการปลูกไล่ระดับ แต่สำหรับตน นำมาดัดแปลงใหม่ ปลูกในพื้นที่เดียวกัน โดยไล่ระดับ คือ 

สูง : พะยูง พะยอม มะค่า (แสงมาก) 

กลาง :  ลองกอง (แสงปานกลาง) 

เตี้ย :  สละอินโด (แสงน้อย-ปานกลาง) 

เรี่ยดิน : พริกไทย พันธุ์ซาราวัก เป็นพันธุ์ป่า เพราะชอบร่มเงา (อย่าใช้พันธุ์ซีลอน เพราะบอบบาง) 

ในดิน : กระชาย 

เท่านี้ก็ครบ 5 ระดับแล้ว นี่เป็นเพียงจุดเดียวนั้น...

ส่วนเกษตรยั่งยืน ก็แบ่งเป็น 5 อย่าง ประกอบด้วย เกษตรธรรมชาติ, วนเกษตร, เกษตรผสมผสาน, เกษตรทฤษฎีใหม่ และเกษตรอินทรีย์ 

“เกษตรทั้ง 5 นี้มาจากกรมวิชาการเกษตร แต่ที่ผ่านมา มีการสนับสนุน 2 อย่าง คือ เกษตรผสมผสาน กับเกษตรทฤษฎีใหม่ แต่ในส่วนของผมมีครบทั้ง 5 เกษตรเลย” 

ปราชญ์เกษตร สุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ยอมรับว่า บางเรื่องไม่ใช่เรื่องยากเลย แต่เหมือนมันมีอะไรบดบังความรู้ เช่นเรื่อง “หญ้าแฝก” เมื่อก่อนไม่รู้ แต่พอรู้และเอามาใช้กลายเป็นเรื่องง่าย และความรู้เหล่านี้ได้นำมาแก้ไข ส่วนที่เราไม่รู้ในสมัยก่อน ในขณะที่การปลูกป่า ก็ไม่ยาก แต่เราก็รู้สึกกลัวที่จะปลูก เพราะกลัวมันจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะเวลาพูดมา ฟังดูแล้วเหมือนเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ อย่างเช่น “หญ้าแฝก” แค่พูดถึงชาวบ้านก็ส่ายหน้าแล้ว นึกว่าพูดถึง “วัชพืช”  แต่เมื่อเราอธิบายและเห็นของจริง จะเชื่อ เพราะการสอนที่ดีที่สุด คือการทำให้ดู ซึ่งนี่คือสาเหตุที่พระองค์สร้างศูนย์เรียนรู้ทั่วไป 

3 ข้อแนะนำมือใหม่ 

แน่นอนว่า หากว่าใครอยากจะกลับมาทำเกษตร สิ่งที่ปราชญ์แนะนำ คือ 3 อย่างประกอบด้วย 1. ความเพียร 2. ขยันและอดทน 3. ความรู้ 

นายเมธี กล่าวว่า ถ้าเรามี “ความรู้” จะลดจำนวน “การลองผิดลองถูก” เพราะสมัยก่อน เราไม่มีความรู้ เราจึงต้องลองผิดลองถูก แต่เมื่อรู้แล้วทุกอย่างมันจะง่ายขึ้น “ความขยันและอดทน” และความเพียร เพราะการลงมือทำอะไร มันจะยังไม่เห็นผลใน 1-2 วัน เช่น ปลูกป่า มา 30 ปีถึงจะเห็นผลชัดเจน ซึ่งทั้งหมดนี้เราก็เรียนรู้มาจากในหลวง....

“เวลาผมสอนใคร ผมจะบอกอยู่เสมอว่า ผมให้ได้แค่ความรู้ ส่วนอีก 2 อย่างที่เหลือ คุณต้องเป็นเอง” (หัวเราะ) 

เกษตรอินทรีย์ ผลผลิตพรีเมียม รายได้ดี ตั้งราคาได้ 5 เท่า  

สำหรับผลผลิตของ ปราชญ์เกษตรเศรษฐกิจพอเพียงปี 2566 ทำนั้น เวลานี้มีคนมารับซื้อไม่ขาด ที่สำคัญ คือ สามารถตั้งราคาขายได้ด้วย ยกตัวอย่างผลผลิต “ลองกอง” ผ่านมาตรฐาน GI (Geographical Indication) หรือสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ และลองกอง อินทรีย์ หนึ่งเดียวในนราธิวาส ที่ได้รับรองประกาศออร์แกนิกไทยแลนด์ “มังคุด” อินทรีย์ ซึ่งทั้งสวนนี้ ได้ผ่านการรับรอง เกษตรอินทรีย์ ทั้งสวน 

มังคุด ช่วงนี้ราคาตกต่ำเหลือกิโลกรัมละไม่ถึง 10 บาท แต่ของผมขายได้ราคากิโลกรัมละ 50 บาท ขณะที่ลองกอง ขายมากกว่า 50 บาท/กิโลกรัม โดยการส่งเข้าบริษัทที่เขารับซื้อสินค้าอินทรีย์  

นี่คือตัวอย่าง ของการปลูกพืชแบบไร้สารพิษ ของปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สาขาเศรษฐกิจพอเพียง ถึงแม้จะเป็นเศรษฐกิจพอเพียง ก็สามารถทำเงินได้...

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านบทความที่น่าสนใจ